svasdssvasds

ถอดความคิด 4 อินฟลูเอนเซอร์ ทำจริง ชีวิตจริง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ถอดความคิด 4 อินฟลูเอนเซอร์ ทำจริง ชีวิตจริง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

รวมแนวคิดของอินฟลูเอนเซอร์ 4 สไตล์ ได้แก่ 1) หมอแล็บแพนด้า 2) ริชชี่ 3) ไอติม พริษฐ์ และ 4) เบิ้ล ปทุมราช จากการที่ depa เดินหน้าส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก่เกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญ และยังร่วมกับ RSA & ธ.ก.ส. จัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมสู่การเป็น Smart Farmer

รวม 4 เรื่องราวในชีวิตและประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ โดย 4 อินฟลูเอนเซอร์ หมอแล็บแพนด้า - ริชชี่ - ไอติม - เบิ้ล ปทุมราช' คนดังที่คำนึงถึงสังคมแวดล้อมและความยั่งยืน สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสหประชาชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 17 ข้อ จากการที่ depa จัดงานร่วมกับ สมาคมเพื่อส่งเสริมการประกอบสัมมาชีพ (RSA) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมความพร้อมสู่การเป็น Smart Farmer ภายใต้มาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (depa-mini Transformation Voucher) ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ

SDGs

  เกริ่นถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ  

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs : 17 Goals เป็นเป้าหมายที่ UN กำหนดขึ้นและเริ่มดำเนินการหลังปี 2558 ซึ่งนานาประเทศทั่วโลกร่วมมือกันดำเนินการเพื่อความอยู่รอดของทรัพยากรธรรมชาติ พืชพันธุ์ธัญญาหาร สิ่งมีชีวิตทั้งทุกชนิด รวมถึงการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติ ในขณะที่โลกกำลังร้อนขึ้นทุกวัน (Climate Change) โดยมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ดังนี้

เป้าหมายที่ 1 : ขจัดความยากจน

เป้าหมายที่ 2: ขจัดความหิวโหย

เป้าหมายที่ 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

เป้าหมายที่ 4: การศึกษาที่เท่าเทียม

เป้าหมายที่ 5: ความเท่าเทียมทางเพศ

เป้าหมายที่ 6: การจัดการน้ำและสุขาภิบาล

เป้าหมายที่ 7: พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้

เป้าหมายที่ 8: การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เป้าหมายที่ 9: อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน

เป้าหมายที่ 10: ลดความเหลื่อมล้ำ

เป้าหมายที่ 11: เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน

เป้าหมายที่ 12: แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

เป้าหมายที่ 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป้าหมายที่ 14: การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล

เป้าหมายที่ 15: การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก

เป้าหมายที่ 16: สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก

เป้าหมายที่ 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

หมอแล็บแพนด้า อินฟลูเอนเซอร์

  •   หยิบเทคโนโลยีดิจิทัลมาเคลียร์ประเด็นโควิด ร่วมกับการผลิตรถตรวจเชิงรุก โดยอินฟลูเอนเซอร์มากความรู้ 'หมอแล็บแพนด้า'  

“สิ่งที่ทำมาโดยตลอดคือการโพสต์ให้ความรู้ที่ถูกต้อง ตัวเองไปศึกษาจากแหล่งข้อมูล งานวิจัยที่เชื่อถือได้ เอามาแปลเป็นภาษาง่ายๆ ให้คนเข้าใจโรคโควิด 19 และการป้องกันตัวเองได้"

ด้วยข้อความที่อธิบายความรู้หรือประเด็นทางการแพทย์ให้เข้าใจง่ายผ่านเพจ หมอแล็บแพนด้า ทำให้ผู้ติดตามได้ความรู้ที่ถูกต้องและไม่ตื่นตระหนก ทั้งยังดูแลตัวเองและช่วยดูแลสังคมไปด้วยจึงทำให้ หมอแล็บแพนด้า เป็นหนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ที่มีผู้ติดตามหลายล้านคน (เฉพาะเฟซบุ๊กก็ 2.8 ล้านบัญชี)

