SHORT CUT
กรมโรงงานฯ จากยุคพัฒนาชาติสู่วันอธิบดีลาออก เซ่นปมแคดเมียม ปัญหาที่เจอจนสร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศไทย
กลายเป็นปมร้อนทางการเมืองที่ร้อนยิ่งกว่าอากาศเสียอีก เมื่อนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ประกาศลาออกจากราชการ กลางวงประชุมคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธาน ซึ่งในการประชุมได้เร่งรัดติดตามการแก้ 2 เรื่องสำคัญที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง
กรณีเพลิงไหม้สารเคมีของกลาง ของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด จ.ระยอง โดยกรณีนี้นายจุลพงษ์ ถูกนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อว่าเรื่องการลงพื้นที่แก้ปัญหาให้กับประชาชนล่าช้า เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา และกรณีการลักลอบขนย้ายกากแร่ตะกอนแคดเมียมจาก จ.ตาก ไปยัง จ.สมุทรสาคร จนถูกกระจายไปยัง จ.ชลบุรี และเขตบางซื่อ กทม. ซึ่งการขนย้ายยังพบปัญหาหลายจุด ทำให้นายจุลพงษ์ ถูกตำหนิเพราะแก้ปัญหาล่าช้าไม่ทันสถานการณ์
ทั้งหมดคือเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นแบบสดๆ ร้อนๆ กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมไทย แต่เชื่อไหมครับก่อนจะมีเรื่องดราม่าเกี่ยวกับแร่แคดเมียม กรมโรงงานอุตสาหกรรมไทยเคยยิ่งใหญ่มาก่อน มาพร้อมกับสมัยคณะราษฎรและยุคสร้างชาติกันเลยทีเดียว
หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้วางแผนสร้างชาติด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันสมัย เพราะ ณ ช่วงเวลานั้นประเทศสยาม มีอุตสาหกรรมที่ล้าหลังจนไม่สามารถแข่งขันกับชาติอื่นๆ ได้
รัฐบาลได้ยึดแนวการบริหารประเทศ โดยคำนึงถึงความสมบูรณ์ของราษฎรทางด้านเศรษฐกิจจึงได้จัดทำแผนการดำเนินการทางเศรษฐกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอุตสาหกรรม กิจการบางอย่างที่เป็นสาธารณูปโภค รัฐจะเข้าควบคุมดูแลตลอดจนการร่วมงานกับบริษัทเอกชนดำเนินการในรูปของบริษัทสาธารณะ ส่วนที่ไม่เป็นสาธารณูปโภคจะให้ประชาชนดำเนินการธุรกิจอุตสาหกรรมได้
พูดง่ายๆ คือโอนกิจการบางส่วนของเอกชนที่รู้สึกว่าล้าหลังหรือไม่ทันสถานการณ์เป็นอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างระดับประเทศมาเพื่อกระตุ้นให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง
พ.ศ. 2485 ซึ่งตรงกับที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า จอมพลป.พิบูลสงคราม ยุคนี้เองกระแสโลกอยู่ในสภาวะความเป็นชาตินิยม ขณะที่ จอมพลป.เองก็มีความคิดสร้างความเป็นชาตินิยมให้กับประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือจะทำอย่างไรให้ไทยเองสามารถกินใช้ของไทยเอง ตามนโยบาย ไทยกิน ไทยใช้ ไทยเจริญ หนึ่งในวิธีการคือการต้องมีการจัดการโรงงานและระบบอุตสาหกรรมให้เป็นระบบ
เพื่อเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรม “รัฐบาลในสมัยนั้นจึงมีนโยบายที่จะจัดสร้างและดำเนินการอุตสาหกรรมและการพาณิชยกรรมภายในประเทศให้เป็นปึกแผ่น โดยแก้ไขพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยยุบกระทรวงการเศรษฐกิจและจัดตั้งกระทรวงใหม่ขึ้น 2 กระทรวงคือ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม”
5 พฤษภาคม 2485 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับการสถาปนาเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุตสาหกรรม โดยมี พล.ต.ม.ล.อภิรุม ชุมสาย เป็นอธิบดีคนแรก
กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีหน้าที่ดูแลโรงงานต่างๆ ที่เป็นของรัฐ ควบคุมดูแลการดำเนินงานของโรงงานเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงมาตรฐานแห่งคุณภาพและปริมาณ
ตลอดจนรักษาระดับราคาของผลิตภัณฑ์ที่โรงงานต่างๆ ผลิตจำหน่ายแก่ประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เห็นว่ามีความจำเป็นแก่ประเทศชาติในยามสงคราม เพราะช่วงนั้นเองกำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดิบพอดี
นโยบายที่สำคัญยุคจอมพล ป. คือการพยายามผลักดันนโยบายจัดสรรที่ดินแห่งชาติ โดยมีการกำหนดที่ดินที่อยู่อาศัยแต่ละครัวเรือนไม่ควรจะเกิน 5 ไร่ ที่ดินสำหรับการทำอุตสาหกรรมไม่เกิน 10 ไร่ และที่ดินสำหรับการเกษตรไม่เกิน 50 ไร่ สะท้อนให้เห็นว่า จอมพล ป.มีแนวคิดไม่ให้มีการผูกขาดที่ดินให้กับเจ้าที่ดินรายใหญ่ โดยเฉพาะไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือนายทุนอุตสาหกรรมอีกด้วย
แต่การผลักดันกฎหมายที่ดิน 4 ฉบับ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประสบปัญหาความขัดแย้ง การต่อต้านจากกลุ่มหลายๆ กลุ่ม เนื่องจากมองว่าให้อำนาจรัฐมากเกินไป หรือกลุ่มบางกลุ่มก็ได้ประโยชน์จากการสะสมการถือครองที่ดินก็ไม่ชอบใจนโยบายนี้
การผลักดันถูกเตะตัดขาภายหลังมีการรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพล ป. โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการทยอยยกเลิกคณะกรรมการพิเศษจัดสรรที่ดิน และกฎหมายอื่นๆ ตามมา ขณะเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์มีการประกาศคณะปฏิวัติ 2502 ยกเลิกการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เอกชนถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ออกจากประมวลกฎหมายที่ดินอีกด้วย
กลายเป็นว่าเมื่อมีการปลดล็อกการถือครองที่ดินให้กับทุนใหญ่ได้แล้ว ทำให้เกิดการกว้านซื้อของทุนใหญ่ และเกิดการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมแบบไม่ได้จำกัดกรอบจากภาครัฐมากนัก ทำให้การดำเนินธุรกิจทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรมเปิดกว้างมากขึ้น
ต่อมามีการออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2510-2514) มีวัตถุประสงค์หลักคือ เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมการพัฒนาในด้านรัฐวิสาหกิจและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน เน้นการพัฒนาสังคม การพัฒนากำลังคน ความสำคัญของภาคเอกชนขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ.2515-2519) มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรม สนับสนุนบทบาททางเศรษฐกิจของเอกชน
“เท่ากับว่าในยุคนี้เองบทบาทผู้เล่นหลักทางด้านอุตสาหกรรม ไม่ใช่อยู่ที่กรมโรงงานฯ อีกต่อไป แต่ผู้เล่นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอยู่ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”
ขณะที่ยุคคณะราษฎรและยุค จอมพล ป. พยายามจำกัดการถือครองที่ดินของนายทุน ควบคุมดูแลด้านอุตสาหกรรมให้อยู่ในกรอบโดยภาครัฐ แต่ตั้งแต่สมัย จอมพล สฤษดิ์ เป็นต้นมากลับสวนทางมีแนวทางที่ตรงกันข้ามทำให้เอกชนและผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมมีอำนาจมากขึ้น
แต่เป็นไปแบบที่ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ กล่าวถึงภาพรวมไว้ว่า ต้องอยู่ภายใต้ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์โดยมี จอมพล สฤษดิ์ เป็นแกนกลางของอำนาจและผลประโยชน์นั่นเอง
ปัญหาต่อมาที่ตามมาคือนายทุนหรือกลุ่มในประเทศไทยมีอำนาจขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่หน่วยงานราชการไทยและหน่วยงานที่ดูแลมีอำนาจอ่อนแอลงได้แต่ตามน้ำหรือแค่หลับตาหนึ่งข้างเพื่อมองไม่เห็นปัญหาดังกล่าว
ส่งผลถึงการลักลอบขนส่งแร่แคดเมียมจาก ตาก-สมุทรสาคร กลายเป็นสิ่งที่ (แอบ) ทำได้หากเจ้าของอุตสาหกรรมมีเครือข่ายอำนาจและมีเงิน ขณะเดียวกันทุกจากต่างประเทศอาจหาช่องโหว่ในเรื่องนี้ของไทยในการขนส่งสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเข้ามาในประเทศของเราก็ย่อมทำได้
ถึงแม้นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะลาออกกลางที่ประชุมใช่ว่าเรื่องจะจบ เพราะ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เดินทางมายื่นฟ้อง รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงอุตสาหกรรมและอธิบดีกรมโรงงานฯ ต่อไป
สุดท้ายแล้วเราควรตั้งคำถามว่าปัญหาแคดเมียมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน หรือเป็นการแบ่งผลประโยชน์ กันหรือเปล่า และใครอยู่เบื้องหลังเรื่องดังกล่าว เพราะผลสุดท้ายพวกเขาได้ประโยชน์จากโครงสร้างที่มีปัญหาแต่ประโยชน์กลับได้รับผลกระทบทางสุขภาพโดยที่พวกเขาไม่ได้อะไรเลย
อ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ / ประชาไท / 101 World / BBC / กรมโรงงานอุตสาหกรรม / ศิลปวัฒนธรรม / Silapa /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"อธิบดีกรมโรงงาน" เปิดใจหลังยื่นหนังสือลาออก ปัดตอบโดนแรงกดดัน
“พิมพ์ภัทรา” ชี้ขรก.ต้องทำเพื่อปชช. เสียกำลังใจไม่ได้ หลังอธิบดีกรอ. ลาออก