SHORT CUT
ธนาคารกลางคืออะไร มีหน้าที่อะไร และธนาคารกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในประเทศไหนบ้าง แล้วมีสินทรัพย์รวมเท่าไร่
เมื่อพูดถึง “ธนาคารทั่วไป” สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในใจของหลายคน คือสถานที่สำหรับบริการด้านการเงิน เช่น ฝากเงิน ถอนเงิน บริการสินเชื่อ หรือกู้เงิน แต่มี ธนาคาร อีกแบบที่ไม่ได้มุ่งเน้นบริการเหล่านั้น แต่กลับมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก็คือ “ธนาคารกลาง”
โดย “ธนาคารกลาง” หรือ “Central Bank” ทุกประเทศ มีหน้าคือ รับผิดชอบในการดำเนินนโยบายการเงิน จัดการสกุลเงินของประเทศ และควบคุมปริมาณเงิน ซึ่งแบ่งออกมาได้หลักๆ ดังนี้
ธนาคารกลางมีหน้าที่กำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น เพื่อให้มั่นใจถึงเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนเงิน หรือธนาคารกลางจะเลือกที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ หรือลดลงเพื่อกระตุ้นการบริโภคและเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเวลานั้น)
ธนาคารกลางเป็นผู้มีอำนาจในการออกเหรียญและธนบัตร ปริมาณเงิน และควบคุมจำนวนเงินหมุนเวียน ธนาคารกลางทำเช่นนี้เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และให้ตัวแทนทางเศรษฐกิจต่างๆ (ครอบครัว บริษัท และรัฐ) สามารถใช้สภาพคล่องในการทำธุรกรรมได้ ในด้านสกุลเงิน ธนาคารกลางยังรับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าอัตราแลกเปลี่ยนยังคงมีเสถียรภาพ รวมถึงการเป็นเจ้าของและควบคุมเงินสำรองอย่างเป็นทางการ
ธนาคารกลางเป็นผู้ควบคุมดูแล ตรวจสอบการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้อยู่ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และเพื่อให้สถาบันธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง สามารถดำเนินกิจกรรมทาง เศรษฐกิจได้อย่างราบรื่น และประโยชน์ต่อส่วนรวม
ธนาคารพาณิชย์ สามารถกู้เงินจากธนาคารกลางเพื่อรักษาสภาพคล่องทำกำไร หรือชำระหนี้ได้ แต่ไม่ใช่วิธีที่นิยมทำกันบ่อยนัก
ธนาคารกลางมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและรายงานสิ่งเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
สิ่งสำคัญคือ ธนาคารกลางต้องดำเนินการทั้งหมดนี้โดยไม่ขึ้นกับกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจในประเทศ เนื่องจากเป้าหมายของธนาคารกลางคือรับประกันเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งทุกการตัดสินใจขึ้นอยู่กับหน่วยงานกำกับดูแลที่ประกอบด้วยสถาบันการเงินโดยตรง
เพราะธนาคารกลางมีอำนาจในการพิมพ์เงิน หากตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจทำให้การเงินของประเทศเสียสมดุล ธนาคารกลางจึงต้องเป็น “องค์กรอิสระ”
ธนาคารกลาง มีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยแห่งแรกคือ “Riks Bank of Sweden” หรือ “ธนาคารกลางสวีเดน” ที่มีขึ้นเพื่อดูแลการเงินให้กับประเทศ หลังจากนั้นประเทศอื่นๆ จึงเริ่มมีธนาคารกลางของตัวเองบ้าง แต่บทบาทของธนาคารกลางยังไม่สำคัญเท่าไหร่นัก จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้น ธนาคารกลางในหลายประเทศจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และมีบทบาทสำคัญกับต่อความเจริญทางเศรษฐกิจของทุกประเทศ จนถึงปัจจุบัน
สำหรับ “ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย” หรือ “แบงก์ชาติ” เปิดทำการครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม 1942 มีบทบาทหน้าที่เหมือนกับธนาคารกลางทั่วโลก คือดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ถึงธนาคารกลางจะเป็นตัวแทนของสถาบันการเงินของประเทศ แต่ก็สามารถเป็นตัวแทนของกลุ่มธนาคารได้เช่นกัน เช่น “ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank)” ที่เป็นองค์กรกำกับดูแลระบบการเงินและการธนาคารในกลุ่มประเทศยูโรโซน