"เราอยากให้โควิดจบเร็วที่สุดในแบบที่เราทำได้จึงใช้ความรู้ด้านแล็บ ด้านเครื่องมือแพทย์ สร้างรถตรวจเชิงรุกไปตามชุมชน เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อจากชุมชนไปรักษา ช่วยทำให้ชุมชนปลอดภัย ไม่ให้ประชาชนต้องไปแออัดกันที่โรงพยาบาล"

หมอแล็บแพนด้ากล่าวถึง รถตรวจเชิงรุก เป็นคันแรกของประเทศไทยซึ่งใช้กันอย่างแพร่หหลาย อันเกิดจากความร่วมมือกับหลายภาคส่วน อาทิ กรุงเทพมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสร้างรถคันเดียวที่สามารถพร้อมกันทีเดียวได้ถึง 3 ราย ช่วยให้การตรวจหาโควิดทำได้ 3,000 เคส ต่อวัน ทำให้การตรวจเชิงรุกเร็วขึ้น สถานการณ์ต่างๆ ก็ดีขึ้น

หมอแล็บเผยว่า ตอนนี้กำลังซุ่มทำโปรเจกต์ใหม่ โดยกำลังนำตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาแบ่งเป็นห้องต่างๆ เช่น ห้องความดันลบสำหรับผู้ป่วย ห้องความดันบวกสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ซึ่งสามารถประยุกต์ทำเป็นห้องตรวจโรค สวอป ห้องให้คำปรึกษา หรือไอซียู ก็ยังได้ และหากนำตู้คอนเทนเนอร์หลายๆ ตู้มาประกอบกัน ยังสามารถทำเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีคุณภาพได้อีกด้วย

สอดคล้องกับเป้าหมายข้อ 17 : ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ไอติม

  •   ใช้เทคโนโลยีช่วยนักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยอินฟลูเอนเซอร์คนเก่ง 'ไอติม - พริษฐ์ วัชรสินธุ'  

จุดเริ่มต้นของ Start Dee เกิดขึ้นจากการเห็นปัญหาว่าการศึกษาที่มีคุณภาพเข้าถึงยากมาก เพราะเหตุผล 3 มิติ ได้แก่ คุณภาพของระบบการศึกษา คุณภาพการเรียนการสอนที่แตกต่างกันแต่ละโรงเรียน และนักเรียนต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษที่สูงมากเมื่อต้องการความรู้นอกห้องเรียน ทั้งนี้ ทางออกที่ยั่งยืนคือภาครัฐต้องทำให้โรงเรียนที่มีคุณภาพอยู่ใกล้กับเด็กทุกคน

และเพื่อผลักดันการศึกษาบนดิจิทัลแพลตฟอร์มยังไงให้มีมาตรฐานมากขึ้น ไอติมมองว่า ภาครัฐไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างขึ้นมาใหม่หมด แต่ควรวางกฎ กติกา และระบบเพื่อใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาที่ภาคเอกชนผลิตให้ได้มากที่สุด และควรสร้างความเข้าใจว่า

"การเรียนออนไลน์ที่ดีไม่ใช่การคัดลอกเนื้อหาในห้องเรียนมาแปะไว้บนออนไลน์ แต่ควรออกแบบการเรียนออนไลน์ให้ตรงตามความเป็นจริง เพราะพฤติกรรมการเรียนออนไลน์กับการเรียนในห้องไม่เหมือนกัน"

อย่างไรก็ตาม การเรียนออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการเรียนในห้องได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะการเรียนในห้องต้องการการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนเพื่อการพัฒนาทักษะต่างๆ มากกว่าการเรียนออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ ไอติมจึงมองการเรียนออนไลน์ว่า เป็นเครื่องมือเสริมของการเรียนการสอนในห้อง

"แนวคิดที่อยากจะแชร์คือ ห้องเรียนกลับด้านหรือ flip classroom คือการที่ครูใช้เวลา 1 คาบในการบรรยาย ครูสามารถอัดวิดีโอให้เด็กดูที่บ้านเพื่อให้เด็กดูพร้อมให้ข้อมูลและใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการพัฒนาทักษะ การคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีมได้ ดังนั้น การวางบทบาทระหว่างครูและเทคโนโลยี จึงควรให้ครูรับบทบาทที่เทคโนโลยีทำไม่ได้"

สอดคล้องกับเป้าหมายข้อ 4 : การศึกษาที่เท่าเทียม

 

  ตัวแทนคนรุ่นใหม่ สร้างความมั่นคงด้านการเกษตรเพื่อชุมชน  

เพราะอาหารสำคัญต่อทุกคนและความมั่นคงทางอาหารก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน ทุกประเทศ โดยเฉพาะในช่วงโควิด 19 ระบาด จะเห็นว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นธุรกิจสำคัญที่ยังดำเนินต่อไปได้ และในช่วงหลายปีมานี้เห็นไหมว่า คนบันเทิงไปขลุกอยู่กับเกษตรกรรมมากขึ้น 

ริชชี่

  •   ทำไร่ชาเพื่อครอบครัวและชุมชนโดยรอบ โดยอินฟลูเอนเซอร์สาว 'ริชชี่ - อรเณศ ดีคาบาเลส'  

ครอบครัวริชชี่เป็นเจเนอเรชันที่ 4 ที่เป็นผู้นำและดูแลพื้นที่ในดอยปู่หมื่น จังหวัดเชียงราย โดยอาชีพหลักของชาวชุมชนบนดอยนี้คือ การปลูกชา

"เมื่อก่อนสมัยคุณตานำเกษตรเข้ามาทดแทนการปลูกฝิ่น ในยุคที่ฝิ่นผิดกฎหมายเราได้รับชาต้นแรกจากในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเปลี่ยนอาชีพจากปลูกฝิ่นทั้งหมดมาทำไร่ชา นับแต่นั้นมาที่บ้านดูแลรับซื้อชา พัฒนาชา ไม่ใช่แค่ดอยตัวเอง แต่เราเป็นหมู่บ้านตัวอย่างจึงคอยช่วยส่งเสริมการปลูกชาดอยข้างเคียงและพื้นที่รอบๆ จนปัจจุบันนี้การทำไร่กลายเป็นอาชีพหลัก"

ริชพยายามคิดให้ชาวบ้านมีความมั่นคงขึ้น มีตลาดมากขึ้น เพิ่มผลผลิตได้ จากแต่ก่อนที่ผลิตชาแล้วส่งออกไปที่จีน ในฐานะคนรุ่นใหม่ก็อยากทำแบรนด์ไทย จึงสร้างแบรนด์ตัวเองขึ้นมาเป็นชาดีท็อกซ์ โดยนำชามาแปรรูปเพิ่มช่องทางการขายและเพิ่มยอดขายด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยให้ชาวบ้านมีความมั่นคงมากขึ้น

"เราก็พอมีชื่อเสียงในการประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้คนอยากรู้ที่มาของชาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล จึงพรีเซนต์ถึงการท่องเที่ยวชุมชน บรรยากาศบนดอยที่ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ออร์แกนิกหมดเลย ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสวิถีชาวบ้านผ่านช่องทางออนไลน์ การเก็บชา รวมถึงการท่องเที่ยวชุมชนที่สร้างรายได้ส่วนนึงให้ชาวบ้าน ส่วนแบรนด์ที่ขายออนไลน์ ริชวางแผนว่าเมื่อเปิดประเทศแล้วจะส่งออก"

ชาที่ริชชี่ผลิตนั้นทำผ่านกระบวนการธรรมชาติเพื่อช่วยระบาย และจะผลิตชาเพื่อสุขภาพ อยากเพิ่มมูลค่าเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น มั่นคงเพื่อให้อยู่ในชุมชนตัวเองได้ไม่ต้องออกไปหางาน บนดอยเป็นต้นน้ำ ทุกอย่างออร์แกนิก เพื่อให้คนเห็นถึงคุณค่าที่มี

“ริชชี่มองว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น เราทุกคนสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งที่เรามีในชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ แล้วนำรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยชุมชน นอกจากนี้ ยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ชุมชน เพราะเมื่อเห็นผลผลิตของชุมชนว่าเป็นสิ่งที่ดี เราก็ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างและเพิ่มคุณค่า โดยเฉพาะช่วงนี้ ทุกคนกลับบ้านก็จะสังเกตได้ว่าเรามีอะไรดีก็พัฒนาตรงนั้น ช่วยทำให้ชาวชุมชนมีความมั่นคงมากขึ้น”

สอดคล้องกับเป้าหมายข้อ 17 : ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 17 เบิ้ล

  •   ส่งต่อเทคนิคการเกษตร โดยอินฟลูเอนเซอร์ผู้รักบ้านเกิด 'เบิ้ล - ปทุมราช'  

เบิ้ล - ปทุมราช ศิลปินค่ายอาร์ สยาม หรือชื่อจริง อาทิตย์ สมน้อย ชาวอำนาจเจริญ แม้ประสบความสำเร็จในด้านการเกษตรจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรแบบผสมผสานแล้ว เบิ้ลยังร่วมกับแฟนคลับระดมทุนจัดกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อส่งต่อเทคนิคการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ที่มั่นคงด้วยเช่นกัน

“เบิ้ลเกิดในครอบครัวชาวนา เชื่อเรื่องการเกษตรว่าสามารถอยู่ได้ หากวางแผนและใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ ช่วงที่เบิ้ลเป็นนักร้อง กลับไปคุยกับคุณพ่อ ท่านอยากทำนาตลอดชีวิต ไม่ว่าเบิ้ลจะดังหรือไม่ ด้วยศาสตร์พระราชาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ผมรู้ว่า ทำนาอย่างไรให้ผลผลิต เหลือและแบ่งปันครอบครัวพี่น้องได้ และใช้มุมมองของนักร้องของชาวบ้านและแฟนคลับ นำเงินกลับไปทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุในชุมชน เป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อถ่ายทอดแนวคิดการเกษตรแบบผสมผสาน แบ่งพื้นที่ทำนามาทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่"

ในแต่ละปี เบิ้ลกับชาวชุมชนจะนำงบประมาณจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เชิญชาวบ้านทุกคนมาดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ประกวดแปลงเกษตรดีเด่น มีรางวัล มีแข่งขันในระดับตำบล ระดับอำเภอ แต่งบประมาณตรงนี้ไม่มากนักเพราะเป็นงบประมาณส่วนตัวของเบิ้ลและแฟนคลับ

"ตอนนี้เบิ้ลแบ่งรายได้ให้คุณพ่อและพี่ชายทำนา ไม่ต้องขายข้าวแต่ให้สหกรณ์เพื่อแบ่งให้ชาวบ้าน นอกจากนี้อยากมีผลิตภัณฑ์ข้าวจากชาวนา แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นคนกลางช่วยชาวนาขายข้าว ให้เขามีรายได้ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางซึ่งไม่ต้องเจอกับความผกผันกับราคาข้าวในแต่ละปี”

สุดท้าย หมอแล็บแพนด้า เน้นย้ำถึงการบรรลุ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยั่ง (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยชูประเด็น 'ความร่วมมือ' ว่าสำคัญมากในยุคนี้ เพราะจะทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตไปได้ และทำให้การพื้นฟูประเทศดีขึ้นและมีความยั่งยืนมากกว่าเดิม

สอดคล้องกับเป้าหมายข้อ 12 : แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

จะเห็นว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของ 4 อินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่เพื่อช่วยสังคม ช่วยพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของคนไทย เพื่อก้าวพ้นวิกฤตโควิด นอกจากจะเพิ่มความเข้มแข็งให้สังคมไทย พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยแล้ว ยังสร้างความยั่งยืนให้ทุกชุมชนอีกด้วย

related