GISTDA ได้รับแจ้งเตือนจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบ 1.2% จากชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B) ตกในวันที่ 31 ก.ค. นี้ พร้อมติดตามสถานการณ์และพื้นที่เสี่ยงที่จะได้ต้องระวังอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (29 กรกฎาคม) ทางเฟซบุ๊กเพจของ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้โพตส์ข้อมูลที่เพิ่งได้รับจาก GISTDA โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Research Center
พบว่ามีการแจ้งเตือนชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B) ที่จะตกสู่พื้นโลกในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565
และอาจส่งผลกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากวัตถุอวกาศนี้ผ่านประเทศไทยทุกวัน (โคจรตามเส้นสีเขียวดังภาพ) โดยวัตถุอวกาศดังกล่าวมีน้ำหนักประมาณ 21 ตัน (ระหว่างที่วัตถุอวกาศกำลังตกสู่โลกนั้น จะมีน้ำหนักน้อยกว่านี้ เนื่องจากจะมีบางส่วนถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ) การปฏิบัติภารกิจของลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B) ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2565 เพื่อนำเวิ่นเทียน (Wentian) ซึ่งเป็นโมดูลที่ 2 มาเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนเหอ (Tianhe)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักบินอวกาศทำการทดลองวิจัยในอวกาศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เทศกาล บางกอกวิทยา เปิดห้องเรียนวิทย์ ขนาดใหญ่ ที่ กทม. สิงหาคมนี้
20 ก.ค. 2022 : ครบรอบ 53 ปี นีล อาร์มสตรอง เหยียบดวงจันทร์ ภารกิจ Apollo 11
เผยภาพแรกสุดชัด กระจุกกาแล็กซี้ SMACS 0723 จากกล้องเจมส์ เว็บบ์
สำหรับการแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลกในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA ได้ใช้ระบบการจัดการจราจรอวกาศ (Space Traffic Management System) หรือ ZIRCON ที่ทีมนักวิจัยของ GISTDA พัฒนาขึ้น ทำการวิเคราะห์และคาดการณ์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันศูนย์วิจัยดังกล่าว มีการวิจัยพัฒนาขีดความสามารถของระบบอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากฟังก์ชั่นการคาดการณ์ติดตามวัตถุอวกาศตกสู่โลก แล้วยังพัฒนาฟังก์ชั่นอื่นๆที่จะเป็นประโยชน์เพิ่มเติมในอนาคต เช่น การแจ้งเตือนภัยจากสภาพอวกาศ (Space weather) เป็นต้น อีกด้วย
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ณ วันนี้ ประเทศไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบเพียง 1.2% ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม GISTDA จะติดตามสถานการณ์และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการตกของชิ้นส่วนจรวดนี้อย่างใกล้ชิด และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
photo credit: CNN WORLD
vdo credit: S-TREC GISTDA
ที่มา
GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)