svasdssvasds

แอมเนสตี้ชวน ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ด้วยปลายปากกาของคนธรรมดา ประจำปี 2567

แอมเนสตี้ชวน ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ด้วยปลายปากกาของคนธรรมดา ประจำปี 2567

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยนโลก’ ประจำปี 2567 ชวนคนไทยร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปกับคนทั่วโลกเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกละเมิดสิทธิผ่านการเขียนจดหมายถึงพวกเขา

จุดประสงค์ของแคมเปญนี้คือ เพื่อยืนหยัดเคียงข้างผู้ถูกละเมิดสิทธิและครอบครัวของพวกเขาไม่ให้รู้สึกว่ากำลังต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากนี้ ยังสามารถเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำมาสู่ความยุติธรรม พร้อมสื่อสารไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่ว่าการใช้อำนาจนั้นจะเกิดที่ใดบนโลกก็ตาม 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า แคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ 'เขียน เปลี่ยน โลก’ เริ่มต้นเมื่อ 23 ปีที่แล้วที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ จากกลุ่มเพื่อนที่ตัดสินใจเฉลิมฉลองวันสิทธิมนุษยชนสากล ด้วยการเขียนจดหมายมาราธอนติดต่อกัน 24 ชั่วโมงในนามของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ จนแคมเปญนี้ได้เติบโตเป็นกิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของแอมเนสตี้ ที่ผู้คนจากทั่วโลกมาร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่เผชิญความเสี่ยง

“การที่ประชาชนที่ออกมาพูดเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อแสดงความกังวลต่อสถานการณ์โลกที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ แต่พวกเขากลับถูกจับกุมคุมขัง ถูกยิง ถูกทรมาน ถูกบังคับให้สูญหาย และถูกสังหาร ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้กล่าว 

แอมเนสตี้ชวน ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ด้วยปลายปากกาของคนธรรมดา ประจำปี 2567

ผอ.แอมเนสตี้ประเทศไทยเน้นย้ำว่า ในยุคที่ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป แต่พื้นที่ภาคประชาสังคมกำลังหดตัวลง และภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศกำลังทวีความร้ายแรงมากขึ้นกว่าเดิม เสียงของผู้ที่ออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชนจึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคย พวกเขาต้องได้รับการสนับสนุนและยืนหยัดเคียงข้าง

“การเขียนจดหมาย การลงชื่อสนับสนุน และการแบ่งปันเรื่องราว เป็นวิธีที่ทรงพลังที่เราสามารถสนับสนุนนักกิจกรรมที่กำลังเผชิญความเสี่ยงได้" ปิยนุชกล่าว "เราสามารถใช้เสียงของเราเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการปราบปรามสิทธิเสรีภาพ ตรวจสอบการกระทำของผู้ที่มีอำนาจ และเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ที่รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนเติบโตขึ้นได้ ท่ามกลางความเงียบและความเพิกเฉย แต่อำนาจของเขาจะหดตัวลง ถ้าพวกเราร่วมมือกัน พูดเสียงดัง มีการจัดตั้ง และมีความสามัคคี ท่ามกลางความแตกแยกที่พวกเขาสร้างขึ้นมา มาร่วมมือกับเรา มาแสดงจุดยืนเพื่อสิทธิมนุษยชนไปด้วยกัน” 

"ถ้าพวกเราร่วมมือกัน พูดเสียงดัง มีการจัดตั้ง และมีความสามัคคี ท่ามกลางความแตกแยกที่พวกเขาสร้างขึ้นมา มาร่วมมือกับเรา มาแสดงจุดยืนเพื่อสิทธิมนุษยชนไปด้วยกัน” 

“คนธรรมดาเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยข้อความสั้นๆ ที่จะร่วมกันยืนยันในหลักการของผู้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนและจะเป็นแรงหนุนให้ผู้ที่ถูกคุกคามมีกำลังใจในการทำหน้าที่ต่อไป บอกเขาว่า ยังมีพวกเราอยู่เคียงข้าง ไม่มีใครทอดทิ้งเขา และพร้อมที่จะสู้ไปกับเขา อย่าดูถูกดูแคลนตัวอักษร อย่าดูถูกดูแคลนพลังของจดหมาย หรือพลังของคนตัวเล็ก และเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง ‘พลังของคนธรรมดานี่แหละที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้’” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทยกล่าวทิ้งท้าย

แอมเนสตี้ชวน ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ด้วยปลายปากกาของคนธรรมดา ประจำปี 2567

"อย่าดูถูกดูแคลนตัวอักษร อย่าดูถูกดูแคลนพลังของจดหมาย หรือพลังของคนตัวเล็ก และเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง ‘พลังของคนธรรมดานี่แหละที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้’”

สำหรับเคสผู้ถูกละเมิดสิทธิทั่วโลกที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยรณรงค์ในปีนี้ นอกจากกรณีของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมีอีก 9 กรณีทั่วโลกที่ต้องการเสียงสนับสนุนของทุกคน เช่น

  • “พัค คยองซอก” นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ จากประเทศเกาหลีใต้ ถูกดำเนินคดีหลังชุมนุมประท้วงโดยสงบที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกรุงโซล
  • “โจเอล ปาเรเดส” ช่างเซรามิกที่สูญเสียดวงตาข้างหนึ่งจากการสลายการชุมนุมประท้วงในประเทศอาร์เจนตินา 
  • “มานาฮีล อัล-โอตัยบี” จากประเทศซาอุดีอาระเบียที่ถูกตัดสินโทษจำคุก 11 ปีจากการสนับสนุนสิทธิผู้หญิงและถูกทำร้ายในระหว่างการถูกคุมขัง

แอมเนสตี้ ประเทศไทย เชิญชวนเข้าร่วมกับแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ในปีนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการระดับโลกที่เชื่อมั่นในโลกที่ยุติธรรม และเปี่ยมด้วยการเคารพในสิทธิมนุษยชน 

ร่วมลงชื่อ “เขียน เปลี่ยน โลก” ได้ที่ https://bit.ly/3Zn4PqW มาร่วมสร้างความหวังและความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของผู้คนทั่วโลก

related