นายกฯ แจง พ.ร.บ.งบประมาณ เพิ่มเติม 1.22 แสนล้านวาระแรก โปะดิจิทัลวอลเล็ต ย้ำรัฐบาลจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ยืนยันฐานะการเงินประเทศยังแข็งแกร่งมาก
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการ และเหตุผลร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรก เนื่องจาก รัฐบาลมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภค และการลงทุน โดยไม่สามารถรองบประมาณประจำปี 2568 ได้ โดยเป็นแหล่งเงินจากภาษี และรายได้อื่น 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 112,000 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงความจำเป็นในการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลว่า ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากส่วนราชการอื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 10,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 122,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
ดังนั้นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมาก จะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงด้วยว่า งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาทแล้วจะทำให้ในปีงบประมาณ 2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3,602,000 ล้านบาท
ซึ่งแม้ว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฉบับนี้ เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 แล้วจะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ จำนวน 97,600 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวนกว่า 700,000 ล้านบาทแล้ว จะทำให้มี รายจ่ายลงทุนรวมกว่า 800,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2566 หรือ ร้อยละ 17.1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.4 ของวงเงินงบประมาณรวม
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำด้วยว่า การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาล จะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย และยืนยันว่า ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน มีเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 จำนวนกว่า 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ดังนั้น ฐานะการเงินของประเทศ จึงจัดว่า อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก
สำหรับกรอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท วาระแรกในวันนี้ (17 ก.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 13 ชั่วโมง แบ่งเป็นการอภิปรายของฝ่ายค้าน 6 ชั่วโมง, สส.รัฐบาล และคณะมนตรีรวมกัน 6 ชั่วโมง จากนั้นจะเป็นการลงมติในวาระแรก เพื่อตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณาต่อ โดยสภาผู้แทนราษฎร จะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้น ภายใน 105 วัน หลังได้รับร่างงบประมาณจากรัฐบาล หรือภายใน 21 ตุลาคมนี้
