svasdssvasds

โดนไล่ หาว่าเป็นแหล่งมั่วสุม จากยุคมืดของสเกตบอร์ด สู่กีฬาโอลิมปิก

โดนไล่ หาว่าเป็นแหล่งมั่วสุม จากยุคมืดของสเกตบอร์ด สู่กีฬาโอลิมปิก

จากสายตาที่ไม่เคยถูกมองว่าเป็นกีฬา คนชอบสเกตบอร์ดต้องฝึกกันในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ตามใต้สะพานทางด่วน ลานปั๊มน้ำมัน ไม่มีความปลอดภัย โดนไล่ มองว่าเป็นแหล่งมั่วสุมของเหล่าแก๊งสเตอร์ แต่วันนี้สเกตบอร์ดถูกบรรจุให้เป็นกีฬาโอลิมปิก ที่จะมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทั้งไทยเทศต่างจับตามองการแข่งขันกีฬาเอ็กซ์ตรีมบนเวทีโลกในครั้งนี้

จากทะเลสู่ถนน

ยุคเริ่มต้นของสเกตบอร์ดต้องย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 50 ช่วงปี ค.ศ. 1954 ที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อนักกระดานโต้คลื่น หรือเซิร์ฟบอร์ด เกิดมีไอเดียนำเซิร์ฟบอร์ดมาดัดแปลงเพิ่มล้อเข้าไป และนำมาเล่นบนท้องถนน ในเวลาที่ทะเลไม่มีคลื่น โดยการดัดแปลงเทคนิครูปแบบการเล่นจากการเล่นเซิร์ฟบอร์ดนั้นเอง ซึ่งในยุคนั้นเรียกกันว่า ไซด์วอล์ค เซิร์ฟฟิ่ง (Sidewalk Surfing)

 

สเกตบอร์ดได้รับความนิยมอย่างมากในเหล่าวัยรุ่นอเมริกา มีการผลิตเพื่อการค้า สามารถหาซื้อได้ตามศูนย์การค้าทั่วไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 แต่การเล่นสเกตบอร์ดที่เต็มไปด้วยอิสระและความท้าทายที่น่าหลงใหล ซ่อนไปด้วยจุดอันตราย ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หลายครั้งถึงกับชีวิต ทำให้สเก็ตบอร์ดกลายเป็น “กีฬาต้องห้าม” ในหลายๆ สถานที่ รวมถึงผู้ปกครอง จนกระแสของการเล่นสเกตบอร์ดถดถอยลงไปในที่สุด

 

จนกระทั่งกลางยุค 70s กระแสสเกตบอร์ดกลับมาอีกครั้ง เมื่อมีการสร้างลานสเกตบอร์ดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา มีการตั้งสเกตบอร์ด ซิตี้ ในแถบพอร์ท ออเรนจ์ รัฐฟลอริดา และประมาณปี ค.ศ. 1973 เริ่มมีการนำล้อยูรีเทนมาใช้กับสเกตบอร์ด ทำให้มีความปลอดภัยและคล่องตัวมากขึ้น การทรงตัวก็ง่ายขึ้นด้วย จนสเกตบอร์ดกลับมาฮิตกันอีกครั้ง พร้อมกับไอเดียใหม่ๆ มากมาย หนึ่งในท่าเล่นสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นคือ “โอลลี”  อลัน เดลแฟนด์ ผู้คิดค้นท่ากระโดดโดยให้ล้อหน้ากระดกขึ้นก่อน จนเรียกท่ากระโดดนั้นว่าโอลลี ซึ่งเป็นท่าพื้นฐานที่นำมาสู่การดัดแปลงท่าต่าง ๆ อีกเช่น “คิกฟลิบ” การกระโดดและให้สเกตบอร์ดหมุน 360 องศาในจังหวะที่ลงพื้น คิดค้นโดย ร็อดนีย์ มัลเลน ความนิยมในสเกตบอร์ดยิ่งมากขึ้น เมื่อโทนี่ ฮอว์ค สุดยอดนักสเกตบอร์ด ผู้ความแชมป์มากมาย แสดงให้นักสเกตบอร์ดทั่วโลกเห็นถึงลีลาการเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งเป็นแรงผลักดันในการฝึกฝน

 

การกลับมาได้รับความนิยมต่อเนื่อง ทำให้ในปี 1995 อีเอสพีเอ็น (Sports Center) เข้ามาสนับสนุน โดย บรรจุสเกตบอร์ดให้เป็นกีฬาในกลุ่ม “เอ็กซ์ตรีมเกมส์” จนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย “เวิร์ต” เป็นการใช้สเก็ตบอร์ดไถไปในสนามครึ่งวงกลม แสดงท่าทางต่างๆ และ “ผาดโผน” เป็นแนวสตรีท โชว์ลีลากระโดดข้ามสิ่งกีดขวางไปตามสนามลานขนาดใหญ่ โดยมีกรรมการเป็นผู้ให้คะแนนตามความยากง่ายของท่า

"จากความนิยมกลายเป็นไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรมที่เผยแพร่ไปหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย ซึ่งปัจจุบันก็ถือเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีมอีกประเภทหนึ่งที่วัยรุ่นมักจะรวมตัวกันเล่นและฝึกฝนทักษะกันอยู่เสมอ"

จากยุคมืด สู่กีฬาโอลิมปิก

สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2021 ที่จะมีขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ได้อนุมัติบรรจุให้สเกตบอร์ด เป็น 1 ใน 5 ชนิดกีฬาใหม่ในการแข่งขัน แต่จากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้กำหนดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์จากเดิมจะจัดขึ้นในปี 2020 ต้องเลื่อนการแข่งขันไปเป็นระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-8 ส.ค.ในปี 2021 แทน

ในการแข่งขันที่กีฬาโอลิมปิกที่จะเกิดขึ้นที่กรุงโตเกียว สเกตบอร์ดจะถูกแบ่งการแข่งขันออกเป็นสองประเภท คือสตรีทและพาร์ค ทั้งสองรายการนี้มีการใช้ทักษะที่แตกต่างกัน 

“สตรีท” เป็นประเภทการแข่งขันที่เน้นความเร็ว ความคิดริเริ่มแปลกใหม่ และทักษะในการควบคุมสเกตบอร์ดให้เคลื่อนไปตามเส้นทางต่างๆ ที่กำหนดขึ้น โดยตัดสินให้คะแนนจากการทำเวลา การโชว์ลีลา ในการผ่านอุปสรรคบนเส้นทาง และด้วยสภาพถนนของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป รวมทั้งยังมีอุปสรรคเป็นสภาพภูมิประเทศรอบตัวที่อาจไม่เหมือนที่นักกีฬาแต่ละคนเคยเจอมาก่อน จะทำให้การแข่งในประเภทนี้ ต้องอาศัยทั้งความชำนาญและประสบการณ์ในการเล่นอย่างมาก

 

 

 

“พาร์ค” เป็นการแข่งที่เน้นไปที่การแสดงทักษะขั้นสูง เพื่อโชว์ลีลาการเล่นสเกตบอร์ดบนสนามทรงโดมคว่ำ ที่จะมีทั้งความชัน ความลาดเอียง และสิ่งกีดขวางต่างๆ ที่เป็นทั้งอุปสรรค และจุดสำหรับโชว์ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งการให้คะแนนจะอยู่ที่การโชว์ลีลากลางอากาศ และการเล่นกับอุปสรรคต่างๆ ในสนาม ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่นักสเก็ตบอร์ดอาชีพต่างฝึกฝนมาเป็นอย่างดี แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างทำได้ จึงเป็นการแข่งขันที่ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของผู้เล่นแต่ละคน

 

สำหรับประเทศไทย สเกตบอร์ดเป็นกีฬาที่ถูกรวมเข้าไว้ในสมาคมกีฬาเอ็กซ์ตรีมแห่งประเทศไทย (Thailand Extreme Sports Association) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ร่วมกับกีฬาเอ็กซ์ตรีมชนิดอื่นๆ เช่น อินไลน์สเก็ต, บีเอ็มเอ็กซ์ฟรีสไตล์ ,บีเอ็มเอ็กซ์ แฟลตแลนด์ และ โรลเลอร์สปอร์ต สมาคมกีฬาเอ็กซ์ตรีมแห่งประเทศไทย มีการวางแผนพัฒนานักกีฬาไทยอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายหลักคือพานักกีฬาไทยสู่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ และผลักดันกีฬาสเกตบอร์ดในไทยให้เป็นกีฬามวลชน และทางสมาคมกีฬาเอ็กซ์ตรีมแห่งประเทศไทย กำลังศึกษาโครงการทำศูนย์ฝึกนานาชาติ (Skate Academy) ซึ่งจะเป็นศูนย์ฝึกระดับโลก 

 

สอดคล้องกับการเห็นความสำคัญในกีฬาสเกตบอร์ดของ “ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง” โฆษกของกรุงเทพมหานคร สร้างลานสเกตบอร์ดโมเดลแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร พร้อมสนับสนุนให้เยาวชน และกลุ่มผู้เล่นสเกตบอร์ด ได้มีลานสเกตที่สว่าง ปลอดภัย ที่ “สวนรถไฟ” หรือ “สวนวชิรเบญจทัศ” กลางกรุงเทพมหานคร

 

กว่าที่นักเล่นสเกตบอร์ดไทยจะมาถึงยุคสว่างของกีฬาชนิดนี้ได้ พวกเขาก็ผ่านอะไรกันมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ไม่เอื้ออำนวยต่อการฝึกทักษะ แถมยังอันตราย ทั้งยังถูกมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุม โดนไล่ ไม่ได้รับการสนับสนุนในส่วนของการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดขีดความสามารถของนักเล่นสเกตบอร์ดไทยมาโดยตลอด เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากพวกเขามีโอกาสในการฝึกฝนในสถานที่ อุปกรณ์ที่ส่งเสริมทักษะ นักกีฬาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ฮีโร่ที่จะเกิดขึ้นในกีฬาโอลิมปิกของชาวไทย อาจจะมาจากกีฬาที่เคยตกเป็นกีฬาต้องห้ามก็เป็นได้

 

ติดตามปัญหาข้อจำกัดในการฝึกทักษะของเหล่านักสเกตบอร์ด ได้ในรายการอยากเห็นเมืองไทยดีกว่านี้ ในวันอาทิตย์ เวลา 20.10-20.40 น. ทางเนชั่นทีวีช่อง 22 รายการเล็ก ๆ ที่มีเจตนาถามหาแนวทางการแก้ปัญหาของคนไทยทุกคน

 

related