SHORT CUT
รัฐบาลไทยเตรียมอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง ประเทศจีน มาประดิษฐานที่ท้องสนามหลวงให้คนไทยได้สักการะเป็นเวลา 73 วัน ตั้งแต่ 4 ธันวาคม 2567 - 15 กุมภาพันธ์ 2568 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมพรรษา 6 รอบ และกระชับความสัมพันธ์ไทย-จีน
พระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระเขี้ยวแก้ว ประดิษฐานอยู่พระบรมธาตุเจดีย์แปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ ที่วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงของจีนที่มีประวัติยาวนานกว่า 1,200 ปี สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 8 สมัยราชวงศ์ถัง
โดยชาวจีนมักเรียกว่า “พระทันตธาตุฟาเหียน” เพราะ หลวงจีนฟาเหียนเป็นสมณะจีนรูปแรกที่เดินทางไปสืบพระศาสนา เมื่อปี พ.ศ.942 ก่อนพระถังซัมจั๋งราว 230 ปี และได้อัญเชิญพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) องค์นี้มาสู่จีน
เคยผู้กล่าวว่า พระทันตธาตุองค์นี้ได้ประดิษฐานครั้งแรกไว้ที่อาณาจักรโบราณแห่งหนึ่ง ชื่อว่า อูไดยานา ปัจจุบันอยู่ในเขตของประเทศปากีสถาน หลังจากอาณาจักรนี้แล้วก็เคลื่อนย้าย มาอยู่ในแคว้นโคตัน หรือจังหวัดไฮเตียน มณฑลซินเกียง และถูกย้ายจากกลับไปกลับมาหลายเมือง จนกระทั่งสุดท้ายได้มาประดิษฐานอยู่ที่เมืองปักกิ่ง
หลังจากนั้น มีพระภิกษุที่อยู่ภายในวัดได้มาทำความสะอาดบริเวณรอบพระเจดีย์ แล้วได้พบพระเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ในตลับไม้กฤษณา ในหีบศิลาอีกที ภายในห้องใต้ดินขององค์พระเจดีย์ นอกจากนี้บนตลับไม้กฤษณานั้นมีการระบุไว้ว่า ถูกนำมายัง ณ สถานที่นี้ในปี พ.ศ.1506 โดยพระภิกษุชื่อ ซ่านฮุยในยุคราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเป็นผู้ได้รับการขนานนามว่า “อาจารย์ผู้เก็บความลับ” ซึ่งในที่สุดพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งได้ซ่อนเร้น มาเป็นเวลานานถึง 830 ปี ก็ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งในโลกมนุษย์
พระเขี้ยวแก้ว ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเพียง 2 องค์บนโลกมนุษย์นี้ พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้ายอยู่ที่วัดหลิงกวง พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา ส่วนอีก 2 องค์ เชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และพระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค
ที่ผ่านมารัฐบาลจีน เคยอนุญาตอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง ไปประดิษฐานในประเทศต่างๆ แล้ว 16 ครั้ง โดยอัญเชิญมาประดิษฐานที่ประเทศไทยครั้งแรก ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นเวลา 76 วัน เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา 5 ธันวาคม 2545 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นสิริมงคลยิ่งต่อพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและชาวจีนในประเทศไทยที่มีโอกาส เข้าสักการะโดยไม่ต้องเดินทางไป ถึงกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ผู้คนนิยมมาสักการะขอพร เพราะเชื่อว่าจะโชคดีและเป็นสิริมงคลกับชีวิต
ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในการจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ของวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง ไปประดิษฐานเป็นการชั่วคราวในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นเวลา 73 วัน ณ ท้องสนามหลวง และจะอัญเชิญกลับประเทศจีนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงพุทธศาสนิกชนชาวไทยได้มีโอกาสสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เพื่อความเป็นสิริมงคล และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีและศาสนาพิธีสำคัญอันดีงาม
ทุกหน่วยงานพร้อมดูแลอำนวยความสะดวก
การประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายภารกิจต่าง ๆ ทั้งด้านพิธีการ เช่น การจัดเตรียมสถานที่ ณ ท้องสนามหลวง และการบริหารจัดการโครงการในภาพรวม การดูแลอำนวยความสะดวกให้กับคณะปกปักรักษาพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ของฝ่ายจีน การดูแลอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าสักการะ การรักษาความปลอดภัย การประชาสัมพันธ์ ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อมทุกด้านในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของการจัดงาน ได้จัดให้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 5 โซน ประกอบด้วย
อุกาสะ วันทามิ ภันเต เจติยัง สัพพัง สัพพัฏถาฐาเน สุปะติฏฐิตัง
พุทธะสาริรังกะธาตุง มหาโพธิง พุทธะรูปัง คันธะกุฏิง จตุททิสา
สะหัสเส ธัมมะขันเธ สัพเพตัง ปาทะเจติยัง สักการะถัง
อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส อิจเจตัง
ระตะนัตตะยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
(กราบ) (กล่าว ๓ จบ)
คำแปล
สาธุ ข้าพเจ้าขอโอกาสกราบไหว้บูชา พระบรมสารีริกธาตุ แห่ง
พระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นที่พึ่งอันประเสริฐได้ประดิษฐานแล้ว
ในพระสถูปเจดีย์ทั้งหลายเหล่านั้น 1 พระพุทธรูปปฏิมา 1
พระคันธะกุฎี 1 พระบาทเจดีย์ 1 ด้วยการสักการะเหล่านี้
สาธุ ข้าพเจ้าขอโอกาสกราบไหว้บูชา พระธรรมทั้งแปดหมื่นสี่พัน
ธัมมะขันธ์ ด้วยการสักการะเหล่านี้
สาธุ ข้าพเจ้าขอโอกาสกราบไหว้บูชา พระบรมธาตุแห่งพระ
อรหันตสาวกทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยการสักการะเหล่านี้
ขอจงเป็นกุศล เป็นนิสัยปัจจัยตามส่งให้จิตของข้าพเจ้าสืบไปเทอญ ฯ
อะหัง วันทามิ อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ ปะระมะสารีริกะ ทาฐาธาตุง มัยหัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
ข้าพเจ้า ขอกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว เพื่อต้องการบูชาพระอรหันตะสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลเทอญ