svasdssvasds

โมเดลองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ต้นแบบความสำเร็จ เจรจาพื้นที่ OCA ไทย – กัมพูชา

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หรือ OCA ไทย -กัมพูชา เป็นที่ที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศมีความพยายามในการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันมานานนับ 10 ปี ถ้าหากสามารถเจรจาตกลงกันได้ ค่าไฟของประเทศไทยจะลดลง สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตของคนไทยที่จะดีขึ้น

“OCA” ย่อมาจาก “Overlapping Claims Area” หรือ พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล มันคือพื้นที่ที่ 2 ประเทศอ้างสิทธิ์ว่าเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล อย่าง ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ หรือแม้แต่ทรัพยากรทางประมง ก็มีส่วนเช่นกัน ซึ่ง OCA ที่เราพูดถึงกันในที่นี้ก็คือ พื้นที่ทับซ้อนระหว่าง ไทย กับ กัมพูชา ที่บริเวณอ่าวไทย กินพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร และมีการแบ่งพื้นที่บริเวณนี้ออกเป็น 2 ส่วน ด้วยเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือ

ส่วนแรก คือส่วนด้านบน มีพื้นที่ทั้งหมด 10,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่ทั้งสองประเทศต้องเจรจาเรื่องเขตแดน

ส่วนที่ 2  ส่วนล่างมีพื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่กำหนดให้ทั้ง 2 ประเทศ มีส่วนร่วมในการพัฒนาและใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือ Joint Development Area หรือ JDA

นอกเหนือจากเรื่องของอธิปไตยของแต่ละประเทศแล้ว พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว ยังเชื่อว่ามีทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า ที่สามารถทำให้เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้ง 2 ประเทศดีขึ้นได้ นั้น คือ ก๊าซธรรมชาติ ที่ไทยใช้ผลิตไฟฟ้า มากถึง 60 % 

จากข้อมูลปี 2566 ไทยต้องการก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 4,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ 50 % และอีก 20 % มาจากเมียนมา ส่วน 30 % ที่เหลือ เรานำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่ง 30 % ที่ว่านี้นี่แหละ ที่ราคานำเข้าสูงกว่าก๊าซที่ผลิตจากภายในประเทศและยังมีความผันผวนตามกลไกตลาดโลก ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าบ้านเราสูงขึ้น รัฐบาลไทยมีความพยายามในการเจรจาพื้นที่ OCA ตรงนี้มานานหลายสิบปีในหลายรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลของนายกเศรษฐาเองก็เช่นกัน

แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่มีโอกาสที่จะเจราจากับกัมพูชาได้สำเร็จ ก่อนหน้าเราก็เคยมีกรณีที่เคยเจรจาสำเร็จมาแล้ว จากการเปลี่ยนพื้นที่พิพาทมาเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกันระหว่าง ไทย- มาเลเซีย ซึ่งก็มีความคล้ายกับกรณีของ ไทย-กัมพูชา เนื่องจากแต่ละประเทศมีการอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ในบริเวณอ่าวไทยตอนล่างโดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 7,250 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าว ห่างจากจาก สงขลา 260 ก.ม. ห่างจากปัตตานี 180 ก.ม. และห่างจากเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ของมาเลเซีย 150 ก.ม.

ทั้ง 2 ประเทศ เริ่มเจรจากันตั้งแต่ปี 2515  จนสามารถตกลงแบ่งผลประโยชน์จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน 50:50 ใช้เวลาพูดคุยเจรจา ทำข้อตกลง รวมถึงจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย และสามารถเริ่มขุดเจาะหาก๊าซธรรมชาติได้จริงครั้งแรกในปี 2548 โดยใช้เวลานานถึง 33 ปี ความสำเร็จจากการเจรจาความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนา เพื่อนำทรัพยากรทางทะเลขึ้นใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน จนสร้างรายได้และความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้ง 2 ประเทศ จากข้อมูลธรณีวิทยาในการประเมิณผลข้อมูลสำรวจในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ที่จะพบก๊าซธรรมชาติมากถึง 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และถ้าพูดให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในปีงบประมาณ 2565 ไทยจัดเก็บรายได้จากการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย ถึง 11,991 ล้านบาท รวมถึงสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จำนวน 62,858 ล้านบาท

แน่นอนว่า ถ้ารัฐบาลไทยสามารถเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันระหว่าง ไทย-กัมพูชา เหมือนกับกรณี ไทย-มาเลเซีย ประเทศไทยของเราจะสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากร แหล่งพลังงานธรรมชาติที่อยู่ใต้ทะเลในพื้นที่แห่งนี้ได้ ซึ่งนั้นก็จะทำให้เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นไม่มากก็น้อย ค่าไฟที่สูงขึ้นในปัจจุบัน 4 บาทกว่า อาจจะลดลงมาเหลือ3 บาท ต่อหน่วยได้ 

และก็ขอยืนยันอีกครั้งว่าการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนนั้นประเทศ จะไม่มีเรื่องของการเสียพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียวให้กับกัมพูชา แต่เป็นการเจรจาเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้ง 2 ประเทศนั้นเองครับ

related