Taiwan Excellence จัดใหญ่ ขนนวัตกรรม AI โชว์ศักยภาพ หวังจูงใจนักลงทุนไทย “สภาส่งเสริมการค้าและส่งออกไต้หวันฯ” ชี้ความสัมพันธ์ไต้หวัน-ไทยจะดันการค้าการลงทุน 2 ประเทศให้ก้าวหน้า ขณะที่ ”แอดวานซ์” ขนเทคโนโลยี LoRaWAN ชูจุดเด่นประหยัดต้นทุน-ติดตั้งง่าย
นางหนิ่ว หยง ฉือ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจ สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน ประจำประเทศไทย (TAITRA) เปิดเผยถึงงาน Taiwan Excellence @Manufacturing Expo2023 “Empowering Smart Manufacturing” Product Launch ที่จัดขึ้น ณ ไบเทคบางนา ว่า
ในฐานะซัพพลายเออร์รายใหญ่ของไทยโดยไต้หวันเป็นคู่ค้าของไทยใหญ่เป็นอันดับ 6 ในปีที่ผ่านมา โดยไต้หวันมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับไทยมายาวนานในภาคการผลิตมีการร่วมมือส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างกัน ดังนั้น ไต้หวันมั่นใจว่าความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีมายาวนานจะช่วยให้ทั้ง 2 ประเทศ ยกระดับประสิทธิภาพผลผลิตและกำไรมากขึ้น สร้าคอมมูนิตี้การผลิตที่แข็งแกร่งและมีเทคโนโลยีรวมกันมากขึ้น
โดยคาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะช่วยให้ทั้งผู้ประกอบการไทยและไต้หวันได้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ต่อผู้ซื้อมากขึ้น เพราะเป็นที่ทราบดีว่าเทคโนโลยีของไต้หวันไม่เป็นรองใครในภาคการผลิต ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้มั่นใจว่าจะช่วยสร้างแต้มต่อและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมของไทยและสามารถแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• TAIWAN EXCELLENCE เสนอโซลูชันเพื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมทางการแพทย์อัจฉริยะ
• Taiwan Excellence พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตไทย
• Taiwan Excellence Wonder Miles 2022 ต่อยอดความสำเร็จกิจกรรมเพื่อสังคมระดับโลก
ด้านนายโชติเวท เพียรพบสุข หัวหน้าส่วนงาน IIoT บริษัทแอดวานซ์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย ) กล่าวว่า บริษัทมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่บริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับในกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเซรามิค โรงงานเหล็ก ยานยนต์เป็นต้น โดยระบบ LoRaWAN เป็นอุปกรณ์เซ็นเซอร์อัจฉริยะจับความสั่นสะเทือนที่สามารถเชื่อมต่อระยะไกล 2-5 กิโลเมตร ทำให้สามารถตรวจจับความสั่นสะเทือนของแบตเตอรี่ระยะไกลแบบเรียลไทม์ ได้โดยที่ผู้ตรวจสอบไม่ต้องเข้าไปยังจุดที่ติดตั้ง ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยแล้วยังได้ข้อมูลที่ถูกต้องและประหยัดพลังงานอีกด้วย โดยการติดตั้งง่ายมากเพียงแค่นำตัวอุปกรณ์ไปติดตั้งและเซตระบบก็สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องลากสายไฟซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้กว่า 50% และความคงทนของแบตเตอรี่อยู่ได้ 2 ปีและสามารถถอดเปลี่ยนได้
ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ที่ 1,000 ตัว รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5 ล้านบาท โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่ 13,000 บาท และในปีนี้คาดว่าน่าจะเพิ่มเป็น 2,000 ตัว รายได้เพิ่มอีกเท่าตัว
“ข้อดีของอุปกรณ์ตรวจสอบการสั่นสะเทือนนี้ คือช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในการลากสายไฟเพื่อติดตั้งสัญญาณ และยังสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการรู้ล่วงหน้าถึงประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ที่ใช้งานอยู่ว่าถึงเวลาซ่อมบำรุงหรือยังและสามารถวางแผนการสั่งซื้ออุปกรณ์ในการผลิตต่างๆ ได้ล่วงหน้า โดยที่สายการผลิตไม่สะดุด โดยกลุ่มลูกค้าของบริษัทมีทั้งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี ทั้งในไทยและแถบอาเซียนทั้งหมดที่ใช้อุปกรณ์ตรวจสอบการสั่นสะเทือนนี้”
ทั้งนี้ Taiwan Excellence @Manufacturing Expo2023 “Empowering Smart Manufacturing” Product Launch มี 7 บริษัทไต้หวันที่นำนวัตกรรมล่าสุดมาจัดแสดงภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นแอดวานซ์ เทค ชินฟง จีเอ็มที โกลบอล แพลนเน็ต โซโลมอน เทคแมน โรบอท และโตโย ที่ขนนวัตกรรมมาโชว์ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมได้ชมและเข้าใจถึงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ที่จะมาช่วยเติมเต็มและเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่หันมาใช้ระบบเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตมากขึ้น
