ราคาน้ำตาลแพง เพราะอะไร? เผบราคาน้ำตาลโลกพุ่งสูงสุดในรอบ 12 ปี บราซิลเอาน้ำตาลมาทำเอทานอล อินเดียจำกัดการส่งออกเพื่อเก็บให้คนในประเทศบริโภค ไทยกำหนดให้ น้ำตาลทราย เป็นสินค้าควบคุม
น้ำตาลนับได้ว่าเป็นทั้งส่วนผสมและเครื่องปรุงสำคัญ ของอาหารทั่วโลก นอกจากนี้ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนได้อีกด้วย ดังนั้น เมื่อชาติที่เป็นรายใหญ่การส่งออกน้ำตาลเกิดปัญหา จึงไม่แปลกที่ธุรกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีประชากรบริโภคน้ำตาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจนำสู่ไปภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารในประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้
น้ำตาล เกิดจากมาจาก ‘ต้นอ้อย’ ที่ผ่านกระบวนการ ‘หีบอ้อย’ ด้วยเครื่องจักร โดยน้ำอ้อยที่ออกมาจะถูกปั่นแยกเป็นผลึก ส่วนกากน้ำตาลสามารถกลั่นเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดย่าง “เอทานอล” ได้ และ กากอ้อยก็ยังถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานไฟฟ้าได้อีกด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ต้องใช้เครื่องจักรตัวใหญ่เป็นอันดับต้นๆ
โดยประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก มักตั้งอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร เพราะอ้อยเป็นพืชเขตร้อน และต้องอาศัยอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 26-35 เซลเซียส ทำให้ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลที่สำคัญของโลกได้แก่ บราซิล อินเดีย ไทย ออสเตรเลีย กัวเตมาลา เม็กซิโก เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลสำรวจจาก World's Top Exports ในปี 2565 ได้เผย ผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ได้แก่ อันดับหนึ่ง บราซิล ส่งออกมูลค่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (35.6% ของการส่งออกน้ำตาลทั่วโลก) อันดับที่สอง อินเดีย ส่งออกมูลค่า 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (18.6%ของการส่งออกน้ำตาลทั่วโลก) และ อันดับที่สาม ไทย ส่งออกมูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (9.9% ของการส่งออกน้ำตาลทั่วโลก)
ทว่าการมาถึงของปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ รอบใหม่ในปี 2566 ทำให้อากาศร้อนและแห้งแล้งในแถบเอเชีย ส่งผลให้ประเทศส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จึงส่งออกน้ำตาลได้น้อยลง หรือบางประเทศถึงขั้นจำกัดการส่งออกเพื่อเก็บไว้บริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงขึ้น ทำให้บางประเทศนำกากน้ำตาลไปผลิต ‘เอทานอล’ แทน ดังนั้นเมื่ออุปทานในโลกลดลง ราคาน้ำตาลจึงถีบขึ้นทันที
โดยตอนนี้ราคาน้ำตาลโลก อยู่ที่ 27 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในรอบ 12 ปีเลยทีเดียว (อ้างอิง : tradingeconomics)
อย่างไรก็ตาม เมื่อรายใหญ่อย่างอินเดียจำกัดการส่งออกน้ำตาล ไทยจึงได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยจากการสำรวจประเทศที่ส่งออกน้ำตาลทรายมากที่สุดซึ่งวัดจากปี 2022 ถึงปี 2023 พบว่า
บราซิลคือประเทศที่ครองแชมป์ส่งออกน้ำตาลมาอย่างยาวนาน แม้ในปี 2023 ที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งจาก ‘เอลนีโญ’ จนผลผลิตการเกษตรหายไปเยอะ บราซิลก็ยังคงส่งออกน้ำตายได้มากที่สุดอยู่ดี แต่ก็ต้องลดลง 15.7% จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป และบราซิลให้ความสำคัญกับการผลิต ‘เอทานอล’ มากขึ้นเพราะให้กำไรสูง เนื่องจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้บราซิลยังประสบปัญหาด้านโลจิสติกส์ เพราะไม่มีเรือส่งสินค้าอย่างเพียงพอ จึงมีน้ำตาลและสินค้าอื่นๆ อีกจำนวนมาก ค้างอยู่ที่ท่าเรือ ซึ่งถ้าบราซิลส่งออกน้ำตาลได้มากขึ้น ราคาน้ำตาลโลกก็อาจลดลงได้อีก
ถึงจะเป็นรายใหญ่ด้านการส่งออกน้ำตาล แต่อินเดียผลิตน้ำตาลเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และไม่นานมานี้อินเดียเผชิญกับภัยแล้งหนักในรัฐ ‘มหาราษฏระ’ และ ‘คาร์นาตากา’ ที่เป็นพื้นที่ปลูกอ้อย 50 % ของประเทศ ซึ่งทำให้ผลผลิตลดลงไปมาก
ทั้งนี้อินเดียมีประชากร 1400 ล้านคน จึงมีการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศที่สูงมาก และการเฉลิมฉลองปีใหม่กำลังใกล้เข้ามา อินเดียจึงต้องจำกัดการส่งออกน้ำตาลอย่างไม่มีกำหนด เพราะต้องเอามาบริโภคในประเทศก่อน
ไทยคือหนึ่งในประเทศส่งออกน้ำตาลอันดับต้นๆ มาโดยตลอด โดยสัดส่วนการส่งออกน้ำตาลของไทยคือ 61% ส่วนบริโภคในประเทศคือ 39 % แต่ในปี 2023 ไร่อ้อยไทยได้รับความเสียหายจาก ‘เอลนีโญ’ เหมือนกับประเทศผลิตน้ำตาลอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้ไทยผลิตน้ำตาลได้น้อยลง 7-10%
ทั้งนี้สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ยืนยันว่าน้ำตาลทรายในไทยไม่ขาดแคลนแน่นอน และไม่ได้ห้ามส่งออก เพราะมีสต๊อกเหลืออยู่เยอะ อย่างไรก็ตาม น้ำตาลทรายกลายเป็นสินค้าควบคุมในไทยนาน 1 ปี โดยให้ขายไม่เกินกิโลกรัมละ 25 บาท เพื่อดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้หากจะส่งออก จะต้องแจ้งปริมาณการส่งออก และปริมาณน้ำตาลทรายคงเหลือ มาให้กรมการค้าภายในรับทราบทุกเดือน
หลังจากมาตรการนี้ออกมา มีชาวไร่อ้อยจำนวนมากไม่พอใจที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับกระทรวงพาณิชย์เรื่องคุมราคาน้ำตาล เพราะตอนนี้ต้นทุนของชาวไร่อ้อยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าน้ำมัน จึงมีการเรียกร้องให้ พิจารณาปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 4 บาท เพื่อช่วยชาวไร่อ้อย และสมทบเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อจูงใจให้ชาวไร่หันมาตัดอ้อยสดแทนการเผา ซึ่งจะช่วยลดค่าฝุ่น PM 2.5 ไปด้วย
แต่ทั้งนี้ เบื้องต้นคณะรัฐมนตรี ได้ขึ้นราคาน้ำตาลให้กิโลละ 2 บาท เพื่อเยียวยาชาวไร่อ้อย แต่อีก 2 บาทที่ร้องขอเข้ากองทุน ยังไม่อนุมัติ แต่จะขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันก่อน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภคเพียงฝ่ายเดียว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาพาณิชย์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษ ออกตรวจตาม ห้างค้าปลีกค้าส่ง ตลาดสด และโรงงานผลิตน้ำตาล ว่ามีการแอบกักตุนหรือขึ้นราคาน้ำตาลหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าปริมาณน้ำตาลยังคงเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ จนถึงฤดูกาลหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :