11 สัตว์โบราณ ที่ไม่ถูกระบบวิวัฒนาการเล่นงาน เพราะตั้งแต่ยุคบรรพกาลจนถึงปัจจุบัน รูปร่างหน้าตาแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากในอดีต (ล้านปี) จะมีสัตว์อะไรบ้าง ติดตามได้ที่บทความนี้
ถือเป็นเรื่องยากมาก ที่สัตว์จะไม่มีวิวัฒนาการเลยเมื่อเวลาผ่านไปหลายล้านปี โลกของเราในแต่ละยุคมีรายละเอียดแตกต่างกัน สภาพอากาศ แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหาอาหาร หรือผู้ล่า
สัตว์หลายชนิดมีการวิวัฒนาการเผ่าพันธุ์ตัวเองไปตามกาลเวลา เพื่อดำรงสายพันธุ์ให้อยู่รอดต่อไป แต่ “วิวัฒนาการ” ที่ว่าจะเกิดขึ้นแตกต่างกันไป อย่างต่ำกินเวลาไม่น้อยกว่าสองล้านปีถึงจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงบนร่างกายอย่างชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น “วาฬ” ที่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ครั้งหนึ่งวาฬเคยเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่บนบกมาก่อน โดยสัตว์ที่เรียกได้ว่าเป็นญาติกับวาฬคือ “ฮิปโปโปเตมัส”(Hippopotamus) ซึ่งคาบเวลาการวิวัฒนาการจากสัตว์บก แล้วค่อย ๆ ลงไปอยู่ในน้ำของวาฬกินเวลามากหลายร้อยล้านปี แรกเริ่มขาจะเริ่มหดสั้นลง จนขาหายไปเลย และมีอวัยวะอื่น ๆ เพื่อช่วยในการใช้ชีวิตใต้น้ำได้อย่างคล่องแคล่วแทน
แต่รู้หรือไม่ว่า โลกของเรามีสัตว์อยู่ราว 11 ชนิด ที่ตั้งแต่ยุคบรรพกาล ปัจจัยดังที่กล่าวไปแทบไม่มีผลให้สัตว์เหล่านี้วิวัฒนาการเผ่าพันธุ์ตัวเองเลย เมื่อล้านปีที่แล้วเป็นอย่างไร ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มีตั้งแต่ “นักล่า” ใต้ทะเลลึก ไปจนถึงสัตว์ในห้องน้ำที่บ้านคุณเลยล่ะ
ปลาซีลาแคนท์เป็นปลาโบราณที่อาศัยอยู่ในทะเลลึก พบได้นอกชายฝั่งแอฟริกาและอินโดนิเซีย ปลาชนิดนี้ถูกบันทึกว่าชีวิตอยู่มาตั้งแต่ช่วง 400 ล้านปีก่อน (ดูจากซากฟอสซิล) ซึ่งตรงกับยุคดีโวเนียน (419 – 358 ล้านปี)
ในช่วงแรกที่มีการเริ่มการศึกษา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปลาซีลาแคนท์สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ 65 ล้านปีก่อน กระทั่งมีการค้นพบปลาชนิดนี้อีกครั้งในมหาสมุทรอินเดียตะวันตก
ปลาซีลาแคนท์สามารถมีความยาวได้ถึง 2 เมตร และหนักได้ถึง 90 กิโลกรัม อีกหนึ่ง Fact ที่ชวนตะลึงไม่น้อย การศึกษาพบว่า ปลาชนิดนี้สามารถมีอายุขัยได้ถึง 100 ปี
เรียกได้ว่าเป็น ฟอสซิลที่ยังมีชีวิต (Living Fossil) ที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก หอยชนิดนี้แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย นับตั้งแต่ยุคบรรพกาล ข้อมูลจาก Live Science ระบุว่า หอยชนิดนี้มีชีวิตอยู่ในช่วง 500 ล้านปีก่อน ในช่วงยุคพาลีโอโซอิกตอนต้น ประมาณ 541 – 252 ล้านปีก่อน
หอยงวงช้างพบได้ที่มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก (Pacific Ocean) และมหาสมุทรอินเดีย เป็นหอยที่อาศัยอยู่ในกระดองอันซับซ้อน และมีความแข็งแรงมาก มีเรื่องเล่าว่า ลักษณะการวนภายในของหอยงวงช้างตรงตามลักษณะของสัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) แบบพอดิบพอดี ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างหนึ่ง
ฉลามก็อบลินเป็นปลาที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกที่หายาก (มาก) และค่อนข้างน่ากลัว ด้วยรูปร่างภายนอกที่ดูไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย ลำตัวยาวได้ถึง 4 เมตร และหนักได้ถึง 210 กิโลกรัม มีครีบขนาดเล็ก ทำให้สามารถเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าฉลามชนิดอื่น ๆ
ปลาโบราณชนิดนี้มีชีวิตอยู่มาตั้งแต่ 125 ล้านปีก่อน เอกลักษณ์ของปลาฉลามก็อบลินมีอยู่ 2-3 อย่าง อย่างแรกคือ มีจมูกแบนยาวซึ่งเต็มไปด้วยต่อมรับไฟฟ้า นั่นหมายความว่า ปลาชนิดนี้สามารถรับรู้ถึงสนามไฟฟ้าได้
นอกจากนี้ ยังมีกรามที่เต็มไปด้วยฟันแหลมคม ที่สามารถตะครุบเหยื่อได้อยู่หมัด นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปลาฉลามก็อบลินเป็นนักล่าที่อันตรายอย่างมากในท้องทะเลลึก มีโอกาสพบได้ที่มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย
มองไม่ผิด ยำแมงดาที่เรากินกินอย่างเอร็ดอร่อยคือสัตว์โบราณชนิดหนึ่งของโลก ที่รูปร่างหน้าตาไม่ได้เปลี่ยนแปลงแม้แต่น้อย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ล้านปี แมงดาปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อ 300 ล้านปีก่อน
หลัก ๆ แล้ว แมงดามีอยู่สี่สายพันธุ์ ได้แก่ แมงดาแอตแลนติก (Limulus polyphemus) แมงดาอินโดแปซิฟิกหรือแมงดาจาน (Tachypleus gigas) แมงดาญี่ปุ่น (Tachypleus tridentatus) และ แมงดาถ้วย (Carcinoscorpiu rotundicauda)
แมงดามีกระดองที่แข็งแรง มีทั้งหมด 10 ขาไว้ใช้เดิน และมีขา 1 คู่ เอาไว้ใช้หยิบเอาอาหารเข้าปาก เราเรียกว่า chelicerae
กบสีม่วง หรืออีกชื่อคือ กบจมูกหมู จะว่าน่ารักก็ใช่ จะว่าน่าชังก็ไม่ผิดนัก กบชนิดนี้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่หาได้ยากในวงศ์ Nasikabatrachidae เห็นแบบนี้ กบสีม่วงตั้งรกรากบนโลกมาเป็น 100 ล้านปีแล้ว
ครั้งล่าสุดที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบกบสายพันธุ์นี้ คือพบในพื้นที่ตะวันตกของประเทศอินเดีย เมื่อปี 2003 สันนิษฐานว่า กบสีม่วงใช้เวลาอยู่ใต้ดินเป็นส่วนใหญ่เพื่อผสมพันธุ์ แต่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
หากดูจากลักษณะภายนอก จะมีสีผิวมันวาว สีออกม่วงเข้มไปถึงดำ มีลำตัวป่อง อวบอ้วน ขาสั้น หัวเล็ก และมีใบหน้าที่แอบคล้ายหมูเล็กน้อย
มังกรโคโมโดเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษรุนแรง นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เผ่าพันธุ์ของนักล่ารายนี้ น่าจะมีชีวิตมาตั้งแต่ช่วง 100 ล้านปีก่อน (ค้นพบฟอสซิลที่ออสเตรเลีย)
ทว่า ปัจจุบันนี้พบได้มากที่ประเทศอินโดนิเซีย บนหมู่เกาะ Lesser Sunda และเกาะโคโมโด สัตว์โบราณชนิดนี้ ถือเป็นจิ้งจกไซส์ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสามารถเติบโตจนมีความยาวได้ถึง 3 เมตร หนักประมาณ 150 กิโลกรัม
เรานำวิดีโอการล่าเหยื่อของมังกรโคโมโดมาให้ได้ชมกัน จะได้เห็นว่า จิ้งจกยักษ์รายนี้ โหดเหี้ยม ทารุณมาก และเป็นอันตรายมากแค่ไหน บอกได้เลยว่า เห็นแล้วมีขนลุกแน่นอน
*ขอบคุณคลิปจาก How To Survive
