SHORT CUT
มติเอกฉันท์! ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ปมภาคประชาชน 7 คณะ เคลื่อนไหวค้าน MOU44 ไทย-กัมพูชา ชี้เป็นสิทธิเสรีภาพตาม รธน. ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
วันที่ 25 ก.พ. 2568 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องในคดีที่นายนิยม นพรัตน์ ผู้ร้อง ได้ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มภาคประชาชน 7 คณะ (ผู้ถูกร้องที่ 1-7) ในประเด็นคัดค้านบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา หรือ MOU44 ว่าด้วยพื้นที่ทับซ้อนในไหล่ทวีป เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อโค่นล้มการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยผู้ร้องอ้างว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อปลุกระดมประชาชนให้เข้าร่วมการประท้วง จนนำไปสู่ความวุ่นวายที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งอาจเปิดช่องให้เกิดการรัฐประหาร โดยผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 3 และ 13 มกราคม 2568 เพื่อให้ดำเนินการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 วรรคสอง อย่างไรก็ตาม อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องและเอกสารที่ยื่นมานั้นไม่มีมูลเหตุเพียงพอ จึงสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ
ต่อมา นายนิยมจึงยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้กลุ่มผู้ถูกร้องทั้งเจ็ดยุติการเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ภายหลังการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่าข้อเท็จจริงและเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มการปกครองตามที่กล่าวหา
ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นและการทำกิจกรรมคัดค้าน MOU 2544 เป็นสิทธิและเสรีภาพในการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ศาลจึงมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง