การเปลี่ยนนโยบายของ Meta ยกเลิกการสนับสนุนองค์กร fact checker แต่หันไปให้ผู้ใช้งานตรวจสอบกันเอง (เริ่มจากในสหรัฐฯ ก่อน) น่าสนใจว่าจะส่งผลกระทบต่อข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์อย่างไรบ้าง
หรือผู้คนในโลกออนไลน์ อาจไม่ต้องการ 'ข้อเท็จจริง' ?
ทุกคนต่างอยากเสพข้อมูล-ข้อเท็จจริงที่ 'จริง' กันทั้งนั้น แต่เป็นเรื่องยากมากจนแทบเป็นไปไม่ได้ที่ผู้รับสารจะพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฎบนหน้าจอว่ามีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
ยิ่ง algorithm ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเกือบทั้งหมดหันไปเล่นเกมเดียวกัน คือดัน 'คลิปสั้น' ในความยาวหลักวินาที สมาธิของผู้รับสารก็ยิ่งสั้นลง ในขณะที่จำนวนคอนเทนต์ที่ถูกฟีดให้ผ่านสายตากลับยิ่งมากขึ้น จนผู้รับแทบจะไม่มีเวลาในการตรวจสอบเลยว่า ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่ผ่านตาไปนั้นมี 'ความจริง' มากน้อยเพียงใด
และอาจมีบางครั้ง ที่สมาชิกชุมชนออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูลที่ 'ไม่ถูกต้อง' เสียเอง
ด้วยเหตุนี้ มืออาชีพระดับสากลในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่เรียกกันว่า fact-checker จึงถือกำเนิดขึ้น อาทิ PolitiFact, FactCheck.org, AFP Fact Check ฯลฯ มีการทำงานร่วมกันกระทั่งรวมตัวกันเป็นเครือข่ายผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติ หรือ IFCN (The International Fact-Checking Network) โดยร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการช่วยตรวจสอบและแจ้งเตือนกรณีที่มีข่าวผิด, ข่าวพลาด หรือข่าวบิดเบือน (mis- dis- และ mal- information) ด้วยหวังจะเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกเชื่อคอนเทนต์นั้น ๆ หรือไม่
หรือหากเป็นคอนเทนต์ที่น่าจะสร้างความเสียหายร้ายแรง ทางแพลตฟอร์มก็มี 'มาตรการ' ตามนโยบายของแต่ละบริษัท เช่น ขึ้นป้ายเตือน ลดการมองเห็น ลบคอนเทนต์ ไปจนถึงแบนแอคเคาต์
นับสิบปีที่เหล่า fact-checker ทั่วโลกทำงานอย่างขยันขันแข็ง แม้ต้องเผชิญสารพัดความท้าทาย ทั้งความยากในการทำงาน และการหาแหล่งเงินทุนมาเลี้ยงองค์กร
ต้นปี พ.ศ. 2568 ความท้าทาย 'ใหม่' และ 'ใหญ่' ก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ประกาศ 'เปลี่ยนนโยบาย' ยุติการให้ทุนสนับสนุนองค์กร fact-checker ให้เข้ามาช่วยตรวจสอบคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มของบริษัท ทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ซึ่งมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 หรือเมื่อกว่าสิบปีก่อน โดยจะหันไปใช้วิธีให้ชุมชนตรวจสอบคอนเทนต์กันเอง ที่เรียกว่า community notes หรือ 'หมายเหตุชุมชน' เหมือนอย่างในเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์)
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เพียงไม่กี่วัน
แม้การเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว ทาง Meta อ้างว่าจะมีผลแค่ในสหรัฐฯ แต่ใครจะการันตีได้ว่า จะไม่มีการขยายไปยังประเทศอื่นในภายหลัง
