SHORT CUT
มาร์โค โปโล ต้นแบบของการดูงานต่างประเทศ นำเอาความรูจากจีนมาเปลี่ยนแปลงยุโรป ไปดูงานต้องได้งานที่จับต้องได้จริง!
เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลามีโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศ ใบสมัครถึงเต็มไวยิ่งกว่าแจกของฟรี? เพราะมันไม่ใช่แค่การได้เรียนรู้ระบบการบริหารสุดล้ำหรือเทคโนโลยีสุดเจ๋งของต่างแดนเท่านั้น แต่ยังได้โอกาสไปเดินชิลล์ตามแลนด์มาร์กชื่อดัง กินอาหารพื้นเมือง และแอบซื้อของฝากกลับบ้าน (แน่นอนว่าเพื่อการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น!) เรียกได้ว่า "ได้งานด้วย ได้เที่ยวด้วย" แบบนี้ต่อให้เรียกว่าไปทำงาน แต่ใครละจะไม่อยากไปดูงานต่างประเทศ
แต่การดูงานต่างประเทศไม่ได้เพิ่งมาฮิตในยุคนี้ เพราะย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ผู้นำระดับโลก นักวิชาการ และข้าราชการรุ่นบุกเบิกก็เคยออกเดินทางไปศึกษาระบบบ้านอื่นเมืองอื่นกันเป็นเรื่องปกติ
ในยุคโบราณ แนวคิดของการเดินทางเพื่อเรียนรู้มีมานานแล้ว เช่น ในสมัยกรีกและโรมัน มีนักปรัชญา นักวิชาการ และกวีที่เดินทางไปต่างแดนเพื่อนเรียนรู้อารยธรรมอื่นเช่น ‘อริสโตเติล (Aristotle)’ ชาวกรีกที่เดินทางไปยังแคว้นเอเชียไมเนอร์และมาซิโดเนีย เพื่อศึกษาระบบการปกครองและประเพณีวัฒนธรรมในต่างแดน จน เขาได้เขียนหนังสือหลายร้อยเล่มบนม้วนกระดาษเพื่อเป็นความรู้ให้คนในชาติและคนรุ่นหลังจนทุกวันนี้อิทธิพลของเขาก็ยังคงอยู่
ส่วนช่วงในยุคกลางและยุคเรเนซองส์ (ค.ศ. 476-1300) นักเดินทางและนักวิทยาศาสตร์จากยุโรปนิยมเดินทางไปเอเชียเพื่อหาความรู้ใหม่ และตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน การศึกษาดูงานนับเป็นเรื่องปกติมาก มีการดูงานในหลากหลายสาขา เช่น การบริหารภาครัฐ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยี การศึกษา และสวัสดิการสังคม
แต่ถ้าถามว่าคนดังคนไหน ที่มีโอกาสไปศึกษาดูงานต่างประเทศฉ่ำที่สุด และดูเป็นต้นแบบของการนำความรู้ในต่างแดนมาพัฒนาชาติ ต้องเป็น ‘มาร์โค โปโล’ เท่านั้น เขาเป็นชาวเมืองเวนิส ในปี ค.ศ. 1271 เมื่อมาร์โคอายุได้ 17 ปี เขาได้ร่วมเดินทางกับบิดาและลุงผ่านเส้นทางสายไหม การเดินทางครั้งนี้พาพวกเขาผ่านดินแดนต่าง ๆ เช่น ตุรกี อิหร่าน อัฟกานิสถาน และทะเลทรายโกบี
การศึกษาดูงานที่แท้จริงของ มาร์โค โปโล เริ่มต้นเมื่อ ราชสำนักของกุบไล ข่าน ที่ปกครองจีนอยู่ตอนนั้น มอบความไว้วางใจให้เขา ปฏิบัติภารกิจสำคัญหลายประการ เขาได้เดินทางไปยังดินแดนต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า อินเดีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา และเวียดนาม เพื่อส่งสารและเก็บเครื่องราชบรรณาการ การเดินทางเหล่านี้ทำให้มาร์โคได้เรียนรู้และบันทึกวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของผู้คนในดินแดนเหล่านั้น
หลังจากไปดูงานต่างแดนฉ่ำถึง 17 ปีกับ ราชสำนักของกุบไล ข่าน โปโลตัดสินใจเดินทางกลับเวนิส บันทึกประสบการณ์ของเขาในหนังสือ "The Travels of Marco Polo" ซึ่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและเทคโนโลยีของเอเชียสู่ยุโรป
ในบันทึกของเขา มาร์โค โปโล ได้อธิบายถึงการใช้ธนบัตรกระดาษในจีน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยังไม่แพร่หลายในยุโรปขณะนั้น นอกจากนี้ เขายังบรรยายถึงระบบไปรษณีย์ที่มีประสิทธิภาพของจักรวรรดิมองโกล รวมถึงการใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงาน และการผลิตเกลือจากน้ำทะเล ความรู้เหล่านี้ช่วยกระตุ้นความสนใจและการพัฒนาทางการค้าและเทคโนโลยีในยุโรป
แม้ว่าจะมีข้อกังขาเกี่ยวกับความถูกต้องของบันทึกของ มาร์โค โปโล แต่เรื่องราวของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักสำรวจและพ่อค้าชาวยุโรปในยุคต่อมา เช่น คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบันทึกของ มาร์โค โปโล ในการค้นหาเส้นทางการค้าใหม่!
สุดท้ายแล้ว การศึกษาดูงานต่างประเทศก็เหมือนกับการ ไปเที่ยวและเอาความรู้นวัตกรรมมาเป็นของฝากให้คนในบ้านเกิด แต่ถ้าไปแล้วไม่มีอะไรใหม่ติดมือกลับมา ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นอกจากเงินในกระเป๋าที่ลดลง และอัลบั้มรูปในโทรศัพท์ที่มากขึ้น แบบนั้นเรียกว่าไปเที่ยวเฉย ๆ ไม่ได้เรียกว่าไปศึกษาดูงาน !
ที่มา : ngthai
ข่าวที่เกี่ยวข้อง