ทำผิดซ้ำซาก! กลุ่มแฟนบอลจุดพลุแฟร์ ขว้างลงสนาม หลังเกมช้างศึก U17 พ่ายเกาหลีใต้ 1-4 พลาดตั๋วไปฟุตบอลโลก 2023 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพ
ควันหลงหลังจากศึกฟุตบอล U 17 ชิงแชมป์เอเชีย (รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี) วันที่ 25 มิถุนายน 2566 เป็นการแข่งขันในรอบ 8 ทีมสุดท้าย "ช้างศึก" ทีมชาติไทย ลงสนามพบ เกาหลีใต้ ฟาดแข้งกันที่ปทุมธานี สเตเดียม โดยเกมนี้มีตั๋วไปเล่นฟุตบอลโลก U17 เป็นเดิมพัน ไทยเข้ารอบมาในฐานะแชมป์ของกลุ่ม เอ ส่วน เกาหลีใต้ เข้ารอบมาในฐานะรองแชมป์กลุ่ม บี ผลการแข่งขัน ช้างศึก U17 ต้านไม่ไหว พ่าย "เกาหลีใต้" ขาดลอย 1-4 ชวดตั๋วไปลุยฟุตบอลโลก 2023 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพ ชมคลิป
หลังจบเกม แฟนบอลกลุ่มหนึ่งได้จุดพลุแฟร์ ขณะที่แข้งทีมชาติไทยจูเนียร์ ได้เดินไปขอบคุณแฟนบอลกลุ่มดังกล่าวที่เดินทางมาเชียร์ที่สนาม ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎการแข่งขัน โดยเป็นการทำต่อหน้าฝ่ายจัดแข่งขัน คือ เอเอฟซี AFC ซึ่งมีโทษได้หลายกรณี เริ่มตั้งแต่ปรับเงิน ไปจนถึงห้ามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทุกรายการที่ เอเอฟซี ดูแล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ไทย - เกาหลีใต้ วิเคราะห์บอล U17 ชิงแชมป์เอเชีย หากชนะได้ไปชิงแชมป์โลกทันที
• ไทย - เกาหลีใต้ ดูบอลสด ฟุตบอล U17 ชิงแชมป์เอเชีย รอบ 8 ทีมสุดท้าย
• เงื่อนไข ทีมชาติไทย U17 ไปบอลโลก โปรแกรมฟุตบอลไทย ยู17 รอบ 8 ทีมสุดท้าย
ซึ่งก่อนหน้านี้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เคยถูก เอเอฟซี ลงโทษปรับเงินมากกว่า 1,400,000 บาท จากกรณีที่มีแฟนบอลกลุ่มหนึ่งจุดพลุแฟลร์ในสนามเมื่อปี 2557 และ 2559
• เหตุการณ์ล่าสุด ถูกคณะกรรมการ เอเอฟเอฟ ปรับเงิน เฉียด 700,000 บาท หลังแฟนบอลได้จุดพลุแฟร์ ในศึกอาเซียน คัพ 2022 รอบแบ่งกลุ่ม กับ ฟิลิปปินส์
• รวมไปถึงกรณีที่จุดพลุในศึกฟุตบอลชายหาดชิงแชมป์เอเชีย 2023 ระหว่างวันที่ 16-26 มีนาคมที่ผ่านมา ถูกปรับไป 2.4 ล้านบาท
สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน และคณะกรรมการจัดแข่งขันของสมาคมฯ เคยแจ้งให้ทราบถึงข้อปฏิบัติสำหรับการแข่งขัน
1. ข้อกำหนดการนำอุปกรณ์เชียร์เข้าสนามแข่งขัน
1.1 งดการนำอุปกรณ์การเชียร์ที่ผิดต่อกฎระเบียบการแข่งขันทุกชนิด
1.2 อุปกรณ์เชียร์ทุกชนิด จะต้องได้รับการตรวจสอบและต้องได้รับอนุญาตจากฝ่ายจัดการแข่งขัน โดยการพิจารณาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการฝ่ายจัดการแข่งขัน
1.3 แฟนบอลที่มีความประสงค์จะนำอุปกรณ์เชียร์เข้าสู่สนาม เช่น ป้ายทุกขนาด กลอง ธง ด้ามธง หรือ อุปกรณ์การเชียร์ทุกชนิด ให้ทำหนังสือถึงสมาคมที่อีเมล [email protected] เพื่ออนุญาตและนำฝากอุปกรณ์ต่างๆ กับฝ่ายจัดการแข่งขัน ภายในวันที่ 1 มกราคม 2566 เวลา 12:00 น.
1.4 ในวันแข่งขัน จะไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์เชียร์ใดๆที่นอกเหนือจากข้อ 1.2 และ 1.3 เข้าภายในสนามโดยเด็ดขาด
2. สิ่งต้องห้ามนำเข้าสนามแข่งขัน และสถานที่จัดการแข่งขัน
2.1 อาวุธ : อาวุธปืน, มีด, สิ่งของมีคม, ขวดแก้ว, วัตถุระเบิด รวมถึง พลุแฟลร์, พลุควันสี, สิ่งที่ทำให้เกิดควัน, บุหรี่ไฟฟ้า
2.2 สาร : ยาเสพติด, สารที่ก่อให้เกิดมลพิษ, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ วัตถุออกฤทธิ์มึนเมา
2.3 ขวดน้ำ, กระป๋องน้ำ ที่ไม่ได้รับอนุญาต
2.4 นกหวีด และ เลเซอร์
2.5 กล้อง DSLR และกล้องเพื่อถ่ายภาพเคลื่อนไหว
2.6 ห้ามนำ "โดรน" ขึ้นบันทึกภาพเหนือสถานที่จัดการแข่งขันและสนามแข่งขัน หากตรวจพบจะถูกยึดอุปกรณ์ทันที และดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากเกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกกรณี
2.7 ผู้ที่เข้าชมการแข่งขันห้ามทำการบันทึกภาพการแข่งขัน หรือส่งสัญญาณการถ่ายทอดสดภาพการแข่งขัน รวมถึงการ Live ทาง Facebook หรือ แฟนเพจ โดยเด็ดขาด หากสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน ผู้ถือลิขสิทธิ์การแข่งขันได้มีการตรวจพบจะดำเนินการให้ออกจากสนามแข่งขันทันที และดำเนินการตามกฎหมาย
2.8 วัสดุ หรืออุปกรณ์ใดๆที่อาจจะเป็นอันตราย หรืออาจทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยต่อการจัดการแข่งขัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน
หากผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน สมาคมฯ จำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฏหมายที่บัญญัติไว้สูงสุด
ก่อนหน้านี้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า (FIFA) เคยลงโทษปรับเงินสมาคมฟุตบอลฯ เป็นจำนวน 300,000 บาท จากการที่มีแฟนบอลจุดพลุแฟร์ในสนามสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี ในการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์อาเซียน รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี และสั่งปรับเงินสมาคมฯ เป็นจำนวนกว่า 1 ล้านบาท
ที่มา : ขอบสนามบอลไทย