svasdssvasds

“พายุไต้ฝุ่น” กับชื่อที่เปลี่ยนไป ตามแหล่งกำเนิดและอัตราความเร็วลม

“พายุไต้ฝุ่น” กับชื่อที่เปลี่ยนไป ตามแหล่งกำเนิดและอัตราความเร็วลม

พายุไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคน ไซโคลน คือพายุประเภทเดียวกัน มีความเร็วลม 64 นอตขึ้นไป (118 กม./ชม.ขึ้นไป) โดยชื่อที่ใช้เรียกนั้น ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดของพายุ

ไต้ฝุ่น คือพายุหมุนฤดูร้อน ที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ และทะเลจีนใต้ โดยทั้งไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคน และไซโคลน คือพายุประเภทเดียวกัน แต่ชื่อจะเปลี่ยนไปตามแหล่งกำเนิด รวมถึงอัตราความเร็วลม ดังต่อไปนี้

ชื่อ “พายุหมุนเขตร้อน” ที่ใช้แหล่งกำเนิดเป็นตัวกำหนด

 1. ไต้ฝุ่น

พายุที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ และทะเลจีนใต้

2. เฮอร์ริเคน

พายุที่เกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก และทางด้านตะวันตกของเม็กซิโก

3. ไซโคลน

พายุที่เกิดในอ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดีย

“ไต้ฝุ่น” กับชื่อที่เปลี่ยนไป ตามแหล่งกำเนิดและอัตราความเร็วลม

ชื่อ “พายุหมุนเขตร้อน” ที่ใช้อัตราความเร็วลม เป็นตัวกำหนด

1. ไต้ฝุ่น

ความเร็วลม 64 นอตขึ้นไป (118 กม./ชม.ขึ้นไป)

2. พายุโซนร้อน

มีความเร็วลม 34 - 63 นอต (62 - 117 กม./ชม.)

3. ดีเปรสชัน

ความเร็วลมไม่เกิน 33 นอต (61 กม./ชม.)

“พายุหมุนเขตร้อน” กับประเทศไทย

ประเทศไทย ตั้งอยู่ระหว่างบริเวณแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อนทั้งสองด้าน ด้านตะวันออกคือมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลจีนใต้ ส่วนด้านตะวันตกคืออ่าวเบงกอล และทะเลอันดามัน โดยพายุมีโอกาสเคลื่อนจากมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลจีนใต้เข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออก มากกว่าทางตะวันตก

ปกติประเทศไทย จะมีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามาได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3 - 4 ลูกต่อปี บริเวณที่พายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านเข้ามามากที่สุด คือภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค ในระยะต้นปีระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นช่วงที่ประเทศไทยปลอดจากอิทธิพลของพายุ ต่อมาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี ที่พายุเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ แต่มีโอกาสน้อยและเคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบ 50 ปี (พ.ศ.2494-2543)

พายุเริ่มมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมโดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นพายุที่เคลื่อนมาจากด้านตะวันตก เข้าสู่ประเทศไทยตอนบน และตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

พายุส่วนใหญ่จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออก โดยช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พายุยังคงเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน ซึ่งบริเวณตอนบนของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่พายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านเข้ามามากที่สุด

และเดือนกันยายนถึงตุลาคม พายุมีโอกาสเคลื่อนเข้ามาได้ในทุกพื้นที่ โดยเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตั้งแต่เดือนกันยายน ในสองเดือนนี้เป็นระยะที่พายุมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยได้มาก โดยเฉพาะเดือนตุลาคม มีสถิติเคลื่อนเข้ามามากที่สุดในรอบปี

สำหรับช่วงปลายปีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พายุจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนได้น้อยลง และมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้มากขึ้น เมื่อถึงเดือนธันวาคมพายุมีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้เท่านั้น โดยไม่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนอีก เนื่องจากในช่วงปลายปีบริเวณความกดอากาศสูง จากประเทศมองโกเลียและจีน นำความหนาวเย็นลงมาสู่ละติจูดต่ำกว่า ระบบอากาศในช่วงนี้จึงไม่เอื้อให้พายุที่เกิดขึ้นเหนือทะเล เคลื่อนตัวขึ้นสู่บริเวณประเทศไทยตอนบน

“ไต้ฝุ่น” กับชื่อที่เปลี่ยนไป ตามแหล่งกำเนิดและอัตราความเร็วลม

ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา

related