สรุปให้! พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปราบอาชญากรรมออนไลน์ บังคับใช้วันนี้ ใครถูกหลอกโอน โทรบอกธนาคารให้ฟรีซบัญชีได้ ส่วนคนรับเปิดบัญชีม้ากับรับเปิดซิมมือถือให้คนอื่นเอาไปหลอกลวง มีความผิดมากขึ้น ติดคุกสูงสุด 5 ปี
พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปราบอาชญากรรมออนไลน์ โดยพระราชกำหนดนี้ เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผ่านโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และในแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายสูงมาก รวมถึงเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศความปลอดภัยของสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
โดยการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (17 มีนาคม 2566) เป็นต้นไป หากสรุปให้เข้าใจง่าย
สำหรับคนธรรมดา ถ้าคิดว่าตัวเองถูกหลอกโอนเงิน เช่น โดนแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ หรือถูกแอปฯดูดเงิน ดูดเงินในบัญชีเราไป สามารถโทรแจ้งธนาคารได้ทันที เพื่อระงับบัญชีชั่วคราวไม่ให้คนร้ายเอาเงินเราออกไปอย่างทันท่วงที และให้แจ้งความตำรวจไม่ว่าจะสถานีตำรวจในท้องที่หรือแจ้งความออนไลน์ เพื่อให้ระงับบัญชีตรวจสอบเส้นทางการเงินต่อ เพราะธนาคารระงับได้แค่ 72 ชั่วโมง แต่ถ้าเรื่องส่งถึงมือตำรวจจะระงับต่ออีก 7 วันได้
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ส่วนคนรับเปิดบัญชีม้า และซิมม้า หรือ รับจ้างเอาชื่อตัวเองไปเปิดบัญชีธนาคารให้คนอื่นใช้หลอกลวง หรือ เปิดซิมมือถือ เพราะเดี๋ยวนี้ซืมมือถือต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน
ดังนั้นใครที่รับเปิดบัญชีม้า “เพื่อนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย” มีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนใครที่โพสต์ว่ารับเปิดบัญชีม้า หรือรับหาคนก็มีความผิดนะ ติดคุกสูงสุด 5 ปี ปรับสูงสุด 5 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนภาครัฐ กฎหมายนี้ไม่ได้ออกมาเพื่อเอาผิดประชาชนอย่างเดียว เพราะกฎหมายนี้ออกมาให้ภาครัฐคุยกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อให้ป้องกันความเสียหายได้และช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
“เมื่อ พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมออนไลน์ ประกาศใช้แล้ว ผู้เสียหายสามารถแจ้งธนาคารระงับบัญชีม้าได้ทันที ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญ ที่รัฐบาลผลักดันออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ และปัญหาอาชกรรมทางออนไลน์ทั้งหมด คาดว่าปัญหาจะลดลงอย่างแน่นอนสำหรับบทลงโทษสูงสุดของผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าว