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรเตรียมรับไม้ต่อจากรัฐบาล พิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอวงเงิน 122,000 ล้านบาท เพื่อนำไปทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน10,000บาท โดยเงินที่จะนำมาแจกต้องกู้ทุกบาท แม้จะลดเหลือวงเงินรวม 450,000 ล้านบาท เพราะหาแหล่งเงินได้ไม่เพียงพอก็ตาม
หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยเห็นว่า เงินที่จะกู้มาแจกถึง 450,000 ล้านบาทนั้น เท่ากับ 2.5% ของ GDP แต่รัฐบาลบอกว่าจะสามารถเพิ่ม GDP ได้ 1.2-1.8% และจะเป็นการโตเพียงช่วงสั้นๆ เพราะเป็นการแจกเงิน ที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ หรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จึงทำให้เกิดความห่วงใยว่า โครงการนี้ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเงินกู้จำมหาศาล จะกลายเป็นภาระหนี้ให้กับประเทศ และคนไทยไป ชั่วลูกชั่วหลาน
โดยเฉพาะเมื่อเรา พิจารณาสถานการณ์ของ หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ในปัจจุบัน ถือเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่ง เพราะตัวเลข พุ่งไปที่ 91% หรือเท่ากับ 16.3 ล้านล้านบาท และที่สาหัสไปกว่านั้นคือ สินเชื่อรวมภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโร 13.6 ล้านล้านบาท กลายเป็นหนี้เสียไปแล้วถึง 1.09 ล้านล้านบาท หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาที่หนี้เสียอยู่เพียง 1.05 ล้านล้านบาทเท่านั้น สะท้อนว่าหนี้เสียยังคงพุ่งต่อเนื่อง
ดังตัวเลขที่ปรากฎคือ หนี้เช่าซื้อรถยนต์ เป็นหนี้เสียถึง 2.38 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นต่อเนื่อง 32% และหนี้ที่อยู่อาศัยอีก 1.99 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 18.2% สินเชื่อบุคคลอีก 2.6 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 12% และบัตรเครดิต 6.3 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 14.6% ขณะที่หนี้ที่กำลังจะเสีย แต่ไม่เกิน 90 วัน หรือกลุ่ม SM เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาท ทั้งหมดยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ แม้จะมีโครงการออกมาแก้ปัญหาก็ตาม
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านว่า ไม่รู้โครงการนี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ ซึ่งวงเงินมีการเปลี่ยนแปลงตลอด งบปี 68 ที่เราเพิ่งผ่านวาระหนึ่งไม่นาน กู้เพิ่ม 152,700 ล้านบาท ยังต้องกลับไปบริหารจัดการภายในงบประมาณปี 68 อีก 132,300 ล้านบาท วันนี้รัฐบาลมาขอกู้เพิ่ม 112,000 ล้านบาท และไปหารายได้อื่นมาอีก 10,000 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าพอไม่มีเงินจาก ธกส.แล้ว ซึ่งก็เป็นการดีแล้วที่ไม่ได้ใช้เงินจาก ธกส. เพราะเราได้ท้วงติงมาโดยตลอดว่าผิดวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ. ของ ธกส.เอง และสภาพคล่องก็อาจจะไม่ได้เพียงพอที่สุดท้ายถ้าจะใช้ก็อาจจะต้องให้กระทรวงการคลังไปกู้มาให้ ธกส.กู้ต่ออยู่ดี
นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่ปีนี้จะมีการกู้เพิ่มอีก 112,000 ล้านบาท เท่ากับว่างบประมาณของ ปี 67 จะมีการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลทั้งสิ้น 805,000 ล้านบาท ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ดี หากไม่นับของ ปี 68 เป็นการทำสถิติอีกแล้วนะคะ ถ้าเรามองย้อนกลับไป เราไม่เคยตั้งงบประมาณเพื่อที่จะขาดทุนสูงขนาดนี้ ปกติมันต้องกดลงมาให้เหลือ 3% แต่ของท่านน่าจะติดใจกับการที่สามารถเบ่งงบออกไปเรื่อยๆ และกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึง 4.3% มันจะเป็นปัญหาในการเพิ่มหนี้สาธารณะเพิ่มภาระในการชำระดอกเบี้ยชำระหนี้ตามมา
นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ที่เป็นปัญหามากกว่านั้นคือปัญหาเฉพาะหน้าในการที่เรากู้จนเต็มเพดาน งบปี 67 เราเพิ่งผ่านไปเมื่อต้นปีและประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เม.ย. เอง ตอนนั้นสภาอนุมัติไป 3.48 ล้านล้านบาท มันจะกลายเป็นเพิ่มขึ้นไปถึง 3.6 ล้านล้านบาท / กู้เพิ่มจะเพิ่มขึ้นจาก 693,000 ล้านบาท เป็น 805,000 ล้านบาท แต่หากไปดูเพดานการกู้จากเดิมถ้ายังไม่ได้ขยายเพดาน จะกู้ได้แค่ 790,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ จึงต้องขยายเพดานเป็น 815,056 ล้านบาท เหลือเพดานให้กู้เพิ่มได้อีกแค่ 10,056 ล้านบาท
"มันเหมือนกับว่ารัฐบาลคิดอะไรไม่ออกก็ใช้วิธีการเบ่งงบ เบ่งรายจ่ายให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีรายได้เพิ่ม รายได้ที่เพิ่มขึ้นเพิ่มเพียงแค่ 10,000 ล้านบาท เท่านั้นเอง และถ้ารายได้ไม่มาเท่ากับว่า เราจะไม่เหลือพื้นที่ให้กู้เพิ่มได้อีกเลย” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
ปัญหาคือพอเราหาเงินไม่ทันแบบนี้ ต้องไปดูที่ฝั่งรายได้ด้วยว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณเหลือเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงเวลาจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าได้หรือไม่ ทำให้งบประมาณที่สภาอนุมัติไปแล้วสุดท้ายมันอาจจะใช้ได้ไม่ครบ 3.48ล้านล้านบาท เพราะรายได้ไม่เข้าเป้า เเละเรากู้โปะได้ไม่เพียงพอ หน่วยงานไหนที่มาเบิกจ่ายตอนหลังอาจจะโชคร้าย เงินอาจจะไม่มีแล้ว ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ไม่ได้สนใจไม่ได้แคร์อะไรว่าประเทศจะต้องมาอยู่กับความเสี่ยงแบบนี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตทำให้ต้องกู้จนสุดเพดาน
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ตามเอกสารที่สภาได้รับมาจากรัฐบาล มีการประมาณการ GDP ใหม่ด้วย เปลี่ยนสมมุติฐานทางเศรษฐกิจบอกว่า GDP จากเดิมที่จะโตได้ 2.7% มาเหลือ 2.5% เงินเฟ้อก็ลดลง แต่พอไปดูเอกสารประมาณการงบประมาณรายได้ ปรากฏว่าไม่มีการประมาณการรายได้ใหม่บอกว่าจะจัดเก็บรายได้เท่าเดิม ทั้งที่เศรษฐกิจไม่ได้โตตามคาด มันเป็นไปได้ยังไงที่เราไม่ได้ประมาณการรายได้ใหม่เลย ทั้งที่ระยะเวลามันล่วงเลยมาหลายเดือนแล้ว จากที่เคยได้ประมาณการครั้งล่าสุด ผลการจัดเก็บก็เห็นอยู่ว่ามันไม่ได้เท่าเดิม เมื่อตอนต้นปีตนเคยอภิปรายเอาไว้ว่ารายได้มาจากจัดเก็บได้ไม่เข้าเป้า เพราะภาษีขายหุ้นไม่มีแล้ว
ตอนนี้ตัวเลขทางการของ 8 เดือนแรกก็ต่ำกว่าเป้า ผล 9 เดือนก็น่าจะออกวันนี้พรุ่งนี้แล้ว แต่ละกรมเขาทอยอยออกมาแถลงข่าวกันแล้วว่าเขาจัดเก็บได้เท่าไหร่ ดูท่าทีไม่มีทางที่จะเก็บภาษีได้ตามเป้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมสรรพสามิต พี่เพิ่งแถลงข่าวว่าจะจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้า 58,000 ล้านบาท ท่านอธิบดียังมาชี้แจงที่ห้องงบประมาณด้วยว่าทั้งปีอาจจะหลุดเป้าไปที่ 60,000-70,000 ล้านบาท ด้วยสถานการณ์แบบนี้ที่เรายังไม่รู้ว่าเราจะมีรายได้เพียงพอที่จะใช้สำหรับปีงบ 67 หรือไม่
"ท่านก็ยังมาขอกู้สภาแบบเต็มเพดานกันอีกเหรอคะ จะไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้บริหารความเสี่ยงอะไรเลยใช่หรือไม่คะ" นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ท้ายที่สุดผ่านมา 7 เดือนแล้วงบกลางยังใช้ไม่ถึงไหน ยังอนุมัติแค่ 17,991 ล้านบาท บางโครงการยังไม่ได้เบิกจ่ายด้วยซ้ำไป
"ก็ถึงว่าท่านบอกว่าเศรษฐกิจแย่ แต่ไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือประชาชนเลย พอเราตั้งกระทู้ถามสดหน่อย โอ้โฮ เมื่อวานนี้ออกมาหลายเรื่องเลย เพื่อจะช่วยปัญหาประชาชน แต่เท่าที่ดูก็มีแต่มาตรการเดิมๆ ไม่ได้มีอะไรที่น่าจะช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่จะต้องรอดิจิทัลวอลเล็ตได้ ไม่มีมาตรการช่วยเศรษฐกิจแต่อย่างใด ที่เป็นแบบนี้ก็ช่วยไม่ได้ค่ะ เราก็คงต้องสรุปว่างบกลางเงินสำรองที่สภาอนุมัติไว้เกือบ 100,000 ล้านบาท มันไม่ออกมาเลยก็เพราะว่ารัฐบาลยังไม่รู้ ณ ตอนนั้นว่าตกลงจะต้องเอามาใช้กับดิจิทัลวอลเล็ตกี่บาท ตอนนี้น่าจะเคาะแล้วว่าใช้แค่ 43,000 ล้านบาท เท่ากับว่าเงินส่วนนี้ จะไม่ได้ออกไปกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไปสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงปีงบประมาณนี้ใช่หรือไม่ ก็ต้องถูกกั๊กเอาไว้ ไปจนถึงปลายปีอยู่ดี" นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า งบกลางปี จะไปใช้ข้ามปีก็คงไม่ได้ มันก็ผิดมาตรา 21 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังอย่างชัดเจน และไม่สามารถรอใช้พร้อมงบประมาณในปีถัดไปได้ด้วย หรือจะให้ใช้การก่อหนี้ผูกพันก็ทำไม่ได้ เพราะมันต้องทำสัญญาทั้งสองฝ่าย แค่การลงทะเบียนถือเป็นการทำสัญญาฝ่ายเดียว ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆ บริหารผิดพลาด
นางสาวศิริกัญญา ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่แก้กฎหมายไม่ถูกใจก่อนค่อยทำ ตนเสนอว่าให้รัฐบาลแก้ไข มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังไปเลย เติมท่อนสร้อยว่า เว้นแต่มีเหตุให้เป็นอย่างอื่น โดยต้องให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะได้เห็นชัดไปเลยว่าเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายการเมือง หรือเปลี่ยนเป็นนายกรัฐมนตรี จะได้เห็นชัดว่าใครที่ต้องเอาคอขึ้นเขียง เวลาทำผิดกฏหมายแบบนี้
"เพราะตอนนี้เวลาที่เราเดินหน้าลุยไฟ ทำผิดกฎหมายอยู่แบบนี้ คนที่เดือดร้อนที่สุดคือข้าราชการประจำตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นคนชงเรื่องต่างๆ ทุกวันนี้ฝ่ายการเมืองไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไรเลย เวลาที่ตัดสินใจจะทำอะไรที่มันเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย" นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนเดียวคือต้องรักษาหน้า ใช้เงินสำรองจ่ายแบบยืมเงินข้ามปี แต่หากไม่เคยคิดจะใช้เงินทุนสำรอง ตนก็ถือว่าดี ถือเป็นวาสนาประเทศที่ไม่ใช้เงินทุนสำรอง วันนี้ตนไม่ได้อยากมาพูดแต่เรื่องกฎหมาย แต่มันปรากฏขึ้นอยู่ตลอดเวลา วันนี้คนใช้ดิจิทัลวอลเล็ต ก็ทราบกันอยู่แล้วว่าใช้เพื่ออุปโภคบริโภค แต่ก็ยังสามารถตีความเป็นรายจ่ายลงทุนได้ถึง 80% กลับหัวกลับหางกันไปหมด ซึ่งถือเป็นปัญหาว่าอะไรคือรายจ่ายลงทุน และหากไม่ใช่จะถือเป็นการทำผิด พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง
นางสาวศิริกัญญา ระบุอีกว่า นายกรัฐมนตรีประกาศไปแล้วว่าจะได้ อีก 15 วันจะลงทะเบียน แต่ยังหาเจ้าภาพไม่ได้ ระบบลงทะเบียนเพิ่งจะได้ผู้ชนะการประมูล เป็นไปได้อย่างไร ระบบชำระเงินก็ยังไม่ได้ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งข้อสงสัยว่าระบบที่ซับซ้อนมาก ใช้เงินเพียง 95 ล้านบาท
"อาจจะตีความได้ว่าคนที่เข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบอาจจะกลายมาเป็นเจ้าของระบบในที่สุด แล้ว 95 ล้านบาทในการพัฒนาระบบก็ถือว่าเป็นการทำบุญไปกับบริษัทเอกชนที่จะได้เป็นเจ้าของ หรือบริษัทเอกชนนั้น ก็อาจจะเป็นการทำการกุศลก็ได้ เพราะต้นทุนแท้จริงแล้วอาจจะมากกว่านั้น" นางสาวศิริกัญญา กล่าว
ทั้งนี้ ตนกังวลที่สุดในส่วนร้านค้า เพราะยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้ามาร่วมโครงการได้ ระบบที่ถูกออกแบบมามันเอื้อให้กับร้านค้าที่เขามีสายป่านยาว แต่ร้านค้าหลายๆรายย่อยที่เป็นเงินหมุนเงินสดเขาจะอยู่ไม่ได้ ถือเป็นการกีดกันรายย่อย
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ตนยังแทงว่ารัฐบาลใช้งบ 5 แสนล้านบาททำดิจิทัลวอลเล็ต ถามว่าได้อะไรบ้าง ได้เพิ่ม GDP เต็มที่ 350,000 ล้านบาท
"วิญญูชนไงคะท่านประธาน ลงทุน 500,000 ล้าน ได้คืน 350,000 ล้าน เรียกคุ้มหรือไม่คะ แล้วสิ่งที่เราจะเสีย เราเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังให้กับประเทศ ตอนนี้ไม่มีปัญญาจะรับมือกับอะไรที่มันฉุกเฉินเข้ามา แค่ฝ่ายค้านพูดว่าต้องมีมาตรการเฉพาะหน้า วิ่งหาเงิน อ้าว เงินไม่เหลือแล้ว เพราะต้องเก็บไว้ทำดิจิทัลวอลเล็ต ยังต้องทำผิดกฎหมายอีกหลายข้อ" นางสาวศิริกัญญา กล่าว
เมื่อนางสาวศิริกัญญากล่าวจบ นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ลุกประท้วงว่า นางสาวศิริกัญญาพูดคำว่าร่าง พ.ร.บ. ผิดกฎหมายไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง จะทำให้คนที่ชมเข้าใจผิด เป็นการใส่ร้าย แต่นายพิเชษฐ์ วินิจฉัยว่าเดี๋ยวรัฐบาลจะได้ตอบเอง
ทำให้นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า หากทำได้จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิดในการบริหารงบประมาณในอนาคต เสียโอกาสในการทำนโยบายช่วยเหลือประชาชน ทำให้พื้นที่ที่จะมีงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาประเทศต่างๆลดน้อยถอยลง จะเป็นกระสุนนัดใหญ่ นัดแรก นัดเดียวและหน้าสุดท้ายของทางรัฐบาลที่จะได้มีโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้
"วันนี้ดิฉันจะขอส่งความห่วงใยผ่านท่านประธานไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล ว่าท่านจะกลายมาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำผิดกฏหมายครั้งนี้ สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าท่านเองก็ยังพอยึดถือหลักการอะไรอยู่ในหัวใจ นับถือหลักวิชาการ มีความรู้เรื่องงบประมาณการคลัง ท่านคงดูได้โดยไม่ต้องสงสัยว่าทำแบบนี้มันจะทำให้ประเทศเราสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร ก็ต้องขอโน้มน้าวผ่านท่านประธานไปนะคะให้ สส. ฝ่ายรัฐบาลคว่ำร่าง" นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายไม่รับร่างดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า
สาระสำคัญของร่างดังกล่าวมีแค่ประการเดียว คือเพื่อขอกู้มาแจก 1.22 แสนล้านบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเงิน 450,000 ล้าน ที่รัฐบาลจะเอาไปทำ ดิจิทัลวอลเล็ต ตนไม่เคยต่อต้านโครงการนี้ แต่ตนทวงถามแทนประชาชนทุกครั้ง ว่าเงิน 10,000 บาทที่รัฐบาลหาเสียงจะได้เมื่อไหร่ ได้กี่โมง เพราะจนถือหลักว่าเมื่อพรรคการเมืองไปหาเสียงได้เป็นรัฐบาลแล้วต้องมีความรับผิดชอบเพราะไปสัญญาแลกเอาคะแนนมาแล้วต้องชดใช้ให้กับประชาชนโดยจะต้องทำให้ทันเวลาถูกกฎหมายโปร่งใสและคุ้มค่ากับประเทศ และยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้บอกกับประชาชน จึงเป็นหน้าที่ของตนที่เป็นหน้าที่ ฝ่ายตรวจสอบที่ทำหน้าที่เป็นกระจกมองสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของรัฐบาลให้ประชาชนได้เห็นเพื่อให้รัฐบาลได้นำไปปรับปรุงแก้ไขโครงการต่อไปและเพื่อให้ประชาชนรับรู้ร่วมกันว่าหลังจากแจกเงินคนละหมื่นให้กับประชาชนแล้วคนที่จะตามมามีอะไรบ้าง
ประเด็นแรกเรื่องความล่าช้าของโครงการ ไม่ใช่แรงค้านของฝ่ายไหนแต่เพราะความโหลยโท่ยของรัฐบาล ที่บริหารราชการแผ่นดินเหมือนเด็กเล่นขายของเป็นไม้หลักปักขี้เลนโอนไปเองมาเอาแน่อะไรไม่ได้ เวลาเลื่อนมากี่รอบ ประชาชนลงเรือเก้อมาแล้วกี่ลำ แหล่งเงินกลับไป กลับมา นายกท่านนี้เชื่อถือได้กี่เปอร์เซ็นต์
"ตอนหาเสียงบอกแจกทันทีไม่มีกู้พอเป็นรัฐบาลไม่กี่วันเริ่มออกลายเลื่อนทันทีมีแต่กู้ ถึงจะออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 500,000 ร้านสุดท้ายยกธงขาวเพราะจำนนด้วย กฎหมายว่าทำไม่ได้เพราะรัฐบาล พยายามสร้างประเด็นว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤตแต่ไม่ได้วิกฤตถึงขั้นต้องกู้มาแจก เปลี่ยนมาใช้เงินธกส.แทนหลังจากนั้นท่ามกลางเสียงเตือนว่าสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเพราะเงินธกส.มีไว้ดูแลเกษตรกร แต่รัฐบาลก็เสียงแข็งบอกว่าทำได้เสียเวลาไป 3 เดือนเพราะความดื้อรั้นดันทุรังของรัฐบาลจนสุดท้ายโยนผ้าอีกรอบ แสดงว่าที่ยืนยันมาตลอดแค่ปากกล้าขาสั่น สร้างความหวังให้กับประชาชนไปวันๆเท่านั้น"นานจุรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุดขอเปลี่ยนแหล่งเงินที่จะมาแจกมาแค่ 2 แหล่งคือ งบประมาณปี 67 จำนวน 165,000 ล้านบาท และงบปี 68 จำนวน 285,000 ล้านบาท รวมแล้วเป็น 450,000 ล้านบาท โดยงบ 67 แยกเป็น 2 ก้อน งบ 68 แยกเป็น 2 ก้อนรวมแล้วเป็น 4 ก้อน แต่จนวันนี้เม็ดเงินจริงยังไม่มีสักบาทเดียว ยังล่องลอยอยู่ในอากาศเพราะยังต้องรอกระบวนการทั้ง 450,000 ล้านบาทหลายประเด็นถึงยังไม่นิ่งและนิ่งไม่ได้เพราะรัฐบาลบริหารแบบคิดไปทำไปแล้วที่ร้ายที่สุดเป็นการสวนมาสวนไปด้วย
จากเรือยอร์ชก็กลายเป็นเรือแจวแล้วตอนนี้ แต่คงเป้าหมาย 50 ล้านคนไว้ไม่ลดโดยอ้างว่า 10% จะไม่ใช้สิทธิ์ จึงเกิดคำถามว่าถ้าส่วน 10% มาลงทะเบียนใช้สิทธิ์ จะนำเงินจากไหนมาแจก นี่มันนั่งเรือแจวไปตายเอาดาบหน้าชัดๆ
นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงการหาเม็ดเงินมาแจก จากงบ 67 จำนวน 43,000 ล้าน ที่รัฐบาลหวังว่าจะไปเอามาจากงบกลาง มาใช้ในโครงการดิจิตอล wallet นั้นอยู่ในงบกลางฉุกเฉิน ซึ่งมีอยู่ 95,000 ล้านบาท แต่วันนี้ใช้ไปแค่ 3,238 ล้าน แปลว่าการเบิกจ่ายเงินของจริงโดยเฉพาะงบฉุกเฉินเกียร์ว่าง เพื่อให้เงินตรงนี้เหลือใช้เอามาแจก 43,000 ล้าน เพราะฉะนั้นการเรียกหน่วยงานต่างๆ มากำชับเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตให้ได้ 3% เป็นเพียงแค่การละคร
ส่วนงบ 68 จำนวน 1,302,300 ล้านบาท ที่บอกว่าจะใช้การบริหารจัดการ วันนี้ยังไม่รู้ว่าจะไปเอามาจากไหน หรือจะใช้เสียงในกรรมาธิการเสียงข้างมาก กองงบไว้ที่เดียวกัน แล้วใช้มติครมใส่ลงไปในงบกลางเพื่อเอาไปทำดิจิทัลวอลเล็ต แทน แล้วพรรคร่วมรัฐบาลจะว่าอย่างไร จะนั่งเป็นตัวการ์ตูนอยู่หรือ แล้วจะบรรลุนโยบายพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้กับประชาชนได้อย่างไรในเมื่อเอาไปให้พรรคเดียวเขาทำหมดแล้ว แล้วประชาชนจะเสียหายขนาดไหน กระทรวงแต่ละกระทรวงจะเอาเงินที่ไหนไปบริหารหรือจะต้องไปเสนองบกลางปี 68 อีก
สำหรับพระราชบัญญัติฉบับนี้ ประกอบด้วยหลักการเหตุผลและเนื้อหาแค่ 6 มาตราขอเงินมา 122,000 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายใส่ไว้ในงบกลาง เพื่อทำ Digital wallet โดยเฉพาะและให้กระทรวงการคลังมีอำนาจสั่งการ และระบุรายได้ว่าไม่ได้กู้ทั้งดุ้นเพื่อแก้เกี้ยวเท่านั้น เพราะมาจากรายได้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่ต้องโอนให้คลัง เพราะฉะนั้นเงินก้อนนี้เป็นเงินบุญหล่นทับไม่ได้เกิดจากฝีมือของรัฐบาลจริง
ดังนั้นถ้าจะอนุมัติพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นเพียงการอนุมัติ ให้รัฐบาล ไปกู้เงินมาชดเชย การขาดดุลอีก 122,000 ล้านบาทเพียงเพื่อเอามาแจกสนองนั้นนโยบาย ส่วนการใช้หนี้ทั้งต้นทั้งดอกเป็นเรื่องของอนาคต
ส่วนรายจ่ายลงทุนที่ใส่ไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ระบุไว้ว่า ใช้เป็นรายจ่ายลงทุน 80% จึงเกิด คำถามว่าทำไมรัฐบาลไปตีความว่าเป็นรายจ่ายลงทุนถึง 80% ซึ่งไม่น่าจะจริงเพราะดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่เงินลงทุนแต่เป็นเงินโอนเพื่อการบริโภค และสุดท้ายอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงพระราชบัญญัติวินัยการคืนการคลังมาตรา 20 (1) ต่อไป เข้าใจว่ารัฐบาลพยายามใส่ฟองสบู่ให้เข้าใจว่าการมาขอกู้ในวันนี้เป็นการลงทุนไม่ได้เอาไปบริโภคอย่างเดียวและจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในการพัฒนาต่อไปแต่หนีความจริงไม่พ้นว่าที่แจกไป เป็นการแจกไปเพื่อบริโภค ไม่เช่นนั้นจะเป็นการกำหนดสินค้าทำไม
ส่วนเรื่องความคุ้มค่า รัฐบาลตีปี๊บมาตลอดว่าถ้าทำดิจิทัลวอลเล็ต แล้วจะทำให้เศรษฐกิจโต 5% แล้วจะทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพราะจะนำเงิน 450,000 ล้าน บาทไปใส่มือคนไทย และจากนั้นจะหมุนไปยังร้านค้า โรงงานและจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน 6 เดือนที่แจกและทำให้ GDP เฉพาะดิจิทัลวอลเล็ต โต 1.2 - 1.8 พูดอย่างกับตลกคาเฟ่ ดูถูกคนคิดเลขเป็นทั้งประเทศ เพราะไม่ว่านักวิชาการทางการเงินแบงค์ชาติ องค์กรอิสระ สภาพัฒน์ หน่วยงานของรัฐที่เป็นหน่วยงานกลางที่กำหนดตัวเลขทางเศรษฐกิจพูดตรงกันว่าที่บอกว่าจะได้ได้จริงแต่ได้ไม่คุ้มเสีย และยังมีค่าเสียโอกาสถ้ารัฐบาลเอาเม็ดเงิน 500,000 ล้านบาทนี้ไปทำอย่างอื่นจะได้มากกว่านี้ เช่นแจกกลุ่มเปราะบางกลุ่มคนจน เพราะเขาจะได้ใช้เงินทันที หรือใช้ลงทุนในด้านอื่นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทันที เช่นสร้างคนในระบบเศรษฐกิจ สร้างคนในระบบการศึกษา ลงทุนกับสิ่งแวดล้อมที่ควรลงทุนเตรียมไว้
"ฉะนั้นการกู้มาแจกเพียงแค่ 6 เดือน เหมือน โยนหินลงน้ำ 1 ก้อนเกิดแรงกระเพื่อมแค่จ่อมเดียว แล้วหายไป แต่ที่เกิดขึ้นคือพายุหมุนเอานี่ก้อนโตมาให้คนไทยชดใช้ไปอีกนาน เข้าทำนองประเทศเสียหายไม่ว่าขอให้ข้าได้หาเสียง"นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์ เตือนรัฐบาลถึงความไม่โปร่งใสอย่าให้การกู้ครั้งนี้ เป็นการกู้ไร้อนาคตเพราะการทุจริตคอรัปชั่นเป็นอันขาด เพราะจนวันนี้ยังมีคำถามจากประชาชน ว่า ทำไมไม่แจกเป็นเงินสด ,ทำไมไม่แจกผ่าน App กระเป๋าตังค์ , ทำไมต้องแจกตั้งแต่อายุ 16 ขึ้นไป ซึ่งข้อนี้ตนได้ตอบไปแล้วว่าถ้าแจกคนอายุ 16 ปีขึ้นไปอีก 2 ปีอายุ 18 ก็ลงคะแนนได้ ถ้าแจกอายุต่ำกว่านี้แจกไปก็เสียของ นี่จึงเป็นคำตอบว่าสุดท้ายแล้วแจกไปเพื่อใคร
"รัฐบาลเคยถามตัวเองหรือไม่ว่าตอนรัฐบาลเข้ามาใหม่ๆช่วงมกราคม มีคำถามว่าถ้ารัฐบาลยกเลิกโครงการดิจิตอลวอลเล็ตประชาชนจะโกรธ หรือไม่ ประชาชนตอบตรงกันตัวเลข 70% บอกว่าไม่โกรธเลย แต่ถ้ามาถามตอนนี้จนไม่แน่ใจว่าจะโกรธหรือไม่ และเกือบปีที่ผ่านมาผลงานรัฐบาลบอกตรงๆว่าสุดเห่ยจริงๆทุกด้าน แต่ขอให้รัฐบาลได้รับทราบว่าแม้จะเปลี่ยนไปใช้ App ทางรัฐ แต่ดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นแค่ทางรอด ของประชาชนคนจนและกลุ่มเปราะบางชั่วคราวเฉพาะกิจเท่านั้น แม้อาจจะเป็นทางรอดของบางพรรคการเมืองแต่ที่แน่นอนไม่ใช่ทางรอดของประเทศ"นายจุรินทร์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง