ตึกร้างจำนวน 8 ตึก ซ่อนเร้นอยู่ในป่ารกชัฏ ภายในซอยจรัญสนิทวงศ์ 95/1 แปรสภาพกลายเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ถ้าโครงการห้องชุดแห่งนี้สร้างเสร็จ คงกลายเป็นคอนโดมิเนียมหรูกลางใจเมือง
จากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี พ.ศ.2540 เกิดการล่มสลายของอสังหาริมทรัพย์ การล้มเหลวของเศรษฐกิจ ทำให้โครงการถูกระงับการก่อสร้าง และถูกธนาคารยึดในเวลาต่อมา คอนโดมิเนียมห้องชุดสุดหรูจึงถูกจับจองโดยคนไร้บ้านที่ดิ้นรนใช้ชีวิตในเมืองหลวง แต่ยังคงหลงเหลือสภาพการออกแบบอาคารร่วมสมัยสไตล์สถาปัตยกรรมกรีกโรมันให้เห็นอยู่บ้าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“เราเข้าใจความเจ็บปวด” ครูประทีป มอบถุงยังชีพ ช่วยชาวชุมชนตึกร้างบางพลัด
คืนล็อคดาวน์ ของคนไร้บ้าน ผลกระทบจากที่รัฐบาลออกมาตราการล็อคดาวน์
ชุมชนตึกร้างนี้มีผู้อยู่อาศัยกว่า 45 ครอบครัว บ้างถูกไล่ที่มาจากที่อื่น บ้างมากับแคมป์คนงานตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการ การจับจองห้องพักก็ไม่มีอะไรมาก ใครใคร่อยู่ชั้นไหนห้องไหนก็ขนของเข้าไปอยู่แบ่งสันปันส่วนห้องต่างๆ ตามแต่ความสะดวกสบาย ส่วนไฟฟ้า และน้ำประปา ได้รับความช่วยเหลือแบ่งปันจากผู้ที่มาอยู่อาศัยก่อนลากสายต่อท่อส่งต่อกันมาเรื่อยๆ แล้วถัวเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
ผู้คนที่อยู่อาศัยในตึกร้าง ต่างวาดฝันอยากมีบ้านที่สะดวกสบายเป็นของตัวเองมากกว่าที่ต้องมาบุกรุกอาศัยอยู่ในพื้นที่ของคนอื่นแบบนี้ แต่จะให้ไปอยู่ที่ไหนยิ่งมาเจอกับการระบาดของโควิด-19 รายได้ที่หาได้น้อยอยู่แล้วก็น้อยลงไปอีก ครั้นจะให้ไปหาเช่าบ้านก็ลำบากแสนเข็ญ
สาธารณูปโภคต่างเริ่มคืบคลานเข้ามาทีละน้อย ทางด่วนพิเศษศรีรัชตัดผ่านที่ดินด้านหลังตึกร้าง และห่างไปไม่ถึง 1 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้า MRT บางอ้อ ความเจริญเริ่มเคลื่อนตัวบีบรัดชุมชนตึกร้างเข้ามาทีละน้อย บ่งชี้ได้ว่าอีกไม่นานอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งบนที่ดินผืนนี้ และเมื่อวันนั้นมาถึงผู้ที่อาศัยในชุมชนตึกร้าง 100 กว่าชีวิต ได้แต่ฝากความหวังไว้ที่หน่วยงานของรัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