svasdssvasds

ซูริค vs เดลี 2 เมืองที่มีอากาศ ยอดเยี่ยม-ยอดแย่ ที่สุดในโลก ต่างกันตรงไหน?

ซูริค vs เดลี  2 เมืองที่มีอากาศ ยอดเยี่ยม-ยอดแย่ ที่สุดในโลก ต่างกันตรงไหน?

ซูริค คือเมืองที่มีอากาศสะอาดที่สุดในโลก ด้วยค่า AQI 0.51 µg/m³ (ต่ำที่สุดในโลก) กลับกัน เดลี คือเมืองที่มีอากาศยอดแย่มากที่สุดในโลกด้วยค่า AQI ประมาณ 358 µg/m³ Spring News ชวนส่องวิธีรับมือ-มาตรการกำจัดฝุ่นของทั้ง 2 เมืองนี้

ปี 2024 จะสดใสกว่าเดิม หากเรามีอากาศสะอาดได้หายใจ แม้ปัญหาฝุ่นควัน-มลพิษจะยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับหลายเมืองทั่วโลก แต่หลายเมืองก็เริ่มมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมออกมารับมือกับปัญหาฝุ่นร้ายที่เกิดขึ้น เพื่อเสิร์ฟอากาศสะอาดให้กับประชาชน

ในปีช่วงปีที่ผ่านมา เมืองที่ครองตำแหน่ง “อากาศสะอาดที่สุดในโลก” ได้แก่ “ซูริค” ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยค่า AQI เฉลี่ยทั้งปีราว 0.51 µg/m³ กลับกัน เมืองที่รั้งตำแหน่ง เมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลก ตกเป็นของ เดลี ประเทศอินเดีย ที่มีค่า AQI ราว 358 µg/m³

Keep The World ชวนส่องวิธีการรับมือของทั้งสองเมืองที่แตกต่างกันสุดขั้ว ทั้งในแง่ของ ประชากร ตำแหน่ง ที่ตั้ง ขนาดของเมือง และพื้นเพของเมือง มาดูกันว่าทั้งสองมีมาตรการเด็ดอะไรที่จะจัดการกับฝุ่น-มลพิษ ติดตามได้ที่บทความนี้

อากาศที่ย่ำแย่อย่างต่อเนื่องที่เดลีเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ Cr. Reuters

เดลี, เมืองอากาศยอดแย่

ลองนึกภาพว่าคุณอาศัยอยู่ในเมืองที่วันหนึ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้มากกว่าหนึ่งพันครั้งในหนึ่งวัน รวมทั้ง มลพิษต่าง ๆ เช่น มลพิษจากรถยนต์ การก่อสร้าง การเผาขยะจากโรงงาน และภาคเกษตรกรรม แค่คิดก็แน่นจมูกแล้ว

เมืองเดลีมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นประมาณ 33 ล้านคน ในหนึ่งปีเมืองเดลีติดอันดับเมืองที่มีอากาศย่ำแย่ของโลกไปแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ความน่าตกใจคือ รัฐบาลไม่มีท่าทีตอบโต้กับเรื่องปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นมากเท่าที่ควร

ชาวเมืองเดลีอาจมีอายุไขสั้นลง 11.9 ปี อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบของอากาศที่ย่ำแย่ Cr. Reuters

ข้อมูลจาก The Guardian ระบุว่า สุขภาพของประขากรในเมืองเดลีกำลังย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ จากการรวบรวมข้อมูลของมหาวิทยาลัยชิคาโก พบว่า ชาวเมืองเดลีอาจมีอายุไขสั้นลง 11.9 ปี อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบของอากาศที่ย่ำแย่

แพทย์ในเมืองเดลีออกมายืนยันเรื่องนี้อีกเสียงว่า อากาศที่ย่ำแย่อย่างต่อเนื่องเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ จากการสำรวจของแพทย์ ประชาชนเริ่มตบเท้าเข้ามาที่โรงพยาบาลกันมากขึ้นด้วยอาการไอ หวัด น้ำตาไหล และมีปัญหาเรื่องระบบหายใจมากขึ้น

รัฐจัดการปัญหามลพิษอย่างไร

พรรค Aam Admi ที่รับหน้าที่บริหารอยู่ ณ ขณะนี้ก็ยืนยันกับประชาชนของตัวเองอย่างขึงขังว่า เตรียมแผนรับมือกับปัญหามลพิษไว้แล้ว ทว่า สิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำดำเนินตรงกันข้าม หากใครจำกันได้ ในเมืองเดลีได้ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศยักษ์ หรือ Smog Tower ไว้ทั่วเมือง

กินงบประมาณหลายล้านบาท แต่เมื่อผู้เชี่ยวชาญลงไปสำรวจการทำงานของเครื่องฟอกอากาศนั้นแล้ว กลับพบว่า “ไม่ได้ดีอย่างที่คิด” สรุปแล้ว ปัญหาสุขภาพของประชาชนใช่สิ่งแรกที่รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญหรือไม่

พรรค Aam Admi ที่รับหน้าที่บริหารอยู่ ณ ขณะนี้ยืนยันกับประชาชนของตัวเองว่า เตรียมแผนรับมือกับปัญหามลพิษไว้แล้ว  Cr. Reuters

ทั้งนี้ ชาวเดลี ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอากาศย่ำแย่สีขาวโพลนต่อไป เพราะแม้ประชาชนจะส่งเสียงเรียกร้อง หรือป่วยแค่ไหน ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะยังมีเรื่องอื่นที่ต้องทำมากกว่าจัดหาอากาศสะอาด ที่มีผลต่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนชาวอินเดีย ช่างตลกร้าย...

ซูริค, สวิตเซอร์แลนด์

ในปีที่ผ่านมา ซูริค รั้งอันดับ 1 เมืองที่มีอากาศสะอาดที่สุดในโลก การันตีด้วยค่า AQI เฉลี่ยทั้งปีแค่ 0.51 µg/m³ (ต่ำที่สุดในโลก) ทว่า เมืองนี้มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 402,762 คน เมืองเล็ก คนน้อยใช่ว่าปัญหาจะไม่เกิด

ซูริค รั้งอันดับ 1 เมืองที่มีอากาศสะอาดที่สุดในโลก การันตีด้วยค่า AQI เฉลี่ยทั้งปีแค่ 0.51 µg/m³  Cr. Reuters

ในช่วงก่อนยุคทศวรรษ 90s ซูริคประสบปัญหาการเผาไหม้จากภาคเกษตรเป็นอย่างมาก ส่งกลิ่นควันคลุ้งไปทั่วทั้งเมือง จนทำให้ระยะหลังเมืองซูริคประกาศมาตรการที่ออกมาจัดการกับปัญหาการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างจริงจังมากขึ้น จนสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคเกษตรไปได้มากถึง 16.7%

เมื่อเมืองโตขึ้น เทคโนโลยีก็พากันหลั่งไหลเข้ามา หนึ่งในเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อชาวเมืองมากที่สุดเห็นจะเป็น ยานพาหนะ (ทุกประเภท) ด้วยความที่เป็นเมืองขนาดเล็ก สถานที่แต่ละแห่งตั้งอยู่ไม่ได้ไกลกันมาก

ในช่วงแรกที่ประชาชนเลือกขับรถไปทำให้การจราจรติดขัด เกิดฝุ่นควันจากท่อไอเสีย ซึ่งทางเมืองซูริคเห็นปัญหาตรงนี้แล้วก็ไม่รอช้า รีบลงมาจัดการกับปัญหาอย่างมีกลยุทธ์

เมืองซูริคประกาศมาตรการที่ออกมาจัดการกับปัญหาการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างจริงจังมากขึ้น จนสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคเกษตรไปได้มากถึง 16.7% Cr. Reuters

ในปี 2006 เมืองซูริคดันกฎหมายเสนอลดฝุ่น เขม่าควันจากท่อไอเสีย ซึ่งหลังจากที่มีการบังคับใช้แล้ว ผลปรากฏว่า สามารถลดการปล่อยควันดำจากยานพาหนะในเมืองได้ถึง 70%

แต่ต้องเรียนว่าอีกหนึ่งขาที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในการชักจูงให้ชาวเมืองลดการใช้รถส่วนตัวลงคือ ระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้ออำนวยอย่างมาก อาทิ การมีจุดให้ชาวเมืองได้ยืมจักรยานได้ฟรีกระจายทั่วทั้งเมือง นอกจากนี้ ยังมีรถราง ที่ราคาเอื้อกับค่าแรงขั้นต่ำของประชาชน

กล่าวคือ เหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้ “ซูริค” กลายเป็นเมืองที่มีอากาศสะอาดที่สุดในโลก กลับกัน “เดลี” ก็กลายเป็นเมืองที่มีอากาศยอดแย่อันดับต้น ๆ ของโลกไปอย่างไม่ต้องสงสัย สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันของสองเมืองนี้คือ วิธีการรับมือของผู้เกี่ยวข้องที่วางระดับความสำคัญของปัญหาฝุ่นควันไม่เท่ากัน

 

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related