นายกรัฐมนตรี ย้ำ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 มุ่งเน้นช่วยเหลือ เยียวยาทุกด้านอย่างครอบคลุม เผยวัคซีนโควิด-19 ได้ล็อตแรก 5 หมื่นโดส มอบ สธ. พิจารณาเพิ่มเติมเพื่อให้ไทยได้รับวัคซีนตามแผน
วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2564) เวลา 16.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมพูดคุยถึงมาตรการเยียวยาประชาชน พร้อมแสดงความห่วงใยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผ่าน PM PODCAST สรุปประเด็นดังนี้
ในช่วงแรกนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยมุ่งเน้นการป้องกัน ดูแล ช่วยเหลือ เยียวยา ในทุกด้านอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะมาตรการเราชนะ ที่จะดูแลผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย เกษตรกร รวมถึงผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สามารถดูแลตนเองได้ในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขโครงการเราชนะ ขยายขอบเขตผู้ประกอบการ ร้านค้าหรือบริการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งร้านธงฟ้า ร้านค้าในโครงการคนละครึ่ง ผู้ประกอบการของกองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชนที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง หรือเป็นผู้ให้บริการประเภทรถที่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคล และกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ อีกทั้งได้เห็นชอบในหลักการให้ช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรียังชี้แจงกรณีการเรียกคืนเบี้ยผู้สูงอายุ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และชะลอการเรียกเก็บเบี้ยดังกล่าวก่อน
สำหรับความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อให้ได้วัคซีนบางส่วนเร็วขึ้น ในเบื้องต้นคาดจะได้มาก่อนประมาณ 5 หมื่นโดส ฉีดให้แก่บุคลากรด่านหน้า สาธารณสุข บุคลากรในพื้นที่เสี่ยง และขยายไปยังส่วนอื่น ๆ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาเพิ่มเติม ให้ประเทศไทยได้รับวัคซีนตามแผนที่กำหนดไว้ทั้งในส่วนที่จองไปแล้ว และจัดหาเพิ่มเติมจากประเทศอื่นที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้จัดทำแผนแจกจ่ายวัคซีนทุกกลุ่มประชาชนตามความเสี่ยง รวมทั้งแผนการขนส่งในพื้นที่ห่างไกล พร้อมย้ำว่าภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้โดยจะต้องได้รับการอนุญาตและรับรองจากองค์การอาหารและยาด้วย
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีตอบคำถามประชาชนกรณีผู้ลงทะเบียนโครงการเราชนะที่ไม่มีสมาร์ทโฟนว่า ในกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะได้รับเงินอัตโนมัติ ส่วนผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถลงทะเบียนได้ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป
สำหรับการเปิดการเรียนการสอนเด็กเล็กในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการต้องมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มข้น เช่น การคัดกรองจุดรับ-ส่ง การปฏิบัติตัวของเด็กและครู การจัดการสภาพแวดล้อม ให้ดำเนินการอย่างรัดกุมมากที่สุด ในส่วนของค่าเทอมที่เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวทางอย่างชัดเจนในการคืนให้บางส่วน ซึ่งจะเป็นข้อตกลงกันระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง โดยแนวทางดังกล่าวสามารถใช้ได้ทั้งโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน