SHORT CUT
ประชาธิปัตย์ส่อวุ่น มีคนแอบส่งชื่อว่าที่รัฐมนตรีให้แกนนำรัฐบาลเช็ค เสี่ยงขัดข้อบังคับพรรคเพราะ "ยังไม่มีมติ" ผิดขั้นตอน ซ้ำร้าย 2 ชื่อ ที่คาดการณ์ มีประวัติคนใกล้ชิดพัวพันคดีหมูเถื่อน-ถ่ายรูปคู่โทนี่ เตียว และบุกรุกโบราณสถานเขาแดง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ กำลังก่อความระหองระแหงครั้งใหม่ภายในพรรค และประเมินแล้วศึกนี้ยังไม่น่าจะจบง่ายๆ โดยมีประเด็นที่วิเคราะห์ออกมาได้ดังต่อไปนี้
มี สส.กลุ่มปูชนียบุคคล นำโดย นายชวน หลีกภัย แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล และ สส.กลุ่มปูชนียบุคคล ไม่ได้มีแค่รุ่นเก๋า 3 คน คือ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เท่านั้น แต่ยังมี สส.รุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา และอาจมี สส.เขตอีกบางจังหวัดด้วย และสส.กลุ่มปูชนียบุคคลที่แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล แม้เป็นเสียงข้างน้อย แต่ล้วนเคยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มีน้ำหนักในทางการเมือง
โดยในตอนนี้ เริ่มมีคำถามกลับไปยังพรรคเพื่อไทยว่า หากประชาธิปัตย์ไม่เห็นชอบในการเข้าร่วมรัฐบาลกันทั้งพรรค จะขัดกับนโยบายที่อดีตนายกฯทักษิณ ให้สัมภาษณ์เอาไว้หรือไม่ ที่บอกว่า “ถ้าจะมาต้องมาทั้งตัว” เพราะแม้จะมีมติพรรคกำกับ และกลุ่มปูชนียบุคคลแพ้โหวต แต่ สส.กลุ่มนี้จะทำตัวเป็น “ฝ่ายค้านในรัฐบาล” แน่นอน และผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดปัจจุบันก็ไม่น่าจะคัดค้านทันทานใดๆ ได้ด้วย เนื่องจากทุกคนล้วนเป็นผู้ใหญ่
ประเด็นต่อไปเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีรายงานว่า มีการส่งชื่อ “แคนดิเดตรัฐมนตรี” ไปให้พรรคเพื่อไทยส่งตรวจคุณสมบัติแล้ว ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้รับเทียบเชิญจากพรรคแกนนำ และพรรคยังไม่มีมติเข้าร่วมรัฐบาล เรื่องนี้อาจมีปัญหาตามมา จะมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการกระทำขัดข้อบังคับพรรคหรือไม่ ขณะที่นายชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรค สส.นครศรีธรรมราช ก็ย้ำมาตลอดว่า การเข้าร่วมรัฐบาลจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนประเพณีทางการเมืองและข้อบังคับพรรค คือส่งเทียบเชิญมาก่อน จากนั้นจึงนำเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการบริหาร เพื่อขอมติ
ดังนั้น หากมีการส่งชื่อไปจริง ก็น่าจะเป็นการกระทำโดยพลการของแกนนำพรรคบางคน เพราะยังมีคำถามว่า ส่งชื่อไปด้วยเหตุผลอะไร และการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีขั้นตอนและแนวปฏิบัติชัดเจน โดยชื่อที่ส่งไปตรวจคุณสมบัติ มี 2 คน คือ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค และ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ยังมีประเด็นคาใจว่าอาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์ละเมิดมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่
เสี่ยต่อ เคยมีกรณีคนใกล้ชิด ทั้งเลขาฯส่วนตัว และ “เฮียเก้า” ซึ่งเป็นญาติ เป็นลูกพี่ลูกน้อง ถูกกล่าวหาพัวพัน "คดีหมูเถื่อน" และ “นายกชาย” เคยมีภาพถ่ายร่วมเฟรมกับ “โทนี่ เตียว” ผู้ต้องหาคดีฟอกเงินผิดกฎหมายรายสำคัญที่ทางการมาเลเซียต้องการตัว และประสานให้ทางการไทยจับ กระทั่งถูก “ทีมบิ๊กโจ๊ก” รวบตัวได้ที่ด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และยังมีกรณีที่พี่สาวและญาติของนายกชาย เกี่ยวข้องกับกรณีบุกรุกโบราณสถานเขาแดง จ.สงขลา เสี่ยงจะขาดความ "ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์" ขัดมาตรฐานจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไว้หรือไม่
นอกจากนี้ มีรายงานด้วยว่า แกนนำพรรคบางรายได้เข้าพบ “ผู้มีอำนาจตัวจริงในพรรคแกนนำรัฐบาล” แล้วแสดงท่าทีนอบน้อม สำนึกบุญคุณ ถึงขั้นก้มลงกราบ ท่ามกลางสายตาตกตะลึงของผู้พบเห็น ซึ่งประเด็นนี้กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควรในพรรคประชาธิปัตย์ ว่ามีความเหมาะสมแค่ไหน อย่างไร โดยเฉพาะกับศักดิ์ศรีพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศ และเคยมีหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 4 คน