ทำความรู้จักกับ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) คือใคร เจ้าสัวโลกชายที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก ซีอีโอ Tesla และ SpaceX รวมถึง The Boring Company ที่กำลังโด่งดังที่สุด ณ ตอนนี้ด้วยดีลการซื้อ Twitter ให้เป็นของส่วนตัวด้วยมูลค่า 41,400 ล้านดอลลาร์
อีลอน มัสก์ อภิมหาเศรษฐีของโลก ซีอีโอของ Tesla รวมถึงบริษัทยานอวกาศ SpaceX ชายที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก เราจะพาไปทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของอีลอน มัสก์ ให้รู้จักกันมากขึ้นอีกสักนิด
ประวัติของเด็กชายอีลอน มัสก์
แม้ปัจจุบันอีลอน มัสก์ จะอาศัยอยู่ที่คาเมรอนเคาตี้ (Cameron County) รัฐเท็กซัส (Texas) ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ความจริงแล้วอีลอน มัสก์ ไม่ใช่ชาวอเมริกัน แต่เป็นชาวแอฟริกาใต้ ที่ปัจจุบันถือสัญชาติอยู่ทั้งหมด 3 สัญชาติด้วยกัน ได้แก่ แอฟริกาใต้ แคนาดา และอเมริกา เนื่องจากอีลอน มัสก์ เกิดที่เมือง พริทอเรีย (Pretoria) , ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 1971 (ปีนี้อายุครบ 51 ปี) โดยมีพ่อคือ เออร์รอล มัสก์ (Errol Musk) เป็นชาวแอฟริกาใต้ ในขณะที่แม่ เมย์ มัสก์ (Maye Musk) เป็นลูกครึ่ง แอฟริกาใต้-แคนาดา ซึ่งทั้งคู่หย่ากันในปี 1980 อีลอน มัสก์ มีน้องชายและน้องสาวอย่างละคนชื่อ คิมบอล มัสก์ (Kimbal Musk) และ ทอสกา มัสก์ (Tosca Musk) เกิดในปี 1972 และ 1974 ตามลำดับ
อีลอน มัสก์ ใฝ่ฝันมาตลอดว่าอยากจะไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จึงได้วางแผนที่จะเข้าประเทศจากทางแคนาดา เพราะง่ายกว่าที่จะบินจากแอฟริกาใต้เข้าไปโดยตรง พออายุได้ 17 ปี จึงบินไปอยู่ที่ซัสแคตเชวัน (Saskachewan) ประเทศแคนาดา กับญาติ ทำให้อีลอน มัสก์ ได้เข้าเรียนปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยควีน (Queen’s University) ในออนแทรีโอ (Ontario) ประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะย้ายไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylavnia) ซึ่งจบจากที่นั่นออกมาในปี 1995 พร้อมใบปริญญาสองสาขา ด้วย สาขาฟิสิกส์และเศรษฐศาสตร์
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
อีลอน มัสก์ เริ่มต้นชีวิตวัยทำงาน
หลังจากที่จบมาในปีเดียวกัน อีลอน มัสก์ ได้ก่อตั้งบริษัท Zip2 บริษัทสารบบธุรกิจออนไลน์ (Online Business Directory) ร่วมกับน้องชายของเขา คิมบอล มัสก์ และขายให้กับ Compaq ด้วยมูลค่า 307 ล้านดอลลาร์ในปี 1999 ทำให้ตัวอีลอน มัสก์ ได้เงินทุนมา 22 ล้านดอลลาร์ หลังจากนั้นอีลอน มัสก์ ได้ก่อตั้งบริษัท X.com ที่ให้บริการการชำระเงินออนไลน์ และไปควบรวมกับบริษัท Confinity จนกลายเป็น PayPal ในปัจจุบัน และขายให้กับ eBay ในปี 2002 ด้วยมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์
อีลอน มัสก์ ได้ก่อตั้ง SpaceX บริษัทวิจัยและผลิตยานอวกาศเพื่อการสำรวจ โดยวางภารกิจสำรวจดาวอังคารไว้เป็นเป้าหมาย ปัจจุบันมูลค่าของ SpaceX อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้อีลอน มัสก์ เคลมตัวเองไว้ว่าเป็น "จักรพรรดิแห่งดาวอังคาร" (Emperor of Mars) เพราะ SpaceX เป็นเจ้าตลาดเอกชนด้านอวกาศ
หลังจากที่ Tesla ถูกก่อตั้งในปี 2003 โดยมาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด (Martin Eberhard) และ มาร์ค ทาร์เพนนิง (Marc Tarpenning) สองอดีตวิศกรให้กับ General Motors (GM) ที่ไม่พอใจกับการกระทำของบริษัทที่ทำลายอนาคตของโลกยานยนต์ทิ้ง ด้วยการสั่งระงับแผนวิจัยพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพร้อมสั่งทำลายรถยนต์ ด้วยเหตุที่ว่า "รถยนต์เชื้อเพลิงยังขายได้ดีอยู่" จึงไม่มีเหตุต้องพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าต่อ ทั้งคู่รู้จักกับอีลอน มัสก์ ในงานระดมทุน และได้แต่งตั้งให้อีลอน มัสก์ เป็นซีอีโอตั้งแต่นั้นมา
