SHORT CUT
เหตุผลที่ Bridge to Terabithia (สะพานมหัศจรรย์) กลายเป็นภาพยนตร์เด็กที่เศร้าที่สุดตลอดกาล หลายคนที่โตมากับเรื่องนี้ไม่สามารถลืมเลือนได้
โลกของเรามีภาพยนตร์แฟนตาซีสำหรับเด็กมากมายที่พาเราเดินทางไปยังดินแดนมหัศจรรย์ อัดแน่นไปด้วยการผจญภัยอันน่าตื่นเต้น และมักจบลงด้วย "แฮปปี้เอนดิ้ง" ที่ทำอิ่มเอมใจ
แต่ในบรรดาเรื่องราวเหล่านั้น "Bridge to Terabithia" กลับเป็นภาพยนตร์เด็กที่แตกต่างออกไป ไม่ได้นำเสนอมิตรภาพ และจินตนาการตามวัยเด็กอย่างเดียว แต่ได้ซ่อนความเศร้าอันลึกซึ้งที่ตราตรึงใจ และกล้าสะท้อนมุมที่โหดร้ายของชีวิตให้ผู้ชมอายุน้อยได้สัมผัสตั้งแต่เนิ่นๆ
จนหลายคนที่เติบโตมากับภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังคงจดจำความเจ็บปวดหลังดูครั้งแรกได้เป็นอย่างดี
ทำไม Bridge to Terabithia ถึงติดอันดับภาพยนตร์เด็กที่เศร้าที่สุดของใครหลายคน มาดูเหตุผลกัน
Bridge to Terabithia เป็นภาพยนตร์ของ Walt Disney ดัดแปลงจากนิยานในชื่อเดียวกัน ของ ‘แคทเธอรีน เพเตอร์สัน (Katherine Paterson)’ นักเขียนชาวอเมริกา ตัวหนังเล่าเรื่องของ ‘เจส อารอนส์’ เด็กชายวัย 12 ปีที่ไม่ค่อยมีเพื่อนที่โรงเรียน จนได้พบกับ ‘เลสลี เบิร์ค’ เด็กผู้หญิงที่เพิ่งย้ายมาอยู่ใกล้บ้านเขา ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน และใช้พื้นที่ในป่าหลังบ้านของเลสลีเป็นอาณาจักรในจินตนาการ ที่ชื่อว่า “ทีราบิเธีย” พวกเขาใช้การโหนเป็นทางเชื่อมข้ามลำธารเพื่อเข้าไปในดินแดนแห่งนี้ โดยแต่งตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์และราชินีของทีราบิเธีย ที่นี่เป็นสถานที่ที่พวกเขาสามารถหลบหนีจากปัญหาชีวิตประจำวันและใช้จินตนาการสร้างโลกของตัวเอง
ทั้งสองใช้เวลาด้วยกันประจำ และแทบไม่เคยแยกจากกัน แต่เช่นเดียวกับทุกชีวิต ในที่สุดความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น วันหนึ่งเจสแอบหนีไปเที่ยวในเมืองกับครูสาวที่เขาชอบโดยไม่ชวนเลสลี พอเจสกลับถึงบ้านเขาก็รู้ข่าวว่า เลสลี่ เสียชีวิตเพราะตกลงมาจากเถาวัลย์
น่าสนใจตรงที่ ตัวหนังไม่ได้นำเสนอฉากเสียชีวิตของ เลสลี่ ให้เราเห็นตรงๆ แต่ทำให้คนดูเศร้าได้โดยผ่านตัวละครเจสที่ไม่ยอมรับเรื่องนี้ในตอนแรก แต่สุดท้ายเขาก็ตระหนักจากใจจริงว่า เลสลี่จากเขาไปแล้ว ถือเป็นการยอมรับความจริงที่ต้องใช้ความกล้าของตัวละคร และยังเป็นการบอกผู้ชมในวัยเด็กอีกว่า ช่วงเวลาที่โศกเศร้า การจากลา และความตายนั้น สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อ แม้แต่ตอนที่เราเป็นเด็ก
คำพูดที่น่าจดจำของเรื่องนี้ มาจากพ่อของเจสที่ปลอบลูกชายว่า "เธอได้นำสิ่งพิเศษมามอบให้กับลูกตั้งแต่เธอเข้ามาที่นี่ใช่ไหม? สิ่งนั้นแหละที่ลูกควรยึดมั่นไว้ นั่นคือวิธีที่ลูกจะเก็บเธอไว้ให้มีชีวิตอยู่เสมอ"
ในจุดนี้เองที่ Bridge to Terabithia อธิบายว่า ความตายไม่ได้เป็นจุดจบของการเดินทางร่วมกันระหว่างเลสลี่และเจส เพราะการที่เจสเก็บเลสลี่ไว้ในความทรงจำของเขา ทำให้เธอไม่ได้จากไปอย่างแท้จริง และมิตรภาพของทั้งสองก็ยังคงอยู่ตลอดไป ภาพยนตร์แฟนตาซีเรื่องนี้จึงลึกซึ้งในแง่ของการ ทำให้เด็กเติบโต และรู้จักที่จะเก็บรักษาใครบางคนไว้ในความทรงจำเพื่อมีชีวิตต่อไป
เรื่องราวนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโศกนาฏกรรมในชีวิตจริงของผู้เขียน หลังจาก แคทเธอรีน เพเตอร์สัน รับรู้ว่า เพื่อนวัย 8 ขวบของลูกชายเธอ เสียชีวิตจากฟ้าผ่า ทำให้ลูกชายของเขาโศกเศร้ามาก แคทเธอรีน จึงเขียนวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะรับมือกับความตายและความเศร้าโศก
แม้ Walt Disney จะมีหนังที่พูดถึงความตายเรื่องอื่นๆ เช่น The Lion King ที่อธิบายว่าความตายเป็นเกี่ยวกับวัฏจักรแห่งชีวิต และนำไปสู่ตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ส่วนเรื่อง Up เน้นความตายเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจและผจญภัยตามล่าความฝันขณะยังมีชีวิต แต่ Bridge to Terabithia เลือกเล่าในแง่รับมือความตายในโลกความจริง โดยเน้นถึงความแตกต่างระหว่างโลกที่สดใสภายในทีราบิเธีย และความจริงอันโหดร้ายที่อยู่นอกขอบเขตของมัน
พูดให้ชัดคือความตายของ เลสลี มันไม่มีอะไรสวยงาม ไม่ยุติธรรม และเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่เพราะมันคือชีวิตจริง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับมันและเลิกโทษตัวเอง การที่เจสสูญเสียเลสลีทำให้เขาละทิ้งความไร้เดียงสาและยอมรับความเป็นจริงมากขึ้น
จากทั้งหมด ไม่ผิดนักหากกล่าวว่า “Bridge to Terabithia” ถือเป็นผลงานสำหรับเด็กที่เหนือกาลเวลา และยังสร้างความประทับใจให้กับผู้ใหญ่ได้เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง