svasdssvasds

วันลอยกระทง วันแห่งการขอบคุณหรือทำลายสายน้ำกันแน่? Story of Green Ep.4

วันลอยกระทง วันแห่งการขอบคุณหรือทำลายสายน้ำกันแน่? Story of Green Ep.4

วันลอยกระทงนี้ สปริงนิวส์ชวนตระหนักรู้ถึงคุณค่าและผลกระทบของสายน้ำ เรามาดูกันว่าทุกวันนี้ สายน้ำที่หล่อเลี้ยงเรามาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง

ลอยกระทง ประเพณีอันเก่าแก่ของไทย เพื่อขอบคุณสายน้ำที่ได้มอบชีวิตให้แก่มนุษย์ แต่ทุกวันนี้เรายังขอบคุณสายน้ำกันอย่างจริงใจหรือเปล่า?

ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีดั้งเดิมของไทยมาแต่ช้านานเพื่อขอขมาแม่น้ำหรือสายน้ำที่ได้มอบชีวิตให้แก่มนุษย์ แต่ยิ่งนานวันประเพณีนี้เริ่มกลายเปลี่ยนเป็นประเพณีที่สร้างความทุกข์มากกว่าความสุขให้กับแหล่งน้ำที่เราเพิ่งขอขมาไป เพราะกระทงที่เป็นตัวแทนของการขอขมาที่แต่ละคนนำมา ก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาลในแต่ละปี แม้ว่าจะหาทางกำจัดอย่างไร แต่ปริมาณก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อ้าวจะแก้ไขยังไงล่ะทีนี้

นอกเหนือจากช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้ผ่านไป สายน้ำก็ยังคงไม่ได้หยุดพักเลยสักวินาทีเดียว

กระทง = ขยะ?

ในช่วงเทศกาลจะมีกระทงขายเกลื่อนกลาด แต่วัสดุที่นำมาประกอบเป็นกระทง 1 ใบนั้นมีความหลากหลายตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้ขาย เพื่อหาผลกำไร แต่นั่นก็ดูจะไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแต่วัสดุที่นำมาใช้นั้น มันต้องไปลอยอยู่ในแม่น้ำและมันส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย แล้วมีมลพิษอะไรบ้างที่น้ำต้องเผชิญจากการเทศกาลวันลอยกระทง

วัสดุสมัยก่อนเราจะเน้นไปที่การใช้ใบตอง และชิ้นส่วนต่างๆของต้นกล้วย เพื่อดัดแปลงประดิษฐ์ประดอยให้มาเป็นกระทงใบงาม แต่ความหัวใสของผู้ค้าขายได้ถูกพัฒนามาเรื่อยๆในการเปลี่ยนวัสดุให้ทนทานขึ้น เพราะต้นกล้วยเริ่มหายากในช่วงเทศกาลและเหี่ยวเฉาไว ตกแต่งไม่สวย จึงแปรเปลี่ยนมาใช้โฟมที่ทนทานและยาวนานขึ้นหรือกระทงขนมปังที่เสมือนกับว่าให้อาหารปลาหน้าวัดจะได้ไม่ทิ้งขยะไว้ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ว่าวัสดุที่ใช้นั้นเหมาะสมกับน่านน้ำหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กระทงโฟม แน่นอนว่าวัสดุนี้มีผลต่อการใช้งานกับแหล่งน้ำโดยตรง และโฟมยังเป็นศัตรูตัวฉกาจของสิ่งแวดล้อมเทียบเท่ากับพลาสติก เพราะใช้เวลาในการย่อยสลายยาก และยังปล่อยไมโครพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำด้วย

กระทงขนมปัง ขนมปังเป็นสารอินทรีย์ที่เมื่อลงไปในน้ำนานมากๆแล้ว ถ้าปลากินไม่หมดแน่นอนว่ามันก่อให้เกิดน้ำเน่าเสีย เสมือนกับอาหารที่เหลือทิ้งแล้วเราโยนทิ้งลงในแม่น้ำ

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องเร่งหาทางแก้ไขกระทงที่ใช้วัสดุวาไรตี้เหล่านี้ เพื่อกำจัดจำนวนขยะกระทงที่เกลื่อนอยู่ในสายน้ำด้วยการออกนโยบายรณรงค์ให้ประชาชนหันมาสนับสนุนกระทงที่ประดิษฐ์มาจากวัสดุที่ปลอดภัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การลดขนาดของกระทงลงมาให้เหลือขนาดกะทัดรัด กระทงที่ทำจากน้ำแข็งจะได้ละลายได้ แต่อย่าผสมสารอะไรลงไปล่ะ เดี๋ยวสารเคมีอันตรายบางชนิดจะถูกเจือปนลงแหล่งน้ำ

กระทงน้ำแข็ง cr.https://twitter.com/eventpassapp

รัฐยังขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนว่าถ้าหากไปกันเป็นกลุ่มหรือเป็นครอบครัวก็ให้ใช้กระทงเพียงหนึ่งใบต่อหนึ่งกลุ่มพอ และขอความร่วมมือร้านค้าไม่ใช้วัสดุประกอบกระทงที่ไม่หลากหลายจนเกินไปอย่างเช่น พวกเข็มหมุด ดอกรักปลอม เป็นต้น และในยุคนี้ที่เราก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 กันอย่างเต็มรูปแบบ การลอยกระทงออนไลน์ก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดเพราะไม่ก่อให้เกิดขยะสักชิ้นในช่วงเทศกาลเลย

อ้อ แล้วก็อย่าลืมเรื่องของการปล่อยโคมลอยบนท้องฟ้ายามค่ำคืนในวันลอยกระทงล่ะ มันดูสวยก็จริงแต่เกือบทุกปีเราจะเห็นว่ามักจะมีขาวโคมไปตกที่หลังคาบ้านใครสักคนแล้วเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ หรืออันตรายต่อการบินและอันตรายต่อสัตว์กลางคืน โดยเฉพาะนก ถ้าเป็นไปได้ผู้เขียนไม่แนะนำให้ลอยโคมจะดีกว่า

เมื่อเทศกาลแห่งความสุขผ่านไป ความทุกข์ของสายน้ำก็กลับมาทวีคูณขึ้นจากปัญหามลพิษทางน้ำที่เกิดขึ้นทั่วโลก และวิกฤตการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ที่ปลอดภัยสำหรับผู้คนอีกเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ที่ประสบกับภัยแล้ง การขาดแคลน ขาดรายได้ ปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางสุขภาพ ปัญหาทางเศรษฐกิจและไปสิ้นสุดที่ความตาย

ในอีกซีกโลกหนึ่ง หรือแม้แต่ในประเทศของเราเอง ในบางครอบครัวหรือชุมชนยากจนมีภาวะของการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคที่ถูกสุขอนามัยอย่างรุนแรงอย่างไม่รู้ตัว

Unicef และ เว็บไซต์ Water.org ได้รวบรวมสถิติและรายงานภาวะของการขาดแคลนน้ำทั่วโลกโดยเฉพาะแถบแอฟริกาที่มีความแห้งแล้งยาวนานมากที่สุด โดยชี้ให้เราเห็นว่าปัจจุบันคนกว่า 785 ล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้

  • ผู้คน 4 พันล้านคน หรือเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรโลกใน 48 ประเทศ ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนต่อปี
  • ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิต 1 ล้านคนจากการดื่มน้ำที่ไม่ถูกสุขอนามัย
  • ทุกๆ 2 นาที จะมีเด็กเสียชีวิตจากโรคที่มาจากการดื่มน้ำไม่สะอาด
  • 1 ใน 3 ของโรงเรียนไม่สามารถเข้าถึงน้ำและสุขาภิบาลขั้นพื้นฐานได้
  • ผู้คนกว่า 2 พันล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีน้ำประปาไม่เพียงพอต่อความต้องการ
  • การคาดการณ์ในอนาคตว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก อาจอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำภายในปี 2025
  • ผู้คนราว 700 ล้านคนอาจต้องพลัดถิ่นเพราะขาดแคลนน้ำอย่างหนักภายในปี 2030
  • หรือประเด็นเมื่อไม่นานมานี้ แม่น้ำยมุนาที่ไหลผ่านกรุงนิวเดลีประเทศอินเดีย ที่มีฟองสีขาวเต็มไปหมด ฟองพวกนี้เกิดจากสารเคมีที่ถูกปล่อยลงในแม่น้ำ และผู้คนชาวอินเดียยังคงลงไปใช้น้ำในแม่น้ำกันอย่างปกติรวมไปถึงสัตว์ก็ยังเดินไปดื่มกินน้ำอยู่

ฟองขาว สารเคมีจากโรงงานในแม่น้ำยมุนา กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย cr.bbc

ปัญหาเรื่องการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไม่สามารถหาทางแก้ไขในการหาแหล่งหรือวิธีกำจัดของเสียของตนได้อย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดอันตรายสู่ชุมชนและผู้คน

โดยสาเหตุหลักของน้ำเน่าเสีย เกิดจาก 3 ประการหลักด้วยกัน คือ

1.การทิ้งของเสียลงสู่แหล่งน้ำชุมชนโดยชุมชน ผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้ริมน้ำมักจะทิ้งขยะในลำน้ำ เช่น เศษอาหาร พลาสติก ผ้าอ้อมสำเร็จรูป น้ำยาซักผ้า น้ำมันจากการทำอาหาร หรือแม้กระทั่งซากสัตว์ที่ตายแล้ว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการหมักหมมและเพิ่มสารพิษในแหล่งน้ำ ทำให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ไม่ได้ ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง และยังเป็นแหล่งแพร่พันธุ์เชื้อโรคด้วย

2.การปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งทางอากาศและทางน้ำ ซึ่งส่วนนี้ทางเจ้าของกิจการโรงงานและภาครัฐต้องเร่งหาทางแก้ไข ไว่ว่าจะด้วยข้อกำหนดกฎหมายก็ดีหรือการเก็บภาษีมลพิษก็ดี เพราะโรงงานมักปล่อยลงสู่แหล่งน้ำโดยตรงและผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำนั้นๆ

3.สารเคมีจากการทำการเกษตร แหล่งน้ำส่วนใหญ่มักติดกับพื้นที่การเกษตร เพราะการปลูกพืชพันธุ์ต้องใช้แหล่งน้ำเป็นส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของพืชผล การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ก็ต้องมีการบำรุงดูแลด้วยปุ๋ยและสารเคมี อย่าง ไนเตรต ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียมและอื่นๆที่ถูกนำมาใช้ในปริมาณที่สูง และยังมีการกำจัดศัตรูพืชทำให้เกิดสารตกค้างในพืชผล เวลาฝนตกฝนจะชะล้างหน้าดินที่เต็มไปด้วยสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำใกล้เคียง

ปรากฎการณ์ทั่วโลกเหล่านี้ ปลาอยากให้เราตระหนักรู้ถึงความสำคัญของน้ำ เรายังโชคดีที่มีน้ำให้ใช้ได้อย่างสบายใจ แต่อีกซีกโลกหนึ่ง แค่น้ำ 1 แก้ว ยังยากที่จะเข้าถึงได้ ถ้าหากประเทศไทยเราเองและทั่วโลกไม่ฟุ่มเฟือยและประหยัดการใช้น้ำ รวมไปถึงดูแลสภาพน้ำให้ใสสะอาด เราก็อาจจะยังมีน้ำดีๆปลอดภัยให้ได้ใช้ในระยะยาวต่อไป

related