เมื่อ ทนายดัง-เพจโซเชียล "อินฟลูเอนเซอร์ด้านความยุติธรรม" กลายเป็นทางเลือกที่ประชาชนเข้าไปร้องขอความช่วยเหลือ แทนที่ตำรวจและหน่วยงานรัฐ กลายเป็นเรื่องที่สะท้อนความเชื่องช้าของราชการ หรือความเชื่อมั่นที่ลดลงของประชาชน ?
ปัจจุบันเมื่อเกิดเรื่องราวอะไรบ้างอย่างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นพระมั่วสีกา-ดื่มสุรา ผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจข่มเหงประชาชน นักศึกษาถูกนักการเมืองลวนลาม หรือ การละเลยการทำหน้าที่ของข้าราชการ มักพ่วงมาด้วยการที่ผู้เสียหายหรือคนในพื้นที่ ร้องเรียนผ่าน ทนายดัง-เพจโซเชียลก่อน หรือ แจ้งความแล้วแต่เรื่องไม่คืบหน้า
การเกิดขึ้นของ หมอปลา , ทนายความคนดัง , แหม่มโพธิ์ดำ , เพจ อยากดังเดี๋ยวจัดให้ , เพจ เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์ , Red Skull และ เพจอื่น ๆ กลายเป็นทางเลือกแรก ๆ ที่ประชาชนจะเลือกปรึกษาและขอความช่วยเหลือ เมื่อเกิดเรื่องราวใหญ่ ๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปกติแล้วสังคมมักคุ้นชินกับอินฟลูเอ็นเซอร์(ผู้มีอิทธิพลทางความคิด) ด้านความงาม ท่องเที่ยว แต่ทนายดัง-เพจดังโซเชียล ก็จะถือเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์แบบหนึ่ง ซึ่งหากจัดกลุ่ม หมอปลา , ทนายความคนดัง , แหม่มโพธิ์ดำ , Red Skull และเพจอื่น ๆ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็น อินฟลูเอ็นเซอร์ด้านความยุติธรรม บางทีก็อาจเรียกได้ว่าผู้พดุงความยุติธรรมทางออนไลน์ก็ได้
ในทางวิชาการ อินฟลูเอ็นเซอร์ด้านความยุติธรรม เหล่านี้ก็มองได้ว่า พวกเขาอาจเชื่อว่าตนเองเป็นผู้พดุงความยุติธรรมบนโลกออนไลน์ เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน เพื่อให้เสียงเล็ก ๆ ของประชาชนดังขึ้น ซึ่งอินฟลูเอ็นเซอร์เหล่านี้ก็ไม่ได้แค่เป็นปากเสียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นนักสืบด้วย เป็นทนายด้วย เพื่อให้เรื่องที่รับร้องเรียนมาคืบหน้าขึ้น
ศาลโซเชียล "แบทแมน" หรือ "โจ๊กเกอร์" ของสังคม ?
ผศ.ดร. มรรยาท มองว่า พอกลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์เหล่านี้ เริ่มก้าวข้ามไปถึงจุดที่ตัดสินเรื่องนั้น ๆ หรือทำตัวเป็นศาลเตี้ย ไปชี้ว่าคนนั้น คนนี้ผิด ก็จะเริ่มกลายเป็นภัยร้ายต่อสังคมด้วยเหตุผลว่า "พวกเขาเชื่อว่ากำลังทำความดีอยู่" โดยใช้กระบวนการลงโทษทางสังคม หรือใช้อิทธิพลทางความคิดของเขา ลงโทษคน ๆ หนึ่งที่เขาคิดว่าผิด
ที่ผ่านมา เมื่อปี 2557 ช่างเชื่อมคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่ารองเท้าที่เป็นรูของเขาซ่อนกล้องไว้ และถูกโซเชียลตัดสินชีวิตของเขา ทั้ง ๆ ที่รองเท้าของเขาแค่เป็นรูเท่านั้น
"อินฟลูเอ็นเซอร์ด้านความยุติธรรม"สะท้อนอะไรในสังคม
ผศ.ดร. มรรยาท ระบุว่า สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดในแง่บวก คือ ประชาชนได้ใช้สื่อเป็นตัวกลางในการระดมพลังเปลี่ยนแปลง-ขับเคลื่อนสังคมที่เป็นอยู่ แต่ถ้ามองในแง่ลบ มันย่อมสะท้อนถึงความอ่อนแอของระบบที่มันความจะเป็น เช่น ความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่ ถ้าประชาชนเชื่อว่าโซเชียลทำเองทำได้ดีกว่า มันจะทำให้โครงสร้างทางสังคมอ่อนแอลง
ถ้าในมุมมองของภาครัฐ หากมองอินฟลูเอ็นเซอร์ด้านความยุติธรรมและปรากฏการณ์บนโลกโซเชียลเป็นฝั่งเดียวกัน เช่น อาศัยเบาะแสจากโซเชียลในการทำงาน การมีประชาชนเป็นหูเป็นตาไม่ใช่เรื่องแย่ แต่รัฐต้องใช้ให้เป็นประโยชน์และจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างรัฐกับประชาชนมากขึ้น เพราะคนที่จะทำหน้าที่ตัดสินหรือลงโทษคนผิด คือรัฐอยู่แล้ว
แต่ถ้ารัฐมองว่า ปรากฏการณ์บนโลกโซเชียลเป็นฝั่งตรงข้ามทั้งหมด มองว่าเป็นการโจมตีความน่าเชื่อถือของรัฐ เมื่อไหร่ ยิ่งจะทำให้ภาครัฐขาดความน่าเชื่อถือจากประชาชนมากขึ้น
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แค่เราเห็นมากขึ้น
ผศ.ดร. มรรยาท มองว่า การอาศัยช่องทางต่าง ๆ ในการร้องเรียน-ร้องทุกข์ของประชาชนมีมานานแล้ว สังเกตุได้จากองค์กรอิสระ NGO และมูลนิธิต่าง ๆ เพียงแต่เมื่อก่อนเป็นสิ่งที่อยู่ On-Groud หรือโลกความเป็นจริง คนต้องไปร้องเรียนที่องค์กรนั้น ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่คนสามารถใช้โลกออนไลน์ได้เลย การเขามาของโซเชียลก็มีโอกาสทำให้เสียงของประชาชนส่งขึ้นมาได้ดังขึ้น เช่น บางเรื่องพอดังขึ้นมารัฐก็รีบเข้ามาจัดการทันที
"เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่าเราเป็นแค่คนตัวเล็ก พูดออกไปก็สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ได้ แต่พอมายุคปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรม-ความเชื่อของคนไป คนเชื่อว่าเสียงของเขาเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่รัฐอีกต่อไป"
ถ้ารัฐไม่สนใจเสียงโซเชียล ยิ่งรัฐยิ่งพูดจริงแค่ไหน คนยิ่งไม่เชื่อ
ผศ.ดร. มรรยาท มองต่อว่า ถ้ารัฐมองปรากฏการการเรียกร้องอความยุติธรรมผ่านโซเชียลหรือการออกมาตีข่าวของอินฟลูเอ็นเซอร์บนโลกโซเชียลในแง่ลบ จะทำให้ประชาชนหมดความเชื่อถือในรัฐ อย่างกรณี "คดีแตงโม นิดา" เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า เรื่องต่าง ๆ ที่ถูกโยงไปต่าง ๆ นา ๆ บนโลกโซเชียล ถ้าตำรวจไม่พูดอะไร แล้วปล่อยให้สังคมตีความกันไปเอง พอถึงเวลาที่ตำรวจออกมาพูดความจริงในตอนที่สายไปแล้วก็ไม่มีใครเชื่ออีกต่อไป
"ขณะเดียวกัน สังคมปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และความเชื่อสูงกว่าเหตผล บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ดีที่สังคมออกมาขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่สังคมเองก็ต้องระมัดระวังที่จะไม่ไปตัดสินใครจากการฟังความเพียงข้างเดียว"