“ชัชชาติ” สั่งจับตาสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา 7-10 ต.ค. นี้ พร้อมเผยเบื้องหลังที่ประชุม มท. แนวความคิดทางด่วนระบายน้ำ คนละทิศคนละทางกับกรมชลฯ ยังหาข้อสรุปไม่ได้
วันที่ 3 ต.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์ระดับน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า ที่สถานีบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีน้ำถึง 3,409 ลบ.ม./วินาที ซึ่งมีความจุสูงสุดที่ 3,500 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น จึงเป็นที่กังวลว่า อาจจะมีน้ำเกินความจุหรือไม่ ทั้งนี้จากการรายงาน เมื่อเช้าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 20 ซม. ซึ่งเป็นระดับที่มากกว่าปกติ แต่ยังอยู่ในสภาวะที่รับมือได้ เพราะจากการตรวจสอบ ยังมีพื้นที่รับน้ำเหลืออีกประมาณ 1 เมตร
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เฝ้าระวังทุกจุด ขณะเดียวกันต้องขอความร่วมมือกับกรมเจ้าท่า กรณีเรือแล่นทำให้เกิดคลื่นปะทะเขื่อนบางจุดเสียหาย ต้องไปสูบน้ำออกและเสริมความแข็งแรงมากขึ้น สถานการณ์ขณะนี้ต้องเฝ้าระวัง กทม.กำลังอยู่ในจุดเปราะบางที่สุด คือเรื่องน้ำเหนือไหลลงมา ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนเพิ่มเติม จากการคาดการณ์น่าจะสูงสุดในช่วง 7 - 10 ต.ค.นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องผลการประชุมกับกระทรวงมหาดไทยวันนี้ เกี่ยวกับแนวทางจัดการน้ำที่ กทม. เสนอไปยังต้องรอสรุปความชัดเจนอีกครั้ง โดย กทม. กับกรมชลประทาน มีแนวทางเสนอต่างกันคือ กทม. เสนอทำทางด่วนน้ำในเขตลาดกระบัง จากคลองลำปลาทิว ลงมาทางทิศตะวันออก เพราะน้ำจุดนี้ระบายออกยาก หากสูบออกทางคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ก็ไม่ได้ ติดพื้นที่น้ำท่วมของเกษตรกร หากจะสูบน้ำลงมาทางใต้ สู่คลองสำโรงก็เอ่อ จึงจำเป็นต้องระบายออกคลองพระโขนง เหตุนี้ กทม.จึงเสนอทางด่วนน้ำ จากคลองลำปลาทิวไปออกที่คลองร้อยคิว ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร
ขณะที่ กรมชลประทาน เสนออีกทางหนึ่งว่า ให้ระบายน้ำออกทางคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต แต่เสริมคันคลองตลอดแนวไปถึงบางปะกง ดังนั้น ต้องรอผลสรุปอีกครั้ง เพราะการก่อสร้างอยู่นอกพื้นที่ กทม. ต้องให้กรมชลประทานเป็นผู้ตัดสินใจว่าแบบไหนเหมาะสม เพราะไม่ว่าแบบใด ก็คือทางด่วนน้ำเหมือนกัน ตามเกณฑ์ต้องสูบน้ำได้อย่างน้อย 50 ลบ.ม./วินาที อาจเป็นอุโมงค์ หรือคลองส่งน้ำก็ได้ ต้องคุยรายละเอียดอีกครั้ง