SHORT CUT
หลังประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญล่ม 2 วันติด ภท.-สว. บางส่วนขอไม่สังฆกรรมการพิจารณากฎหมายที่อาจขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แย้งกับความเห็นของพรรคประชาชน ส่วนพรรคเพื่อไทยเล็งยื่นศาลตัดสินประชามติ 2 หรือ 3 ครั้งกันแน่?
การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ของพรรคประชาชน ที่เสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และพรรคเพื่อไทยที่เสนอโดย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.พะเยา โดยมีเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งหมดเพื่อปลดล็อกการจัดทำรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น และเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมีความกังวลว่า การเสนอเพิ่มหมวด 15/1 คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ที่เคยวินิจฉัยว่า หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน
“รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”
ดังนั้น การประชุมเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 จึงต้องล่มไปในเวลา 12.00 น. เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ เพราะหลายคนเข้าร่วมประชุม แต่ไม่แสดงตน หรือหลายคนวอล์คเอ้าท์จากห้องประชุม เหลือพรรคที่แสดงตนคือ
ขณะที่พรรคที่ไม่แสดงตนเลยได้แก่
ต่อมาจึงมีการบรรจุวาระของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. เพื่อขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ในการประชุมวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 แต่กลับมีผู้โหวตไม่เห็นด้วย 275 เสียง (โดยส่วนใหญ่มาจากพรรคประชาชน 137 เสียงและ สว. อีก 136 เสียง) จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 526 คน ทำให้ญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ไม่สามารถเลื่อนขึ้นมาแทนที่การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาอยู่ได้ และการประชุมร่วมรัฐสภาก็กลับล่มอีกภายในเวลา 11.00 น. เพราะจากจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มาลงชื่อร่วมประชุม 620 คน มีผู้มาแสดงตนแค่ 176 คน ประกอบด้วย
โดยพรรคภูมิใจไทย สส. และ สว. ส่วนหนึ่งมองว่าการกระทำนี้อาจขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต จึงไม่ร่วมสังฆกรรม ด้วยการไม่แสดงตน
ขณะที่พรรคประชาชนมองว่า ต้องเดินหน้าตอนนี้ทันที เพราะสิ่งที่ทำ ไม่ขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนการเพิ่มหมวด 15/1 คือการนิยามวิธีการได้มาของรัฐธรรมนูญใหม่ ว่าจะมาจาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำเพื่อเพิ่มสาระที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญ 2560 มาก่อน เขียนวิธีการในกฎหมายไว้ก่อนเฉยๆ เพื่อให้มีเครื่องมือไว้ใช้ จะได้ใช้หรือไม่ได้ใช้ ก็แล้วแต่ผลประชามติของประชาชน ไม่ได้เป็นการมัดมือชกรัฐสภาให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่าแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น
ส่วนจุดยืนของพรรคเพื่อไทยคือการทำให้องค์ประชุมล่ม ดีกว่าปล่อยให้โหวตไม่ผ่านและญัตติเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตกไป และต้องเข้าใหม่ในสมัยประชุมสภาครั้งหน้า แต่ในระหว่างที่ญัตตินี้ยังอยู่ในวาระการประชุมร่วมรัฐสภา ทางพรรคเพื่อไทยก็จะเสนอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าจะต้องทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง ระหว่าง 2 ครั้งตามแนวทางของพรรคประชาชน และ 3 ครั้งตามแนวทางของรัฐบาลและคณะกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้กับดักของการจัดการประชามติก็คือการทำประชามติที่มีการกำหนด Double Majority คือ ประชาชนต้องออกมาโหวตเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และเกินครึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิต้องเห็นชอบ ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญยิ่งเป็นเรื่องยากเข้าไปอีก จึงนำมาซึ่งการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่ให้กลับไปใช้เสียงข้างมากธรรมดา แต่กลับมีความเห็นไม่ตรงกับ สว. ที่เห็นควรให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้นตามเดิม ดังนั้น ในขั้นตอนนี้ สภาผู้แทนราษฎรจึงต้องรอ 180 วัน หรือหลังวันที่ 17 มิถุนายน 2568 ถึงจะนำร่างกฎหมายนี้มาพิจารณาใหม่ได้