SHORT CUT
กว่าประเทศไทยจะมีวันเด็ก วันสร้างความตระหนักให้ทุกส่วนในสังคมให้ความสำคัญกับ "เด็ก" ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของทุกชาติ
ประเทศไทยมีวันเด็กครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2498 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จากข้อเสนอของนายวี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อ สวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ สอดคล้องกับหลักปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีร่วมกันในสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และกระตุ้นให้ทุกสังคมให้ความสำคัญต่อเด็กและเยาวชน อันเป็นทรัพยากรที่มีค่าและเป็นความหวังในทุกชาติ
เดิมวันเด็กในไทย เคยถูกจัดในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม จนถึงปี 2506 คณะกรรมการวันเด็กแห่งชาติมีมติเลื่อนการจัดงานวันเด็กมาเป็นวันเสาร์ที่สอง ของเดือนมกราคมแทน เนื่องจากเดือนตุลาคมมีฝนตกชุกเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง
"เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน" เพลงหน้าที่ของเด็ก เป็นเพลงที่ถูกประพันธ์มาตั้งแต่ 89 ปีที่แล้ว ตั้งแต่มีวันเด็กเป็นสมัยแรกๆ ที่นำเอาหน้าที่ของเด็กที่คณะกรรมการวันเด็กแห่งชาติตั้งเป้าหมายให้เด็กไทยเป็น มาแต่งเป็นทำนองเพลงที่คุ้นหู ถูกเปิดและใช้บอกกับเด็กรุ่นสู่รุ่นว่าเด็กไทยที่ดี ควรมีหน้าที่อะไรบ้าง แต่ในทศวรรษนี้ที่โลกเปลี่ยน เดินไปข้างหน้า เชื่อว่าเด็กและผู้ใหญ่หลายคนก็คงเข้าใจว่า "หน้าที่ของเด็ก" อาจไม่ได้มีแค่ 10 ข้อนี้แล้ว แต่อาจจะกว้างขึ้นเพื่อให้เด็กไทยพร้อมเป็นพลเมืองของโลกในยุคที่มีความแปรปรวนสูง
วันเด็กสำหรับหลายคน เป็นวันแห่งความทรงจำและความสนุก สิ่งที่เด็กอยากได้มากกว่าคำขวัญอาจจะเป็นของขวัญ หรือโอกาสที่จับต้องได้มากขึ้นจากผู้ใหญ่ที่จะสร้างสังคมที่ดีขึ้นไว้ให้คนรุ่นหลัง