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อ 110 ล้านปีก่อนในยุคครีเทเชียส (145 – 66 ล้านปีก่อน) ปัจจุบันนี้ สามารถพบตุ่นปากเป็ดได้แค่เฉพาะที่แถบตะวันออกของประเทศออสเตรเลียเท่านั้น
หากใครจำกันได้ ไม่นานมานี้ มีการค้นพบตัวตุ่น Attenborough เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี เพราะคนเชื่อกันว่าพวกมันน่าจะสูญพันธุ์กันไปแล้ว ปรากฏว่าได้ยลโฉมอีกครั้ง สามารถดูคลิปได้ด้านล่าง
ตัวตุ่นปากเป็ดมีลำตัวแบน หัวท้ายเรียว มีความยาวเฉลี่ย 50 เซนติเมตร หนักได้ถึง 1 – 2 กิโลกรัม โดยปกติแล้ว ตัวตุ่นปากเป็ดมักออกหากินในเวลากลางคืน ตามแหล่งน้ำจืดเช่น ลำธาร แม่น้ำ ทะเลสาบ
มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pentalagus furnessi เป็นกระต่ายดึกดำบรรพ์สายพันธุ์สุดท้ายที่ยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน
นักวิทยาศาสตร์คาดว่า กระต่ายอามามิมีชีวิตอยู่ในช่วงโพลสโตซีน (Pleistocene) ประมาณ 2.6 – 11,700 ปีก่อน นับเป็นสัตว์โบราณชนิดหนึ่งของโลกที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน กระต่ายอามามิอาศัยอยู่บนเกาะเล็ก ๆ นอกชายฝั่งของประเทศญี่ปุ่น ณ ขณะนี้มีการประเมินว่า ประชากรของกระต่ายชนิดนี้เหลือเพียงแค่ราว ๆ 5,000ตัวเท่านั้น
หนูหิน ที่ไม่ใช่หนูหิ่น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Laonastes aenigmamus ถอดความได้ว่า ผู้อาศัยอยู่ในหิน (คำแรก) และ หนูประหลาด (คำหลัง)
หนูชนิดนี้มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีขนปกคลุมสีดำ-เทาทั้งตัว ทว่า มีหางคล้ายกับกระรอก มีอุ้งเท้าคล้ายเป็ด ทำให้เดินได้ช้า และไม่มีความสามารถในการปีนป่ายเหมือนหนูทั่ว ๆ ไป
หนูหินถือเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่ามีชีวิตอยู่มาตั้งแต่ช่วง 11 ล้านปีก่อน โดยศึกษาจากซากฟอสซิลที่พบในมณฑลซานตง ทางตอนใต้ของประเทศจีน
หนึ่งในสัตว์ทีน่าจะมีคนเกลียดชังเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยกลิ่น รูปลักษณ์ ที่ชวนขนลุกเป็นไหน ๆ หากย้อนดูความเป็นมาแล้ว แมลงสาบถือเป็นหนึ่งในแมลงที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก
บันทึกซากฟอสซิลของแมลงสาบที่มีการค้นพบ บ่งชี้ว่า แมลงชนิดนี้น่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วง 300 ล้านปีก่อน ความรู้ ณ ปัจจุบัน ระบุว่า โลกของเรามีแมลงสาบทั้งหมด 4,000 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนัก
มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Orycteropus afer พบได้มากในทวีปแอฟริกา ชื่อ “อาร์ดาร์ก” แปลว่า หมูดิน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ชอบออกหากินในเวลากลางคืน (Nocturnal) ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อ 50 ล้านปีก่อน
หมูดินรายนี้ มีจมูกและปากยาวลักษณะคล้ายท่อ มีฟันเป็นลักษณะคล้ายรูปหกเหลี่ยม จำนวน 20 ซี่ มีใบหูยาวคล้ายลา
อาร์ดวาร์กเป็นสัตว์ที่มีประสาทการรับกลิ่นและฟังชั้นยอด สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของแมลงใต้ดินได้ หูฟัง จมูกดม และยังเป็นนักเดินตัวจริง เพราะมีการบันทึกว่า ในหนึ่งวันหมูดินเดินหาอาหารไกลถึง 48 กิโลเมตร เทียบเท่า full marathon เลยทีเดียว
ที่มา: Live Science
เนื้อหาที่น่าสนใจ