ความเปลี่ยนแปลงนี้ มีผลอย่างไรต่อการทำงาน fact-checker เราไปคุยกับ สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟคประเทศไทย หรือ Cofact Thailand หนึ่งในองค์กร fact-checker ชื่อดังของเมืองไทย
Fact ที่ 1 – ผลกระทบ หลังเปลี่ยนนโยบาย
“การเปลี่ยนนโยบายล่าสุดของ Meta มันสั่นสะเทือนมาก เหมือนตัดหางปล่อยวัดองค์กรสื่อมวลชนหรือ fact-checker มืออาชีพ”
คือความเห็นของสุภิญญา ที่มองว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คนที่จะเสียประโยชน์เต็ม ๆ ก็คือ 'ผู้บริโภค' เพราะมันควรจะเป็น '2 ระบบ' ควบคู่ไปด้วยกัน ทั้ง 1. community notes ที่ให้ผู้ใช้บริการหรืออินฟลูเอนเซอร์ช่วยกันเช็ค และ 2. มี third party ที่มีมาตรฐานการตรวจสอบ มีระเบียบวิธี (methodology) ที่ชัดเจน
"เพราะถ้าให้คนทั่วไปเช็คอย่างเดียว มันก็อาจจะกระจัดกระจาย และถ้าให้สื่อฯ เข้ามาช่วยตรวจสอบ เขาก็สามารถไป investigate หรือถามจากผู้เกี่ยวข้องได้ คุณก็จะได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาประกอบการตัดสินใจ"
ความเห็นของสุภิญญามองว่า การเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับมาเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้เคยฟาดฟันสื่อด้วยข้อกล่าวหาเรื่อง fake news น่าจะเป็นแค่ 'ตัวเร่ง' สำหรับการเปลี่ยนนโยบายนี้ของ Meta แต่ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด เรื่องหลักน่าจะเป็นเพราะภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป จน Meta ให้ความสำคัญสื่อฯ น้อยลง
เธอเล่าว่า กว่าที่บริษัทโซเชียลมีเดียดัง เช่น Meta หรือ Google จะยอมให้ third party โดยเฉพาะสื่อฯ เข้าไปช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงบนแพลตฟอร์มของบริษัทนั้น ๆ ก็ต้องผ่านการเจรจาต่อรองอยู่นาน จนได้ข้อสรุปที่วิน-วินทุกฝ่าย และเกิดเป็นดีลร่วมกันเมื่อกว่า 10 ปีก่อน เกิดเป็นเครือข่าย IFCN ขึ้นมา ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแพลตฟอร์มกับองค์กรซึ่งผันตัวมาเป็น fact checker
“แม้ Meta จะบอกว่า การเปลี่ยนนโยบายนี้จะเริ่มจากสหรัฐฯ เท่านั้น แต่เราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะขยายไปประเทศอื่น ๆ ด้วยหรือไม่” สุภิญญาแสดงความกังวล
Fact ที่ 2 – ความยากของ ผู้ตรวจสอบความจริง
โจทย์ยากของการเป็นองค์กร 'ตรวจสอบข้อเท็จจริง' หรือ fact-checker นอกจากการเปลี่ยนนโยบายของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ยังมีอีก 2 เรื่องใหญ่ ทั้ง 1.ด้านการทำงาน และ 2.ด้านการหาแหล่งทุน
ผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact Thailand องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเพื่อต่อสู้กับปัญหาข่าวลวง ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ให้รายละเอียด 'ความยาก' ดังกล่าวไว้ดังนี้
“ด้านการทำงาน ต้องยอมรับว่าเรา fact-check ไม่ทัน และทำได้ไม่ทุกเรื่อง มันต้องใช้เวลาในการหาข้อมูลหรือตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือบางครั้งต้องรอให้ทุกอย่างนิ่งลงก่อน ทำให้มันไม่ทันสถานการณ์ กว่าเราจะสรุปได้เรื่องนี้ก็ผ่านไปแล้ว”
