svasdssvasds

สภาองค์กรของผู้บริโภค เตือน กสทช. มติควบรวมทรู-ดีแทค ผิดกฎหมาย

สภาองค์กรของผู้บริโภค เตือน กสทช. มติควบรวมทรู-ดีแทค ผิดกฎหมาย

สุภิญญา กลางณรงค์ ชี้ มติเสียงข้างรับทราบ 3:2:1 ไฟเขียวควบรวมทรู-ดีแทค ผิดกฎหมาย ขอให้ทบทวนมติการประชุมพิเศษวาระเรื่องนี้ใหม่ เพื่อทำมติให้ชัดเจน ครบถ้วน โปร่งใส และเป็นไปตามกฎหมาย

จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 3:2:1 โดยมีการสรุปว่าคณะกรรมการได้ตัดสินว่า กสทช. มีหน้าที่เพียง “รับทราบ” 3 เสียง ซึ่งชนะกรรมการที่ลงมติว่า “ไม่อนุญาต” ให้ควบรวมที่มีคะแนน 2 เสียง โดยมีหนึ่งคะแนนเสียง “งดออกเสียง”นั้น

วันนี้ สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค และอดีตกรรมการ กสทช. กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ส่งหนังสือด่วนถึง เลขาธิการ กสทช. ว่ามติดังกล่าวอาจเป็นมติที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากผิดระเบียบข้อบังคับการประชุมของ กสทช. และมติดังกล่าวขัดกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ประกอบถ้อยคำให้การที่ กสทช. ให้ไว้ในการพิจารณาคดีที่ศาลปกครองว่า กสทช. เป็น “ผู้มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาต” พิจารณาการควบรวมบริษัท หาก กสทช. ไม่รับฟังการทักท้วงครั้งนี้และจะดำเนินการส่งหนังสือแจ้งมติไปยังบริษัทเอกชนทั้งสอง อาจถือว่าเป็นเจตนาจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมี ภูมิภัส พลการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร เป็นผู้รับหนังสือแทน

“มติดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการกล่าวอ้างว่าถึงคะแนนเสียง 2:2:1 ว่าเป็นคะแนนเสียงที่เท่ากันแล้วให้ประธานออกเสียงชี้ขาดเพิ่มอีกหนึ่งเสียงนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบประโยชน์สาธารณะจึงต้องใช้มติพิเศษที่ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากทั้งหมด ถึงจะมีความชอบธรรม” สุภิญญากล่าว

สภาองค์กรของผู้บริโภค เตือน กสทช. มติควบรวมทรู-ดีแทค ผิดกฎหมาย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ ระบุอีกว่า การยื่นหนังสือต่อ กสทช. ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อขอให้ชะลอการส่งหนังสือแจ้งมติและทบทวนมมติให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน เนื่องจาก การประชุมที่มีมติ 2:2:1 แล้วประธานมีการออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเพื่อตัดสินชี้ขาดนั้น อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 41 แห่งระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555

ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันและไม่ใช่กรณีได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนทั้งหมด เนื่องจากกรรมการที่ลงคะแนนเสียงมีทั้งหมด 5 คน และมีการลงมติเห็นชอบจำนวน 2 เสียง ลงมติไม่เห็นชอบจำนวน 2 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง ประธานจึงไม่มีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงเป็นเสียงชี้ขาดตามข้อ 41 วรรคท้ายได้ และผลการลงมติดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามข้อ 41 (2) เนื่องจากเป็นการประชุมที่ต้องได้รับมติพิเศษ คือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการ “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนกรรมการทั้งหมด มติดังกล่าวจึงต้องตกไป และต้องมีการลงมติใหม่ ดังนั้นการที่ประธานมีคะแนนเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดและกำหนดให้การประชุมดังกล่าวมีมติรับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจึงอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกประเด็นหนึ่งที่สุภิญญาเน้นย้ำคือ คำวินิจฉัยของศาลปกครองเรื่องอำนาจของ กสทช. ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต มติของ กสทช. อาจทำให้ กสทช. ต้องเจอปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากการลงมติรับทราบดังกล่าวนี้อาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยอ้างถึงคดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ของศาลปกครองกลาง

กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้มีการยอมรับต่อศาลว่าสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในการห้ามมิให้มีการรวมธุรกิจ โดยมีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ให้มีการถือครองธุรกิจในประเภทเดียวกัน รวมถึงมีคำสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ อันอาจเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันได้ และศาลปกครองกลางก็ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งรับรองอำนาจดังกล่าวของ กสทช. ด้วย

“อยากจะเรียนท่านประธาน และกรรมการ กสทช. และ ท่านรักษาการเลขาธิการ ขอให้ทบทวนมติการประชุมพิเศษวาระเรื่องนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำมติให้ชัดเจน ครบถ้วน โปร่งใส และเป็นไปตามกฎหมายมากขึ้นกว่านี้” สุภิญญา กล่าวทิ้งท้าย

related