svasdssvasds

"ก้าวไกล" ขอตัดงบ 69 ล้าน โครงการต้านข่าวปลอม ชี้ไร้ประสิทธิภาพ ปิดตาประชาชน

"ก้าวไกล" ขอตัดงบ 69 ล้าน โครงการต้านข่าวปลอม ชี้ไร้ประสิทธิภาพ ปิดตาประชาชน

"ปกรณ์วุฒิ" สส.ก้าวไกล อภิปรายงบ ก.ดิจิทัลฯ ขอตัดงบ "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม" ทั้งโครงการ 69 ล้าน เหตุไร้ประสิทธิภาพ-ความเป็นกลาง ถามทำงานคุ้มงบหรือไม่ เชื่อตั้งศูนย์เป็นเครื่องมือรัฐปิดตาประชาชน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 เรียงตามมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิกา (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 พิจารณาเสร็จแล้ว เป็นวันที่สอง

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายขอสงวนคำแปรญัตติในมาตรา 16 (งบประมาณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ในส่วนของโครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม หรือศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยขอตัดงบประมาณทั้งโครงการจำนวน 69.57 ล้านบาท

จากผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในเดือนกันยายน 2566 ที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของศูนย์ฯ ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคนใหม่ เข้ามาดำรงตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้รับข้อมูลสำหรับการตรวจสอบทั้งหมด 5.47 ล้านข้อความ โดยส่วนใหญ่ได้มาจากการใช้เครื่องมือกวาดข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และมีบางส่วนได้มาจากการรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ฯ เช่น เฟซบุ๊กและไลน์ จาก 5.47 ล้านข้อความ

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้คัดกรองจนเหลือจำนวนเรื่องที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งสิ้น 539 เรื่อง จากนั้นจึงส่งเรื่องไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งสุดท้ายได้รับการตรวจสอบกลับมา 356 เรื่อง แต่สามารถ “เผยแพร่ได้” เพียง 235 เรื่องเท่านั้น โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแบ่งข้อมูลที่ตรวจสอบได้แต่ไม่ได้เผยแพร่ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) หน่วยงานไม่สามารถชี้แจงได้ 2) หน่วยงานปฏิเสธการตอบกลับ และ 3) หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่

ซึ่งทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้แปลเรื่องที่หน่วยงานเผยแพร่ คือ หน่วยงานไม่สามารถชี้แจงได้ หน่วยงานปฏิเสธการตรวจสอบ ตัวอย่างเรื่อง ครม.มีมติขยายการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ชายแดนใต้อีก 1 เดือน ตรวจสอบกรมประชาสัมพันธ์ได้คำตอบว่า ไม่สามารถชี้แจงได้ เพราะไม่มีข้อมูล

แต่ข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 18 ก.ย.66 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ว่ามีการประกาศขยายเวลาใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน ซึ่งเป็นข่าวที่หาได้ทั่วไป ตนเคยอ่านเจอว่า ทีโออาร์ศูนย์มีค่าอินเทอร์เน็ตด้วย แบบนี้คอมพิวเตอร์ทั้งศูนย์จะไม่มีเครื่องไหนเปิดค้นกูเกิลได้สักเครื่องเลยหรือ จากตัวอย่างนี้ตนสงสัยว่าจากงบเกือบ 70 ล้านบาทนี้เราได้ประสิทธิภาพในการทำงานเท่านี้จริงๆใช่ไหม

ตามหลักสากลหลักสำคัญของหน่วยงานที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น คือความเป็นกลางและความเป็นอิสระ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเองก็ยืนยันมาตลอดว่า ตนเองเป็นกลาง จากข่าวที่หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่ ครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปี2567 ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้านบาท จริงหรือไม่ ตรวจสอบไปที่กรมประชาสัมพันธ์ชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวจริง แต่ไม่ประสงค์เผยแพร่ เพราะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ตนมั่นใจมากว่าถ้าข่าวนี้เป็นข่าวปลอมข่าวนี้จะถูกเผยแพร่โดยศูนย์ต่อต้านฯอย่างแน่นอน

จึงทำให้ตนหายสงสัยว่า ทำไมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมถึงตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานราชการเท่านั้น เพราะตลอดเวลาตั้งแต่ตั้งศูนย์ฯ มาการส่งเรื่องไปให้หน่วยงานฯ ไม่ใช่เป็นการขอให้ตรวจสอบ แต่เป็นการขออนุญาตว่าหน่วยงานราชการจะอนุญาตยอมให้เผยแพร่หรือไม่

นี่คือหลักฐานที่ชัดเจนว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่เคยมีความเป็นกลาง เป็นแค่เครื่องมือของรัฐในการผูกขาดแบบที่รัฐจากจะให้คนรู้และปกปิดข้อเท็จจริงที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนเห็น และผมยืนยันว่าโครงการแบบนี้ไม่ควรได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

related