SHORT CUT
ดาราจีนไปรับไว ทำไม 4 คนไทยยังไม่ได้กลับบ้าน? ภาพสะท้อน “อิทธิพลนอกอาณาจักร” ที่แข็งแกร่งมากของจีน นักวิชาการชี้ ไทยควรใช้ทุกคอนเนคชั่นโน้มใจ “มินอ่องหล่าย” ปล่อยตัวชาวประมง เตือนแรงยอมให้เขาดำเนินคดีเสี่ยงยอมรับกลายๆว่าดินแดนนั้นเป็นของเพื่อนบ้าน
ผ่านไปไม่ถึง 2 วัน ดาราจีนที่เป็นข่าวว่าหายตัวไปใกล้พรมแดนไทยเมียนมา ฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก ก็มีข่าวดีว่าได้รับตัวกลับแล้ว ไม่ว่าเขาจะเดินทางไปเพราะสมัครใจหรือถูกหลอกลวงไปฝั่งธุรกิจเทาหน้าบ้านเรา แต่ฝั่งผู้นำกองกำลัง BGF ที่คุมพื้นที่อยู่ก็ “ยอม” นำตัวดาราจีนมาคืน คงเพราะหวั่น “น้ำผึ้งหยดเดียว” จะส่องแสงเข้าไปในธุรกิจดำมืด กระทบผลประโยชน์อันประเมินค่ามิได้เสียมากกว่า
กลับกัน นี่เป็นวันที่ 38 แล้ว ที่ 4 ลูกเรือประมงชาวไทย ยัง “ติดคุก” ที่เกาะสอง เมียนมา ใกล้จังหวัดระนอง เพราะเดินเรือตอนกลางคืนเข้าไปในพื้นที่พิพาท “ถูกยิงเรือ” และถูกจับดำเนินคดีอาญา ทางการไทยเคยบอกว่าเจรจาแล้ว เชื่อว่าจะได้ปล่อยตัววันที่ 4 มกราคม ซึ่งเป็นวันชาติเมียนมา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ปล่อย คำถามที่สำคัญคือ นอกจากจะไม่ได้ตัวคนไทยกลับบ้านแล้ว กลายเป็นเราที่ไปรับสภาพอีกว่าพื้นที่พิพาทนั้นเป็นดินแดนของเพื่อนบ้านโดยปริยาย?
รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษาและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ SPRiNG ระบุว่า การที่ลูกเรือไทยยังไม่ได้ปล่อย เพราะเรื่องถูกเข้าไปอยู่ในการดำเนินการภายในใต้อธิปไตยของเมียนมาอย่างเต็มที่ เราไม่ได้คัดค้านว่าเรือประมงไทยถูกจับในพื้นที่ของไทยหรือพื้นที่ทับซ้อน การบอกว่าเรื่องนี้เป็นกระบวนการภายในของเมียนมากลายเป็นการยอมรับกลายๆไปแล้วว่าเราเข้าไปในเขตอธิปไตยเพื่อนบ้าน ปิดโอกาสในการเจรจารูปแบบอื่น
“เรามีทางเลือกที่จำกัดในการช่วยเหลือคนไทย บีบให้เราเหลือเพียงทางเลือกการเจรจาโน้มน้าวให้เขาปล่อยตัวคนไทยได้อย่างเดียว ทั้งที่เรายังไม่รู้ว่าพื้นที่เกิดเหตุอาจเป็นพื้นที่ของไทยหรือพื้นที่ทับซ้อนก็ได้ ยังพิสูจน์ทราบไม่ชัดเลยว่าจุดเกิดเหตุอยู่ในดินแดนของใคร หากเราปล่อยให้เป็นแบบนี้บ่อยๆ เรื่องการปกป้องอธิปไตยเรื่องเขตแดนจะขีดความสามารถลดลงเรื่อยๆ เขาอาจไปอ้างว่าพื้นที่แบบนี้มีบันทึกว่าไทยยอมรับแล้ว เขาจับกุมดำเนินคดีไทยก็ไม่โต้แย้ง ทั้งๆที่อาจเป็นพื้นที่ของเราหรือเป็นพื้นที่ซ้อนกันจริงๆก็ได้”
โดยปกติเมียนมามักถือฤกษ์มงคลในการอภัยโทษ ปล่อยตัวนักโทษในคดีสำคัญออกมาในช่วงต้นปี ได้แก่ วันชาติเมียนมา 4 มกราคม /วันสหภาพเมียนมา 12 กุมภาพันธ์ /ช่วงวันสงกรานต์กลางเดือนเมษายน และวันวิสาขบูชาในบางกรณี หากเกินช่วงต้นปีไปก็ยากแล้วที่จะหาเหตุผลมาอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัว
อ.ดุลยภาค มองว่า เท่าที่ติดตามเห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผู้มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาปล่อยหรือไม่ปล่อย คือ “พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย” ซึ่งเราไม่รู้ว่าไทยได้เจรจาโดยตรงหรือไม่ ความสัมพันธ์รัฐบาลเพื่อไทยกับผู้นำสูงสุดเมียนมาเน้นแฟ้นระดับไหน
“เราควรระดมคอนเนคชั่นของชนชั้นนำไทยทั้งหมด เจรจาตรงไปยังมินอ่องหล่ายและนายพลโซลวิน ศูนย์กลางอำนาจที่เนปิดอว์อย่างเข้มข้น รวมถึงกลไกกรรมการร่วมที่ทำงานร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น เพื่อขอให้ปล่อยคนไทยกลุ่มนี้ให้ทันในช่วงต้นปี มิเช่นนั้นพวกเขาอาจจะมีโอกาสต้องอยู่ยาวไปทั้งปีก็ได้ ตามธรรมเนียมปล่อยตัวของเมียนมาในช่วงต้นปี”
ขณะเดียวกัน อ.ดุลยภาค มองว่าไทยควรปรับแผนยุทธศาสตร์จากการตั้งรับให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น บริหารอำนาจเข้าไปเขตพื้นที่ทับซ้อนมากขึ้น ต้องทำให้ว่องไวและมากกว่าเพื่อนบ้าน แก้ปัญหาการละเมิดเส้นเขตแดนให้เกิดความชัดเจน และเข้าไปมีบทบาทในประเทศเพื่อนบ้านในการปราบปรามอาชญากรรมและแหล่งยาเสพติดในเขตชายแดนมากขึ้น เพื่อไม่ให้ไทยกลายเป็นรัฐที่ “เพื่อนบ้านไม่เกรงใจ” เราต้องมีพลังมากขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย
โดยเฉพาะในกรณีล่าสุดที่นักแสดงชาวจีนได้รับการช่วยเหลือจากฝั่งเมียนมาในเวลาไม่นาน หลังถูกหลอกลวงเข้าไปในพื้นที่แสกมเมอร์ อ.ดุลยภาค ระบุว่า จีนมีอิทธิพลสูงมากในประเทศเมียนมา ชัดเจนมากขึ้นหลังการรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับไทย จีนสร้างเขตอิทธิพลนอกอาณาจักรอย่างจริงจังและเป็นระบบ มีผลประโยชน์และมีอำนาจเจรจากับทั้งรัฐบาลทหารเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ แต่ประเทศไทยไม่มีอำนาจนี้เลยแม้เราจะมีภูมิศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับเมียนมามากกว่ามาก นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เหตุการณ์ในอดีต เช่น การสามารถโน้มน้าวให้กลุ่มโกก้าง ตะอาง (ชาติพันธุ์ติดอาวุธตอนเหนือเมียนมา) มาเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาได้ หรือการที่ทางการจีนสามารถเข้าไปรับตัวคนจีนกว่าพันคนที่เป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากเมืองเมียวดีกลับจีนได้ โดยใช้สนามบิน อ.แม่สอด เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567