1.ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve System) - สินทรัพย์รวม 288 ล้านล้านบาท
มีชื่อย่อว่า Fed ก่อตั้งขึ้นในปี 1913 เพื่อกำกับดูแลระบบธนาคารภายในประเทศและเพื่อควบคุมปริมาณเงิน การที่มีสินทรัพย์รวมมากเป็นอันดับ 1 ของโลก สะท้อนถึงขนาดและความสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
2.ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) – สินทรัพย์รวม 203 ล้านล้านบาท
มีชื่อย่อว่า BOJ ก่อตั้งขึ้นในปี 1882 มีหน้าที่รับผิดชอบในการออกสกุลเงิน จัดการทุนสำรอง และดำเนินนโยบายการเงิน การที่ BOJ เติบโตขึ้นอย่างมาก เป็นผลพวงมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
3.ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China) – สินทรัพย์รวม 189 ล้านล้านบาท
เรียกย่อว่า PBOC ก่อตั้งขึ้นในปี 1948 มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน การออกสกุลเงิน และการจัดการทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ การที่ PBOC สินทรัพย์รวมสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นเพราะ เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว
4.ธนาคารกลางเยอรมัน (Deutsche Bundesbank) - สินทรัพย์รวม 102 ล้านล้านบาท
ก่อตั้งขึ้นในปี 1957 มีบทบาทสำคัญในการสร้างเงินยูโร และมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการเงินในเยอรมนี นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินของ “ธนาคารกลางยุโรปอีกด้วย
5.ธนาคารกลางฝรั่งเศส (Bank of France) -สินทรัพย์รวม 73 ล้านล้านบาท
ก่อตั้งขึ้นในปี 1800 และเป็นหนึ่งในธนาคารกลางที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการเงินสำหรับฝรั่งเศส และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปด้วย
6.ธนาคารกลางอิตาลี (Bank of Italy) - สินทรัพย์รวม 50 ล้านล้านบาท
ก่อตั้งปี 1894 มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการเงินสำหรับอิตาลี และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปด้วย
7. ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) – สินทรัพย์รวม 47 ล้านล้านบาท
ก่อตั้งขึ้นในปี 1694 และเป็นหนึ่งในธนาคารกลางที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการเงินสำหรับสหราชอาณาจักรและการออกสกุลเงิน
8. ธนาคารกลางสเปน (Bank of Spain) – สินทรัพย์รวม 38 ล้านล้านบาท
ก่อตั้งขึ้นในปี 1782 มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการเงินสำหรับสเปน และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป
9. ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss National Bank) - สินทรัพย์รวม 34 ล้านล้านบาท
มีชื่อย่อว่า “SNB” ก่อตั้งขึ้นในปี 1907 มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการเงิน รวมถึงจัดการทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และเป็นที่รู้จักกันดีในประวัติศาสตร์ของการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อทำให้ค่าเงินฟรังก์สวิสอ่อนค่าลง
10. ธนาคารกลางบราซิล (Central Bank of Brazil) - สินทรัพย์รวม 29 ล้านล้านบาท
ก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการเงินของประเทศ
สรุปคือ ธนาคารกลางมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก ขนาดของฐานสินทรัพย์ของธนาคารกลางเป็นตัววัดความมั่งคั่งและอิทธิพลของธนาคารกลางนั้นๆ ซึ่งธนาคารกลางในรายชื่อนี้ล้วนมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการเศรษฐกิจของประเทศที่ขนาดใหญ่ และการกระทำของพวกเขาอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบการเงินโลก
ที่มา : SWFI / Angelone / Bank of Thailand
ข่าวที่เกี่ยวข้อง