โดยผลิตภัณฑ์ที่นำมาแสดงเช่น หุ่นยนต์ปฏิบัติการร่วม แพลตฟอร์ม IIoT ระบบการอนุมาน AI แบบสวม สวิตซ์อินเทอร์เน็ตสำหรับอุตสาหกรรม ชุดฟอร์มแวร์ประมวลผลข้อมูลเพื่อการทำงานที่แม่นยำ ส่วนประกอบความแม่นยำและเครื่องปั๊มขึ้นรูปโลหะอัจฉริยะ
ทั้งนี้สำหรับ Manufacturing Expo2023 ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลักคือ The Path ที่หมายถึง เส้นทางเพราะต้องการสื่อว่า นักอุตสาหกรรมที่มาเยี่ยมชมงานนี้ จะได้พบกับเส้นทางสู่ความสำเร็จ โดยการจัดงานในปีนี้จะมีความยิ่งใหญ่มากกว่าปีที่แล้ว และมีผู้แสดงสินค้าชาวต่างชาติมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก มีผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อเข้าชมงานแล้วจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก กว่า 2000 แบรนด์ ทั้งจากทวีปอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 70,000 คน และคาดว่าจะมีมูลค่าการเจรจาธุรกิจภายในงานไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท อีกทั้งงานในปีนี้เราจึงจะได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่น่าตื่นเต้นจากหลายประเทศ รวมทั้งในพาวิเลียนนานาชาติจาก 6 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง
ภายในงาน ประกอบไปด้วย 5 งานแสดงเฉพาะทางสำหรับหลากสาขาอุตสาหกรรม ทั้งยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ การแพทย์ ของตกแต่งบ้าน และอีกมากมาย และนอกจากการแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตแล้ว ภายในงานยังจัดให้มีส่วนแสดงพิเศษ อาทิ Sustainovation Showcase ซึ่งเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการแสดงกระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพตั้งแต่การป้อนวัตถุดิบชีวภาพเข้าไปในเครื่องฉีดจนออกมาเป็นสินค้าที่ได้รับการเตรียมพื้นผิวเพื่อนำไปใช้งานอีกด้วย
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไต้หวัน-ไทย นั้นพบว่าไต้หวันเข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 2 จากทั่วโลก มีมูลค่า 45,484 ล้านบาท คิดเป็น 14% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด โดยมูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจาก โครงการขนาดใหญ่ ที่มีเงินลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มูลค่า 36,100 ล้านบาท กิจการผลิต Hard Disk Drive และ/หรือชิ้นส่วน มูลค่า 3,200 ล้านบาท
โดยสินค้าส่งออกจากไทยมาไต้หวัน 3 อันแรก ได้แก่
• เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า มีมูลค่า3,470.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ )
• อาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู และยาสูบ มูลค่า 452.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
• พลาสติกและยาง 438.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่สินค้านำเข้าจากไต้หวันมายังไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า มีมูลค่า3,837.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แร่โลหะ มีมูลค่า1,295.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐและ เคมีภัณฑ์ มี648.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลจากคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนไต้หวัน ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2565 มีโครงการลงทุนจากไต้หวันในไทย 15 โครงการ เพิ่มขึ้น 25% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 261.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 21.49% อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า การค้าส่งและค้าปลีก ขณะที่มีโครงการลงทุนจากไทยมายังไต้หวัน 14 โครงการ ลดลง 44% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 360.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง13.97% อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ การเงินและการประกันภัย การจ่ายไฟฟ้าและแก๊ส ภาคการผลิต