ไทม์ไลน์การเมืองหลังวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 รัฐบาลรักษาการ เปิดประชุมสภา โหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปแล้ว โดยได้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ และต่อจากนี้ คาดการณ์ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 13 ก.ค. จากนั้น จัดตั้งรัฐบาล และทูลเกล้าฯรายชื่อคณะรัฐมนตรี ต่อไป
เปิดไทม์ไลน์ จากเลือกประธานสภาฯ ถึง เลือกนายกฯ คนที่ 30 จนถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
4 ก.ค. 2566 : เปิดประชุมเลือกประธานสภาฯ โดย "วันนอร์" วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้นั่งเป็นประธานสภาฯ แบบไร้คู่แข่ง จากการเสนอชื่อโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ
13 ก.ค. 2566 : ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
21 ก.ค. 2566 : แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ปลาย ก.ค. 2566 : ครม. ถวายสัตย์ปฏิญาณ รัฐบาลรักษาการ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดการทำงาน
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรี และการตั้งคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ซึ่งจะทำให้รัฐบาล ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จะรักษาการต่อจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ณ เวลานี้ ถือว่า เสร็จแล้วสำหรับการเลือกประธานรัฐสภา จากนั้น ประธานสภาจะเรียกประชุมทั้งสองสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งแล้วแต่ประธานรัฐสภาว่าจะให้มีการเลือกนายกฯช่วงไหน เบื้องต้นคาดว่า จะเป็นวันที่ 13 ก.ค. 2566
โดยในรายละเอียดนั้น ประธานสภานัดประชุมรัฐสภาเลือกนายกฯ : ส.ส. 500 คน และ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน จะมาโหวตเลือกนายกฯ กติการะบุว่า ต้องได้เสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง หรือก็คือไม่น้อยกว่า 376 เสียง จึงจะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ก่อนจะโปรดเกล้าฯ ต่อไป มีการคาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม
นายกฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี : ตั้งฝ่ายบริหารชุดใหม่ ก่อนนำชื่อคณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ และพา ครม. ชุดใหม่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาล ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับตำแหน่ง มีการคาดการณ์ว่าเราอาจได้รัฐบาลใหม่ราวเดือนสิงหาคม 2566
หากทุกอย่างเรียบร้อย คาดว่า จะมีการแต่งตั้ง ครม.ใหม่ในวันที่ 21 ก.ค. แล้วจึงถวายสัตย์ฯ ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2566
โดยทั้งหมดเป็นเพียงแค่กรอบเวลาตามกฎหมาย ยังระบุวันที่แน่ชัดไม่ได้ เพราะแล้วแต่ประธานสภาฯ อย่าง "วันนอร์" วันมูหะมัดนอร์ มะทา
ทั้งนี้ ขอให้ ครม.ชุดปัจจุบันเตรียมตัวด้วย เพราะ ครม.ชุดนี้จะต้องไปรับเสด็จในพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เพราะต่อให้ได้นายกฯคนใหม่แล้ว แต่ ครม.ยังต้องทำงานจนกว่า ครม.ชุดใหม่จะถวายสัตย์ปฏิญาณตนถึงจะสิ้นสุดการทำงาน ซึ่งจะเริ่มนับหนึ่งการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งจากวันนั้น
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เคยกล่าวถึงเรื่องนี้เพียงสั้นๆ ว่า “เรายังต้องทำงานกันต่อจนถึงวันนั้น”