ในปัจจุบัน Tesla มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนอีลอน มัสก์ ที่เป็นซีอีโอนั้นถือครองหุ้น Tesla อยู่ประมาณ 172.6 ล้านหุ้น หรือประมาณ 17% นั่นเท่ากับสินทรัยพ์ของอีลอน มัสก์ จาก Tesla อยู่ที่ประมาณ 1.7 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นแหล่งความมั่งคั่งหลักของอีลอน มัสก์ โดยรายได้ของ Tesla มาจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ช่วยสงเคราะห์เงินให้ เนื่องจากได้ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับประเทศ ทำให้สหรัฐฯ ไม่ต้องจ่ายภาษีคาร์บอนในปริมาณที่สูงลิ่ว
SolarCity บริษัทวิจัยพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ที่ก่อตั้งโดยลูกพี่น้องสองคนของอีลอน มัสก์ ในปี 2006 ซึ่งได้รับการช่วยเหลือด้านเงินทุนจากอีลอน มัสก์ ต่อมา Tesla ได้ซื้อ SolarCity ไปในปี 2016 ด้วยมูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์
ในปี 2015 อีลอน มัสก์ ได้ร่วมก่อตั้งบริษัท Open AI และออกจากคณะกรรมการไปแล้วตั้งแต่ปี 2018
ต่อมาในปี 2016 อีลอน มัสก์ ได้ก่อตั้ง 2 บริษัท The Boring Company บริษัทก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการขุดเจาะอุโมงค์ ได้โปรเจ็คใหญ่ครั้งแรกในลาสเวกัส อีกบริษัทหนึ่งที่อีลอน มัสก์ ก่อตั้งได้แก่ Neuralink บริษัทที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบประสาท เพื่อให้มนุษย์สามารถสื่อสารกับเครื่องจักรได้ โดยใช้การส่งกระแสประสาท
อีลอน มัสก์ เข้าซื้อหุ้น Twitter ประมาณ 9.2% จนทำให้กลายเป็นข่าวใหญ่โต และอีลอน มัสก์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Twitter จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่กลุ่มแวนการ์ด (Vanguard Group) ซื้อหุ้น Twitter เพิ่มเติมทำให้จำนวนสุทธิที่ถืออยู่คือ 82.4 ล้านหุ้น ประมาณ 10.3% ไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย.
ทำให้ล่าสุดอีลอน มัสก์ ที่ไม่ยอมนั่งเก้าอี้คณะกรรมการ กลับเสนอซื้อหุ้น Twitter ที่เหลือทั้งหมด ด้วยมูลค่า 54.20 ดอลลาร์/หุ้น นั่นเท่ากับว่าจะดันมูลค่าของ Twitter จาก 14,060 ล้านดอลลาร์ เป็น 41,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งดูเหมือนว่าเหล่านักลงทุนท่าจะไม่ค่อยพอใจมากเท่าไรนัก เพราะหลังจากที่อีลอน มัสก์ ประกาศไป หุ้นของ Twitter กลับร่วงลง 1.7%
จากนี้ คงต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของอีลอน มัสก์ ในการเป็นผู้ถือหุ้น ของแพลตฟอร์มโชเชียลมีเดียอย่าง Twitter ที่เขาเพิ่งประกาศว่า "Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่กำลังจะตาย ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง" แต่ทำไมเขากลับเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดเป็นของตัวเอง ?
ทางออกของ Twitter ในการหนีพ้นจากเงื้อมมือบุรุษที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจะเป็นทางใดกัน โดยทางสื่อต่างประเทศได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า Twitter อาจต้องเสนอขายให้กับ Microsoft ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ภายใต้การนำของนักเทคโอเวอร์ อย่าง สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella)