สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง บุ๊ค Elevenfinger ที่ประกาศตัวตนผ่านเพลงแร็ป สะท้อนให้เห็นถึงความใฝ่ฝัน ความเหลื่อมล้ำ ความเป็นจริง ความเจ็บปวด และความสุข ที่เดิมพันด้วยอนาคต เพื่อจะได้ทำในสิ่งที่ตนหลงใหล
SPRiNG คุยกันแบบ Rap Rap กับ บุ๊ค - ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ Elevenfinger เด็กหนุ่มที่เกิดและเติบโตในชุมชนคลองเตย ที่ค้นพบว่า เขาเกิดมาเพื่อเป็นแร็ปเปอร์ จึงทุ่มเทเพื่อความฝันอย่างหมดหน้าตัก และวางเดิมพันด้วยอนาคตของตัวเอง
โดยเรื่องราวของบุ๊คได้ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สารคดี “School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน” ที่เพิ่งได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ไปหมาดๆ
แนวคิดของบุ๊ค อาจถูกใจ สะใจ หรืออาจไม่ถูกใจใครหลายๆ คน แต่ถ้าเราเปิดใจเรียนรู้ และทำความเข้าใจ ก็อาจทำให้เห็นถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทย ทั้งความเหลื่อมล้ำ ระบบอำนาจนิยมที่ล้าหลัง ซึ่งไม่เพียงทำลายความใฝ่ฝันของเยาวชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ธนายุทธ ณ อยุธยา : ผมรู้สึกว่าเพลง RAP มันเหมือนเพื่อน แนวอื่นๆ อาจไม่ต่างกันมาก แต่ว่าแร็ปเนี่ยมันคือวัฒนธรรม เป็นสื่อกลางในการเล่าเรื่อง ที่มันพูดถึงเรื่องสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ หรือการกดทับ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
ผมเห็นว่า สิ่งนี้มันสามารถมาทำให้เข้ากับบ้านเกิดเราได้ สามารถนำมาเล่าเรื่องคลองเตย เรื่องผู้คนได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นในสังคมเราเป็นประจำอยู่แล้ว แล้วผมรู้สึกว่า สิ่งนี้มันสามารถอยู่เป็นเพื่อนเราได้ รู้สึกว่าสิ่งนี้เราสามารถนำมาใช้สื่อสารหลายๆ อย่างได้
จึงรู้สึกว่า ผมต้องทุ่มเทชีวิตของผมให้กับมัน (RAP) เพราะว่ามันทำให้ผมมีความสุข และเป็นสิ่งสำคัญที่ผมควรจะเล่าเรื่องราวเหล่านี้ออกไป
ธนายุทธ ณ อยุธยา : มีบางครั้งไหมที่ผมรู้สึกไม่โอเค ก็จะเป็นช่วงตอนเด็กๆ มากกว่า เพราะว่าตอนนั้นภูมิคุ้มกันยังอ่อนอยู่ แบบว่า ยังไม่ค่อยแข็งแรง
แต่พอตอนนี้โตขึ้นแล้ว ผมรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว คนที่เขามองเข้ามาไม่ดี มันเป็นเพราะความไม่รู้ของเขา เพราะความที่เขาไม่สามารถจะเข้าถึงความเป็นคลองเตยได้ ผมจึงรู้สึกว่า ถ้าทำให้เขาเข้าถึงความเป็นคลองเตยได้เนี่ย เขาคงจะเลิกมองในมุมมองแบบนี้
ผมจึงรู้สึกว่า มันควรจะเป็นการปรับความเข้าใจกัน เป็นการพูดคุยกัน มากกว่าการมาเกลียดกัน เราควรให้เกียรติกันในสังคม
เพราะว่าคนเรามันก็คนเหมือนกัน คลองเตยกับสุขุมวิท ห่างกันแค่เพียงถนนกั้นเท่านั้น แต่ผู้คนมองความเหลื่อมล้ำห่างกันมากเลย คลองเตยนี่แบบเหมือนอีกโลกหนึ่งเลย สุขุมวิทก็แบบเหมือนสวรรค์ ทั้งๆ ที่มันอยู่ใกล้ๆ กันเอง
เราไม่ควรมองว่ามันห่างกัน เราไม่ควรมองว่ามันแตกต่าง หรือไม่มีความเท่าเทียบกัน เพราะว่าทุกที่ คนก็คือคนเหมือนกันหมด ทำมาหากิน หรือใช้ชีวิตก็เหมือนกันหมด
เอาจริงๆ สมัยก่อน คนอาจจะมองคลองเตย เป็นภาพของความโหดร้าย เรื่องของอาชญากรรม หรือปัญหาของยาเสพติดบ้าง แต่ตอนนี้ก็ลดลงมาเยอะมากแล้ว ซึ่งเอาจริงๆ มันก็มีทุกๆ ที่ ยาเสพติด แต่ว่ามันก็เปลี่ยนไปตามฐานะของผู้คน คนรวยก็ใช้ยาเสพติดอีกแบบหนึ่ง คนจนก็ใช้ยาเสพติดอีกแบบหนึ่ง
ซึ่งจริงๆ ยาเสพติดมันก็มีอยู่ทุกที่แหละครับ แต่ว่าคนอาจจะเลือกมองคลองเตยนิดนึง เพราะว่าคลองเตยก็เป็นแบบชุมชนแออัด แต่ตอนนี้สิ่งเหล่านี้มันก็แบบเริ่มหายไปแล้ว ผมก็เลยอยากจะเสนอมุมมอง ให้ผู้คนได้เห็นในมุมมองใหม่ๆ บ้าง
คลองเตยเนี่ย ผู้คนไม่เคยจะเข้ามาลองกันเลย แต่พวกคุณก็คิดไปต่างๆ นานาว่า มันมีอย่างนี้นะ แต่จริงๆ มันมีอีกด้าน ที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน มีสนามกีฬาให้เด็กได้เล่นกีฬากัน มีคนที่หลงใหล และชอบในเสียงดนตรีเหมือนผม
หรือหลายคนที่ชอบทำในสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งพวกคุณควรจะเปิดใจมองพวกเขา และให้โอกาสพวกเขาในการใช้ชีวิตในสังคม ผมก็เลยอยากจะเล่าเรื่องเหล่านี้ใส่ในเพลง ผู้คนข้างนอกเขาจะได้รู้ว่า มันมีอย่างนี้อยู่จริงในสังคมนี้
ธนายุทธ ณ อยุธยา : ใช่ครับ ผมคิดว่า คนมีฐานะ เขาก็อาจจะไปเรียนร้องเพลงได้ สามารถไปเรียนดนตรี หรือสิ่งที่เขาอยากจะเป็นได้ แต่ว่าในส่วนตัวผมเองเนี่ย ไม่มีทุนทรัพย์พอ เราก็ต้องใช้ความมุ่งมั่น พยายาม ผมก็ต้องใช้ร่างกายเยอะๆ คิดเยอะๆ
แล้วก็ต้นทุนมีน้อยกว่าคนอื่นอยู่แล้ว แต่ว่าผมก็เปลี่ยนจากต้นทุนนี้ บวกแรง บวกสมองเข้าไปด้วย แล้วก็ทุ่มเทกับสิ่งที่ผมรัก เพราะฉะนั้นเนี่ย ผมก็สามารถที่จะเป็นเหมือนคนที่เขามีเงินได้ เขามีเงินเขาสามารถจะเรียน แต่ผมต้องทุ่มเทด้วยความสามารถของผม
ผมคิดว่า ถ้าคนเราทุ่มเททำตามความฝันเนี่ย โดยที่เราไม่สนใจว่า สิ่งนั้นมันจะถูกหรือผิดเนี่ย เราเพียงแค่เรียนรู้กับมัน แล้วก็อันไหนที่เราทำแล้วมีความสุข แล้วเราไม่ลำบากคนอื่น แค่นั้นก็โอเคแล้ว
ธนายุทธ ณ อยุธยา : ช่วงนั้นผมรู้สึกว่า ผมไม่มีความสุขน่ะครับ ช่วงวัยเรียนผมรู้สึกว่า มันคับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก ผมรู้สึกว่าอยู่ที่ไหนมีความสุข ผมก็อยากจะอยู่ที่นั่น แต่ผมเรียน แล้วผมรู้สึกอึดอัด ไม่มีความเป็นตัวเอง แล้วผมตอบคำถามกับตัวเองไม่ได้ เรียนไปแล้วจะเอาไปใช้อะไรวะ ผมตอบคำถามตัวเองไม่ได้
ผมรู้สึกว่า เฮ้ย เราไม่จำเป็นต้องเรียนก็ได้นะ เพราะว่าในแขนงวิชาชีพเราเนี่ย มันไม่จำเป็นต้องใช้วุฒิการศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง ในเรื่องของดนตรี งานศิลปะ มันอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ หรือความคิดแปลกใหม่ ที่เราเอามาประกอบกับงานที่เราจะทำได้
ซึ่งผมลาออกก่อนที่จะจบ ม.6 ประมาณ 10 กว่าวันเท่านั้น น้อยคนน่ะครับที่จะทำแบบนี้ เพราะเหมือนทิ้งอนาคต 3 ปีไปเลย แต่ผมรู้สึกว่า ผมไม่เสียดายเลยนะ ผ่านมา 2 ปี แล้วผมรู้สึกว่า ตัดสินใจถูกแล้วที่ออกมา ผมสามารถดูแลครอบครัว แล้วสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ผมรู้สึก แม่งมีความสุขกว่า ตอนที่ผมอยู่โรงเรียนด้วยซ้ำ
ธนายุทธ ณ อยุธยา : ซึ่งในโรงเรียนมันไม่ตอบโจทย์อยู่แล้ว ผมรู้สึกว่า โลกภายนอก มันเหมาะกับการเรียนรู้อย่างแท้จริง ผมรู้สึกว่า คนบางคนเลือกลาออกมาจากโรงเรียน เขาไม่ได้รู้สึกว่าขี้เกียจไปเรียนหรอก แต่เขาอยากจะออกมาหาความรู้จริงๆ ที่มันเจอได้จากโลกภายนอก
โอเค มันอาจจะโหดร้ายไปสักหน่อย แต่ว่ามันคือโลกจริงๆ ที่เราเรียนรู้ได้จริงๆ
ธนายุทธ ณ อยุธยา : ผมอยากจะให้ตัวอาจารย์เข้าใจนักเรียนมากขึ้น ในเรื่องของการให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริง ไม่ใช่กดขี่ หรือบังคับเขาให้ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ แต่ต้องให้เขาทำในสิ่งที่เขาอยากทำ
สอนให้เขาเป็นเขา ไม่ได้สอนให้เขาเป็นเรา แค่นั้นแหละผมว่า การศึกษามันจะพัฒนาได้ แล้วผู้คนจะสามารถทำตามความฝันได้อย่างมีความสุข