การเปิดธุรกิจที่พัก หรือโรงแรมยุคปัจจุบัน ถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ยิ่งในเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ การให้บริการที่พัก นับเป็นการสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรมใหญ่ หรือที่พักขนาดต่าง ๆ
มาทำความรู้จักกฎหมายโรงแรมสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการควบคุมดูแลธุรกิจเหล่านี้
กฎหมายเกี่ยวกับโรงแรม
พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 กำหนดความหมายของโรงแรมคือ สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นโดยมีค่าตอบแทน ซึ่งสาระสำคัญที่สุดคือการคิดค่าบริการต่ำกว่ารายเดือน ดังนั้นการให้บริการที่พักไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด หากมีการคิดค่าบริการต่ำกว่ารายเดือน ล้วนแต่อยู่ภายใต้พรบ. โรงแรมฉบับนี้ทั้งสิ้น และต้องได้รับการอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คือได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมจากนายทะเบียนโรงแรม ได้แก่อธิบดีกรมการปกครองหากโรงแรมตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวังต่างๆ ซึ่งหากฝ่าฝืนประกอบธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท (ม.59)
สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
กฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 หมวด 1 เป็นตัวช่วยสำหรับสถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 4 ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน โดยเปิดให้พักเพื่อเป็นรายได้เสริม ซึ่งผู้ประกอบการลักษณะนี้ที่มีรายได้หลักสามารถไปติดต่อนายทะเบียนแจ้งขอเป็น “สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม” สามารถประกอบกิจการได้โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท
ข้อ 1 นับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2564 ให้การประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งมีอาคารที่มีลักษณะตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2549 ได้รับยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนเคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (10) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 และมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้สิ้นสุดระยะเวลาการใช้บังคับเมื่อมีการประกาศใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในท้องที่นั้นที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่มีคำสั่งนี้
ข้อ 2 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมไม่ให้มีการประกอบธุรกิจโรงแรมผิดไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งมีอาคารที่มีลักษณะตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559 ซึ่งใช้อาคารในการประกอบธุรกิจโรงแรมอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับและอาคารนั้นมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามกฎหมายกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบถึงการฝ่าฝืนและดำเนินการปรับปรุงระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่อง ต่อพื้นที่ควรไม่เกิน200 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 30 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 2 เครื่อง ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
ที่มา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา