ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้อง ธาริต เพ็งดิษฐ์ "อดีตอธิบดี DSI " มติชน ข่าวสด ไม่ผิด เสนอข่าวตั้งข้อสงสัย "สุเทพ" แก้สัญญาสร้างโรงพัก 396 เเห่ง รวมฉบับเดียว ชี้ติชมสุจริตเชิงตรวจสอบ เข้าข้อยกเว้น ม.329
วันที่ 20 ก.พ. 2563 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.00 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.1940/2556 ที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีต อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , บริษัท มติชน จก. , นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บก.นสพ.มติชน , บริษัท ข่าวสด จก. และนายสุริวงศ์ เอื้อปฏิภาณ บก.นสพ.ข่าวสด เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328
จากกรณีเมื่อวันที่ 27 ก.พ. - 5 มี.ค.56 นายธาริต จำเลยที่ 1 ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กล่าวหาโจทก์ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงสัญญาโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง จากประมูลรายภาครวมเป็นรายเดียว ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธคดี โดยคดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.61 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-5 เนื่องจากนายธาริต จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ ในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ย่อมมีอำนาจแถลงข่าวการตั้งข้อสงสัยเเละเชิงตรวจสอบแก่สื่อมวลชนในเรื่องดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ
เเละเป็นการให้ข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นสื่อมวลชน ก็ได้เสนอข้อเท็จจริงตามที่ นายธาริต จำเลยที่ 1 เเถลงข่าวจึงเป็นการกระทำโดยสุจริต ติชมเพื่อความเป็นธรรม ตามที่วิสัยวิญญูชนพึงกระทำ ต่อมานายสุเทพ ยื่นอุทธรณ์
ขณะที่วันนี้ นายธาริต อดีตอธิบดีดีเอสไอ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2-5 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ได้เดินทางไปยังศาล ส่วนฝ่ายโจทก์ ไม่ได้เดินทางไปศาล สำหรับคดี "ศาลอุทธรณ์" ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ที่โจทก์นำสืบและอุทธรณ์ทำนองว่า นายธาริต จำเลยที่ 1 แถลงและรีบให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมีจำเลยที่ 2 , 4 อยู่ด้วยว่าโจทก์จงใจฝ่าฝืนมติ ครม.เกี่ยวกับการประมูลจัดจ้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมาตรา 157 และกฎหมายอื่น โดยจำเลยที่ 2 ,4 นำข้อความแถลงหรือให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์มติชนรายวันและข่าวสดรายวัน
ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น ผู้กระทำผิดจะต้องมีเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก และข้อความที่เป็นหมิ่นประมาทที่ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 จะต้องเป็นข้อความที่ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง และผู้กระทำนั้นจะต้องไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 (1)(2)(3)(4) เมื่อคดีนี้ได้ความจากคำเบิกความของพยานว่า ดีเอสไอมีคำสั่งตั้งหัวหน้าคณะสืบสวนเกี่ยวกับข้อร้องเรียนโจทก์โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง ที่กระทำขัดต่อมติ ครม. ก็ได้ทำการสืบสวนไปตามอำนาจหน้าที่
ส่วนการให้ข่าวหรือสัมภาษณ์เป็นอำนาจของ นายธาริต จำเลยที่ 1 อธิบดีดีเอสไอ ขณะนั้นจะมีคณะทำงานเป็นผู้ให้ข้อมูลต่างๆแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งจะสรุปประเด็นข้อเท็จจริงที่สำคัญพร้อมรายละเอียด และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ตรวจสอบพบ โดยเป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ว่าจะแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์มากน้อยเพียงใด จากข้อเท็จจริงนั้น จะเห็นได้ว่า นายธาริต จำเลยที่ 1 ในฐานะ อธิบดีดีเอสไอ มีอำนาจจะแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ใดๆ เกี่ยวกับคดีความที่อยู่ระหว่างทำการสืบสวนสอบสวนให้ประชาชนและสื่อมวลชนทราบว่าคดีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนใด ข้อเท็จจริงจากการศึกสวนสอบสวนได้ความว่าอย่างไร มีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง
จากข่าวที่ปรากฏล้วนแต่เป็นการแสดงให้ความเห็นเป็นไปของข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอได้มาจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ และเป็นการแสดงความเห็นของจำเลยที่ 1 ประกอบเอกสารที่กระทำในฐานะ อธิบดีดีเอสไอ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวน ถึงการกระทำของโจทก์ว่าเข้าข่ายความผิดใดบ้าง ส่วนรายละเอียดของคดีในสำนวนจะเป็นอย่างไรก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์เข้าไปในรายละเอียดของสำนวนอันเป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ที่จะพึงพิจารณาว่า จะให้ข้อเท็จจริงได้เพียงใดที่จะไม่กระทบต่อรูปคดีที่จะเกิดความเสียหายคดี ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่หวังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยลอยไม่มีพยานหลักฐานใดมาสืบยืนยันให้เห็นเจตนาที่แท้ของจำเลยที่ 1 ที่แถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งด้วยหวังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ดำเนินการใดเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ดำเนินการกับจำเลยที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นทางวินัยหรือทางอาญา ฐานเป็นข้าราชการที่ไม่วางตัวเป็นกลางทางการเมือง จึงเป็นความเข้าใจโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 มีเจตนาหวังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็เป็นไปได้
ดังนั้นการแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่ตนมี ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1-5 จึงเป็นการกระทำไปโดยสุจริตในกรอบของกฎหมาย เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (2)(3) จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนให้ยกฟ้อง