แม้จุดแข็งของ Cofact Thailand จะเป็นการทำฐานข้อมูลหลังจาก fact-check แล้ว แต่พอยุคนี้มันต้องแข่งกับเวลาที่คนมักอยากรู้เรื่องนั้นทันทีว่าจริงไหม “พอเราทำไม่ทันเวลา เลยไม่ได้สร้าง impact ใด ๆ” หรือกระทั่งสื่อฯ ที่พยายามทำเรื่อง fact-check เขาก็ทำกันไม่ทัน เพราะแค่งานประจำวันก็ล้นมืออยู่แล้ว
ส่วนการหาทุน สุภิญญาระบุว่า แหล่งทุนสำหรับเหล่า fact checker มีอยู่อย่างจำกัด เช่น NGO สถานทูตต่างๆ หรือกระทั่งภาครัฐเอง ก็ไม่ได้ให้ทุนมาง่าย ต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักคน, ต้องเขียนโครงการให้เป็น, หมั่นเข้าไปชี้แจงข้อสงสัยต่าง ๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็น 'อุปสรรค' สำคัญในการเข้าถึงแหล่งทุน
“อย่าง Cofact Thailand เอง ทำมา 5-6 ปี มันก็ท้าทายขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากโจทย์เรื่องความยั่งยืน ก็ยังมีเรื่องว่า จะปรับการทำงานอย่างไรให้เกิด impact เพราะต่อให้แหล่งทุนอาจจะไม่ได้หวังกำไร แต่ก็ต้องมี outcome”
สุภิญญาสรุปว่า จากความยากทั้ง 2 ประเด็นข้างต้น ทำให้หลายองค์กรที่อยากทำงานเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงบนโลกออนไลน์ “ตัดสินใจยอมแพ้” จนเราอาจได้ยินชื่อองค์กรที่ทำงานด้วย fact-check ในไทยอยู่ไม่กี่แห่งเท่านั้น
Fact ที่ 3 - แต่ละแพลตฟอร์ม สู้กับข้อมูลเท็จอย่างไรกันบ้าง
วิธีการที่โซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์ม ใช้ในการตรวจสอบ “ข้อเท็จจริง” บนโลกออนไลน์ โดยทั่วไป จะแบ่งได้เป็น 3 แนวทางใหญ่ ๆ กล่าวคือ
สำหรับมาตรการในการสู้กับ 'ข้อมูลเท็จ-ข่าวปลอม' จะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปตามละนโยบายของแต่ละแพลตฟอร์ม แต่โดยทั่วไปมักใช้การขึ้นป้ายเตือน, ลดการมองเห็น, ลดคอนเทนต์ หรือแบนแอคเคาท์
ถามว่า วิธีการเหล่านี้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน? ปัจจุบันมีผลการศึกษาที่ระบุว่า การ fact check ได้ผลในการช่วยลดความเข้าใจผิด (misperception) หรือการกล่าวอ้างแบบผิด ๆ (false claim) ในบางเรื่องได้ แต่ก็มีบางผลการศึกษาที่บอกว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่สร้างความเปลี่ยนแปลงน้อยมากในการต่อสู้กับข้อมูลเท็จ
โดยข้อจำกัดสำคัญในการตรวจสอบว่า มาตรการข้างต้นได้ผลมากน้อยแค่ไหน ก็คือการไม่ค่อยยอมแชร์ข้อมูลจากตัวแพลตฟอร์มเอง
Fact ที่ 4 – เชื่อวิจารณญาณผู้อ่าน 100% ได้ไหม
ตอนที่ประกาศเลิกให้ทุนสนับสนุนองค์กร fact-checker เมื่อต้นปี พ.ศ. 2568 หนึ่งในเหตุผลที่ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta อ้าง คือวิธีการเดิมทำให้เนื้อหาที่ไม่เป็นปัญหา 'ถูกเซ็นเซอร์' มากเกินไป จนผู้ใช้บริการคล้ายกับอยู่ใน 'คุกเฟซบุ๊ก' การเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้ ทำไปเพื่อคืน 'เสรีภาพ' ในการสื่อสารและแสดงออก
คำถามคือ การมีผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กระทบต่อเสรีภาพในการสื่อสาร (free speech) จริง ๆ หรือ?
สุภิญญาอธิบายว่า หน้าที่ของ fact-checker ก็มีแค่แจ้งว่าคอนเทนต์ใดน่าจะมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน ส่วนการดำเนินการใด ๆ เป็นเรื่องของแพลตฟอร์ม ดังนั้นมันจึงไม่ได้กระทบกับ free speech ขนาดนั้น ไม่รวมถึงว่า คนบางกลุ่มมักอ้าง free speech ไปสร้าง hate speech สร้างข้อมูลบิดเบือน ทำให้เกิดความเกลียดชัง หรือกระทั่งนำไปสู่ความรุนแรง การมีองค์กรมาช่วยกลั่นกรองเนื้อหาบนโลกออนไลน์จึงน่าจะดีกว่าหรือไม่ เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นมันจะกลายเป็น 'ไฟลามทุ่ง'
“การ fact-check ในยุคนี้ แค่ debunk (หาข้อมูลมาโต้แย้งหักล้างภายหลัง) ไม่พอ ต้องไป prebunk (ยกตัวอย่างการให้ข้อมูลผิด ๆ หรือให้ข้อสังเกตล่วงหน้า) เสียด้วยซ้ำ”
ส่วนคำถามที่ว่า มีโอกาสไหมที่ในอนาคต ไม่ต้องมีองค์กรคอยทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้เชื่อใน 'วิจารณญาณ' ของผู้อ่านแต่ละคน 100%
สุภิญญาตอบว่า มันคืออุดมการณ์ของ Cofact Thailand เลย ตามคำขวัญที่ว่า “ทุกคนคือผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง” (Everyone is a fact checker!) ในเชิงหลักการมันก็ต้องกลับไปยังปัจเจก แต่การจะไปถึงจุดนั้นมันเป็นโลกที่ 'อุดมคติ' มาก ๆ เพราะต้องยอมรับว่า เราจะปล่อยให้คนเป็นล้านเอาตัวรอด 'ด้วยตัวเอง' มันก็คงไม่ไหว เนื่องจากเทคโนโลยีทุกวันนี้มันเข้าถึงตัวเราทุกคน-ทุกวัน ทุกฝ่ายจึงต้องมาช่วยกัน ทั้งโครงสร้าง นโยบาย แพลตฟอร์ม ไปจนถึงสื่อฯ
“ไม่มีใครจะช่วยเราทัน เพราะมันเข้าหาเราทุกวินาที เราก็ต้องมีสตินําก่อน แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ยังเป็น utopia ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน”
เธอกล่าวปิดท้ายว่า งานในการตรวจสอบข้อเท็จจริง สื่อฯ ที่เชื่อถือได้ หรือ trusted media ก็ยังมีความจำเป็น ซึ่งแพลตฟอร์มก็ต้องปรับ algorithm เพื่อสนับสนุนให้สื่อเหล่านั้นอยู่ได้ ในขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องไปแก้ไขเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ไมใช่ผลักภาระทั้งหมดมาที่พลเมือง
ในการเสพคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ ผู้รับสารต่างต้องการ 'ข้อเท็จจริง' กันทั้งนั้น เหล่า fact-checker จึงจำเป็นแน่ ๆ แต่จะทำอย่างไรให้องค์กรเหล่านี้ยังมี 'ความสำคัญ-อยู่รอดได้' ท่ามกลางสารพัดความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้น ทั้งทางทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และเกมการเมืองระดับโลก
..คำตอบยังอยู่ในสายลม
เพราะเรื่องที่หลายคนคิดว่า 'สำคัญ' อาจยังไม่ใช่เรื่อง 'เร่งด่วน' ที่ผู้มีอำนาจให้ความสนใจ