“เฉลิมชัย” ถือฤกษ์ 09.09 น. นำ กก.บห.ประชาธิปัตย์ สักการะพระแม่ธรณีฯ ย้ำหลายครั้ง ไม่ใช่พรรคอะไหล่ใคร ลั่นเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ภายหลังได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 โดยวันนี้นายเฉลิมชัย ถือฤกษ์เวลา 09.09 น. นำสักการะพระแม่ธรณีบีบมวยผม เพื่อขอพรในการเดินหน้าทำงานของพรรค
ทั้งนี้ ก่อนประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค นัดแรกอย่างเป็นทางการ นายเฉลิมชัย ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมวันนี้จะมีการพูดคุยถึงแนวทางการทำงาน และสภาพปัญหาต่างๆ รวมถึงการแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม รวมถึงการดูทิศทางการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากนี้
ทั้งนี้ขอให้รอดูการเปลี่ยนแปลงของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะการประชุมสามัญประจำปีครั้งหน้า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน พร้อมขอให้สื่อมวลชนและประชาชนได้ติดตามโซเชียลมีเดียของพรรค จะเห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้อย่างแน่นอน
ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ระหว่างวันที่ 3-5 มกราคมที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่วัน ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ว่า พรรคเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งและสมบูรณ์ ดังนั้น ในการพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณ 67 ในฐานะฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่ปกป้อง ตรวจสอบรัฐบาล และพร้อมปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่
ขอฝากสื่อไปยังทุกข่าวทุกสื่อ เลิกพูดสักทีว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอะไหล่ ประชาธิปัตย์เล่นบทได้หลายอย่าง เลิกสักทีเถอะครับขอร้องเลย มาดูความตั้งใจของพรรคประชาธิปัตย์
ขณะเดียวกัน นายเฉลิมชัย ย้ำว่า การทำหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านในการอภิปรายร่าง พรบ.งบประมาณ 67 ทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่ มีข้อเสนอแนะในสิ่งที่ประเทศชาติได้ประโยชน์ และต่อจากนี้จะทำหน้าที่อย่างเข้มข้น
ส่วนการอภิปรายร่าง พรบ.งบประมาณ 67 ที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถคืนฟอร์มฝ่ายค้าน ถือเป็นผลงานของพรรคใช่หรือไม่นั้น นายเฉลิมชัย ระบุว่า เป็นเจตนารมณ์ของพรรค อยู่แล้ว ที่ สส.จะทำหน้าที่อภิปราย แต่ที่ผ่านมาถูกคนอื่นบิดเบือนจากความเป็นจริง ทั้งที่ สส. ประชาธิปัตย์ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ทั้ง สส. รุ่นเก่า และรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ สส.รุ่นใหม่ ที่จะให้บทบาทในการอภิปราย และพรรคประชาธิปัตย์ทำงานเป็นทีม โดยมี สส.รุ่นเก่าคอยเป็นพี่เลี้ยง ขอให้มั่นใจได้เลยว่า หลังจากนี้พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมา ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไร ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่
สำหรับพรรคไทยสร้างไทยที่มี สส.งูเห่า 3 คน ลงมติรับหลักการร่าง พรบ.งบประมาณ 67 นั้น ก็เป็นเรื่องภายในพรรคที่ไปจัดการกันเองแต่ย้ำว่า ของพรรคประชาธิปัตย์ “ไม่มี” ซึ่งการลงมติของพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปในทิศทางเดียวกันถือเป็นการสะท้อนความเป็นเอกภาพของพรรคหรือไม่นั้นนายเฉลิมชัย กล่าวว่า ทุกคนก็เห็นอยู่แล้ว
จากนี้ไป ขอให้รอดูหลังมีการพูดคุยกับ นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ถึงแนวทางการทำงานหลังจากนี้ โดยเบื้องต้นนัดหารือในช่วงบ่ายของวันที่ 18 มกราคม 2567
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายนายเฉลิมชัย ยังย้ำอีกครั้งว่า อย่าลืมฝากไปบอกทุกคนด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ ก่อตั้งมา 77 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 78 ไม่มีไปเป็นพรรคอะไหล่ให้ใคร และไม่เคยเป็น
ภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนเชวง โฆษก ปชป. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่นัดแรก นานกว่า 2 ชั่วโมงว่า ในที่ประชุมมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งการตอบรับการเปลี่ยนแปลงจาก กกต. ซึ่งมีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 40 คน
ส่วนที่กรรมการบริหารฯ มีการเตรียมการพูดคุยคือในวาระต่อไปของสภา ที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งจะต้องเตรียมในการทำหนัาที่ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ โดยที่ประชุม มอบหมายให้ นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค และนายนริศ ขำนุรักษ์ รองหัวหน้าพรรคฯ รับผิดชอบในการดำเนินกิจการทางการเมืองเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ส่วนการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคที่จะเริ่มต้นในทันที เพื่อให้ประชาชนได้เห็นแม้จะมีการเปลี่ยน กก.บห.ชุดใหม่แต่ ปชป.มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างเต็มที่ และได้มอบหมายตำแหน่งสำคัญ อย่างรองหัวหน้าพรรคในแต่ละภาค โดยรองภาคทั้ง 5 คน 5 ภาคนั้น จะต้องมีการกำหนดกรอบการทำงานผ่านยุทธศาสตร์ภาค ยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อให้เห็นสภาพข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่ และเพื่อให้เห็นรายละเอียดทั้งหมด แล้วนำมาประกอบการทำงานของพรรค เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทุกรูปแบบ
รวมถึงที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการตั้งตัวแทนสาขาพรรคในทุกจังหวัด เพื่อรุกการทำงานกับตัวแทนพรรคประจำจังหวัดให้มีทุกจังหวัด เพราะมองว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะให้ประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับเขตเลือกตั้ง กับสมาชิกของพรรค เพื่อร่วมทำงานเต็มรูปแบบในการดูแลปัญหาของประชาขน เพราะส่วนกลางอาจจะทำงานอย่างละเอียดไม่ได้ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไข รวมถึงการร้องเรียนของประชาชนทุกเขตเลือกตั้ง ก็ต้องผ่านกระบวนการสาขาของพรรคด้วย
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำควบคู่ไปกับแนวนโยบายของหัวหน้าพรรค ในการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านกลไกการเข้าร่วมเป็นส่วนร่วมของพรรคการเมือง และจะต้องรณรงค์เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากที่สุด เพราะเราเป็นสถาบันทางการเมือง รากฐานของปชป.มาจากประชาชน และเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมมากที่สุด
นายราเมศ ยังกล่าวอีกว่า กรรมการบริหารพรรคฯ ได้พูดคุยถึงการรณรงค์ให้ประชาชน ร่วมกันเสียภาษีให้กับพรรคการเมือง โดยปชป.จะทำแคมเปญให้ประชาชนมีส่วนร่วมบริจาคภาษีให้ ปชป. ผ่านรหัส 001 เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความเป็นสถาบันทางการเมือง ที่จะต้องทำงานร่วมกับ สส. เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม และมุ่งเน้นการทำงานอย่างมีเอกภาพ ทุกองคาพยพ ทั้ง กก.บห. , สส. , อดีต สส. ,อดีตกก.บห. , สาขาพรรค ตัวแทนประจำจังหวัด และนายเฉลิมชัย ยังได้เน้นย้ำ เรื่องการเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็น และรับฟังทุกเสียงสะท้อนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วม โดยเสนอแนะให้ประชาชนเข้ามากำหนดทิศทางในการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ ยังได้ให้ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคฯ เข้ามาดูเรื่องการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้ทั้ง 77 จังหวัดให้มากที่สุด เพื่อการฟื้นฟูพรรค และเรียกศรัทธาให้กับพรรคได้มากที่สุด
นายราเมศ ยังยืนยันย้ำว่า พรรคเดินหน้าทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร หลังหลายฝ่ายตั้งคำถามเรื่องทำหน้าที่ไม่จริง และออมมือบ้าง แต่การอภิปรายที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ ในส่วนนักโทษที่มีที่พักที่โรงพยาบาลตำรวจ และมีการตั้งงบมานั้น ได้ใช้งบประมาณส่วนไหนอย่างเท่าเทียมกับนักโทษกว่า 2 แสนคนหรือไม่ เพราะประชาชนคงมาคำถามในเรื่องของการเลือกปฏิบัติ และถือว่ามีพรรคการเมืองเดียวที่พูดเรื่องนี้ด้วย เราเป็นฝ่ายค้านที่หน้าที่อย่างเข้มข้นตรงไปตรงมา เรื่องไหนทำถูกต้องก็ยินดี และหากไม่ถูกต้องก็ต้องท้วงติง
เมื่อถามว่า จะเป็นการตอกย้ำว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายราเมศ ระบุว่า มันเป็นคำถามที่ทุกคนพูดถึงมากเกินไป ซึ่งยืนยันย้ำว่า ปัจจุบันยังทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และการพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณฯ เป็นอีกกิจกรรมทางการเมือง ที่ชี้ให้เห็นว่า เราเป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และสร้างสรรค์ ส่วนประเด็นอื่นๆ ตนมองส่า เป็นหารกล่าวหาพรรคและพรรคก็เสียหาย ทั้งพรรคมีความไม่ชัดเจน ซึ่งความชัดเจนนั้นได้ผ่านการกระทำและการปฏิบัติ
เมื่อถามว่า ในวันที่ 18 ม.ค.หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการหารือกับผู้นำฝ่ายค้านในประเด็นใดบ้างนั้น นายราเมศ ระบุว่า การเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมกัน ถือเป็นเรื่องปกติของการที่ตะพูดคุยกัน และพรรคก้าวไกล ถือว่าเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านที่กำหนดยุทธศาสตร์ และนโยบายพรรค เราก็แสดงความเห็นอยู่หลายครั้ง ไม่ใช่ว่า เป็นฝ่ายค้านแล้วเราจะเห็นด้วยในนโยบายของพรรคก้าวไกล ส่วนใหญ่ตะเป็นการพูดคุยกลไกในการทำงานร่วมกันภายในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งการจัดสรรเวลา และการจัดสรรข้อมูล ในประเด็นต่างๆของก่รทำงานในสภา ในฐานะที่เป็นฝ่ายค้านร่วมกันจึงมีความจำเป็นต้องพูดคุยเพื่อให้บทบาทของฝ่ายค้านในสภาเป็นอย่างราบรื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง