svasdssvasds

กกพ.ตรึงราคาค่าไฟ 4.18บาท/หน่วย ในงวด ก.ย. - ธ.ค. 67จากนี้ค่าไฟจะเป็นยังไง ?

การประชุม กกพ. มีมติเห็นชอบ ตรึงค่าไฟ 4.18 บาท/หน่วย หลังจากเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นโดยให้แนวทางทั้งหมด 3 กรณี แต่หลังจากงวด ก.ย. - ธ.ค. 67 ค่าไฟจะมีแนวโน้มไปในทิศทางไหน ?

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า ค่าไฟบ้านเรามาจากอะไร ค่าไฟบ้านเรามีโครงสร้างกี่ส่วน และแพงจากส่วนไหน

โดยค่าไฟที่อยู่ในบิลจะประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้ ส่วนแรก คือ
ค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งจะคำนวณจากตัวเลขของปี 2558 เป็น ค่าไฟที่คิดมาจากต้นทุนค่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้า การลงทุนก่อสร้างเพิ่มขนาดสาย เพิ่มความยาวสาย โครงข่ายสายส่ง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งตายตัว และจะมีวงรอบการทบทวน ทุก ๆ 3 - 5 ปีครับ

ต่อมาส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่เราได้ยินติดหูกันบ่อยที่สุด นั่นก็คือ
ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือที่เรียกกันว่า “ค่าเอฟที” นั่นเองครับ

ซึ่ง “ค่าเอฟที” จะคำนวณจากส่วนต่างของต้นทุนเชื้อเพลิงจริง ๆ ตามแต่ละช่วงเวลา กับต้นทุนเชื้อเพลิงในฐานในปี 2558 เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่ตรงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด ตรงนี้วงรอบในการทบทวนทุก ๆ 4 เดือน และจะมีการประกาศก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ 1 เดือน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีการปรับตัวรับค่าไฟใหม่ เช่น
การประกาศค่าไฟงวดสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งได้มีการประกาศไปเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

ส่วนที่ 3 ค่าบริการรายเดือน ค่าใช้จ่ายที่ไม่เพิ่มหรือลดตามปริมาณการใช้ไฟฟ้า เช่น ค่าจดมิเตอร์ ค่าทำใบเสร็จ ค่าส่งใบเสร็จ 

ส่วนสุดท้าย คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

แต่ส่วนหลักๆที่มีส่งผลให้ค่าไฟ ถูก หรือแพง นั่นก็คือ ค่าเอฟทีครับเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ค่าเอฟที หลัก ๆ คำนวนจากค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งมีผลต่อราคาเชื้อเพลิงทุกประเภทที่ต้องคำนวนด้วยอัตราแลกเปลี่ยน และส่วนสุดท้ายที่สำคัญ คือ การคำนวนประมาณการการใช้ไฟฟ้าในแต่ละรอบ 3 ตัวหลักนี้ มีผลต่อค่าเอฟที ซึ่งเป็นส่วนหลักของค่าไฟในแต่ละงวด

พอเข้าใจกันแล้วใช่ไหมครับว่า ค่าเอฟที คือ ปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนค่าไฟเพิ่ม และสุดท้ายมีผลทำให้ค่าไฟแพงขึ้น หรือถูกลง แต่ช่วงนี้ที่เรารู้สึกว่ามันแพงขึ้นมาโดยตลอด ก็เพราะ 3 ตัวหลักที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้นนะครับ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งเราต้องนำเข้าจาก ตปท. เพราะเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในประเทศ เช่น
ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมีไม่พอกับความต้องการใช้ โดยเฉพาะเพื่อผลิตไฟฟ้า จึงเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ และราคาที่ขึ้นลงมีผลต่อต้นทุนและค่าไฟ

รู้หรือไหมครับ ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่พลังงานสะอาด เพื่อลดภาวะโลกร้อน และไทยก็เช่นเดียวกันครับ ก็ต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน วันนี้ ประเทศไทย พึ่งพาก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้ามากเกินครึ่งหนึ่งของเชื้อเพลิงทั้งหมด

ชัดเจนครับ ไทยเราต้องพึ่งก๊าซ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า ถามว่า ทำไม?

ก็เพราะว่า โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ เป็นโรงไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่า ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุดประเภทหนึ่งในบรรดาเชื้อเพลิงทั้งหลาย หลายคนอาจจะเถียงว่า ทำไมเราไม่ผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด หรือลม หรือพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ที่มองเผิน ๆ เหมือนกับว่าไม่ต้องซื้อหามา เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ก็มีส่วนจริงครับ แต่ทุกท่านรู้ไหมครับว่า พลังงานหมุนเวียน มีข้อดี แต่ก็มีข้อเสียด้วยด้วย เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ครับ วันไหนลมไม่พัด แดดไม่ออก ฝนตก เราจะเอาไฟที่ไหนใช้ ก็แน่นอนครับ ก็ต้องกลับมาที่ ระบบหลักที่พึ่งพาได้ นั่นก็คือ โรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิง จึงเป็นที่มาที่เราอาจได้ยินบ่อย ๆ ว่า พลังงานหมุนเวียนดี แต่พึ่งพาไม่ได้ เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง

รู้หรือไม่ว่า ไทยมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ที่มาผลิตไฟฟ้า ปีหนึ่ง ๆ มีมูลค่าสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ถึง 2 แสนล้านบาท โดยข้อมูล จากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ไทยนำเข้าจากเมียนมา มากสุด 29% ตามด้วย กาตาร์ 21% ออสเตรเลีย 18% มาเลเซีย 8% ไนจีเรีย 7% สหรัฐอเมริกา 4% โอมาน 3 % UAE 2% และ อื่นๆ อีก 8% จะเห็นได้ว่าเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติมาในปริมาณมหาศาล

นั่นละครับ ก๊าซจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นหรือถูกลงมากที่สุด วันนี้สัดส่วนค่าเชื้อเพลิง เป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้าเกินครึ่งครับ

2 - 3 ปีที่ผ่านมาเราเจออะไรครับ เราเจอภาวะก๊าซที่แพงมหาโหด  ซึ่งเป็นเหตุจากทั่วโลกต้องการก๊าซจำนวนมาก แต่ปริมาณและกำลังการผลิต ที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิดไม่เพียงพอ ไม่ทันต่อความต้องการ  ดันราคาก๊าซให้เพิ่มขึ้นพรวดพราดเท่านั้นยังไม่พอ ถูกซ้ำด้วยสงครามรัสเซีย และยูเครน นำไปสู่การคว่ำบาตร ของชาติมหาอำนาจตอบโต้กันไปมา ก๊าซที่แพงอยู่แล้ว ก็ถูกซ้ำเข้าไปอีก
นั่นแหละครับ ที่ผมใช้คำว่า มหาโหด 

แต่สบายใจได้หน่อยครับ เมื่อได้ฟัง ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. บอกว่า ราคาก๊าซในตอนนี้เริ่มลดลงเรื่อยๆ  แม้จะมีการขยับขึ้นอยู่บ้างในช่างฤดูหนาว ซึ่งก็เป็นปกติครับ  แต่สงครามก็ยังเดินหน้าสู้รบกันแบบจำกัดวง แต่ก็นั่นหละครับ ไม่มีอะไรที่แน่นอน ก็ต้องตามดูกันไป 

สรุปให้ฟังตรงนี้ว่า ค่าไฟ งวดต่อไป แม้ว่าราคาเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้าจะดีขึ้น เราก็คงต้องเปิดโอกาสให้ รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ได้รับการแบ่งเบาภาระ ไม่ว่าจะเป็นการทยอยใช้คืนผ่อนชำระ หรือใด ๆ ก็ตาม ตรงนี้ แน่นอนครับ มันมีผลต่อค่าไฟ
คืนมากคืนน้อย ผ่อนยาวผ่อนสั้น เป็นภาระที่ต้องช่วยกัน แต่วันนี้ เราโชคดีที่ กกพ. ยังดูแลให้เราอย่างเต็มที่

related