SHORT CUT
สร้างความชอบธรรมแบบอันตราย วีระ จี้รัฐบาลถอยดิจิทัลวอลเล็ต ขู่ ส่งองค์กรอิสระตีความ ชี้ให้ดูกรีซเป็นตัวอย่าง
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายปดิพัทธ์ สันดิภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม หลังเปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนแล้ว เข้าสู่การพิจารณาร่างระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวนเงิน 1.22 แสนล้านบาท วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว โดย กมธ.ไม่ได้มีการแก้ไข
นายวีระ ธีระภัทรานนท์ นักวิชาการ ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็น อภิปรายว่า แท้ที่จริงแล้วเราต้องมองภาพรวมของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทั้งหมดที่ใช้เงินรวมกัน 4.5 แสนล้านบาท แม้จะมีการลดวงเงินจากเดิม 5 แสนล้านบาท ว่ามีความเชื่อมโยงกับแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้นอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 จะเรียกว่าเป็นการจัดทำงบประมาณแบบรวมห่อ หรือเป็นแพ็กเก็ต ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคการจัดทำงบประมาณที่ไม่ตรงไปตรงมา
ดังนั้นขอให้รัฐบาลถอนคัดเร่งในการใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเห็นชัดเจนว่ามีปัญหาและอาจต้องส่งให้องค์กรอิสระตีความในอนาคต และขอให้รัฐบาลอย่ามองข้ามปัญหาเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นที่ประเทศกรีซ
นายวีระ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นในสถานการณ์ของงบประมาณ พบสัญญาณที่เป็นอันตรายคือ ส่วนรายจ่ายดอกเบี้ยที่สูงเกือบ 10% ของรายได้ที่หามาได้ โดยในการจัดทำงบปี68 พบว่ามีการตั้งงบเพื่อชดใช้หนี้จำนวน 4.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 1.5 แสนล้านบาท และ ดอกเบี้ย 2.6 แสนล้านบาท เท่ากับ 9% นอกจากนั้นการทำงบขาดดุลสูงที่สุด ติดเพดานงบขาดดุลมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ทั้งที่ขณะนี้มียอดขาดดุลรวม 8.05 แสนล้านบาท ซึ่งเพดานที่สูงสุดโดยไม่ผิดกฎหมาย คือ 8.15 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงเหลือเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งในข้อกังวลคือวิกฤตการเงินการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากบริหารจัดการไม่ถูกต้องและไม่รอบคอบ
“ขอตั้งข้อสังเกตในประเด็นการเมืองว่า เป็นนโยบายเรือธง ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้นำเป้าหมายมาสร้างความชอบธรรมในวิธีการดังกล่าวที่อันตราย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นนโยบายหาเสียงที่เป็นภาระต่องบประมาณและอาจเป็นตัวอย่างของการทำนโยบายที่เสี่ยงต่อการทำงบประมาณในอนาคต ดังนั้นขอให้สส.พิจารณาก่อนลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว” นายวีระ กล่าว