ประเพณีตักบาตรท้องน้ำ ณ วัดสุวรรณาราม ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นประเพณีที่อยู่กับชุมชนคลองมหาสวัสดิ์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ เป็นการสืบสานประเพณี วัฒนธรรมอันเก่าแก่ของไทยและคนในท้องถิ่นวิถีชีวิตริมคลองมาสวัสดิ์แต่ดั้งเดิม อีกทั้งยังมีความเชื่อในอดีตว่าเป็นการทำบุญขอขมาพระแม่คงคาและอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่จมน้ำเสียชีวิตในคลองมหาสวัสดิ์ การจัดพิธีตักบาตรท้องน้ำจึงเป็นกุศโลบายภูมิปัญญาพื้นบ้านในการทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองช่วยกันดูแลคลองและระมัดระวังบุตรหลานไม่ให้ตกน้ำ โดยพิธีตักบาตรท้องน้ำพระสงฆ์จะบิณฑบาตรทางเรือ โดยมีพุทธศาสนิกชนจะนำเรือที่ใช้ชีวิตประจำวันมาจอดเรียงรายอยู่ริมฝั่งหรือบนเรือเพื่อร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งกันเป็นจำนวนมาก และยังมีกิจกรรมมากมายจนถึงช่วงเย็น อาทิ การปล่อยพันธุ์ปลา การแสดงเพลงเรือ แม่ศรีนวล พิธีนี้เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระครูวิชัยวุฒิคุณ (หลวงพ่อดี สุวัณโณ) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม ด้วยการริเริ่มของ นายถาวร เทียมปฐม ไวยาวัจกรวัดในขณะนั้น ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของทุกปี