svasdssvasds

พ.ร.บ. NGO คือกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ เรียกร้องไทยถอนร่าง

พ.ร.บ. NGO คือกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ เรียกร้องไทยถอนร่าง

พ.ร.บ. องค์กรไม่แสวงผลกำไร คือกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพ NGO เรียกร้องรัฐบาลไทยถอนร่างทันที ชี้จดทะเบียนได้ยากมาก

SHORT CUT

  • เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 มีการเรียกร้องจากฟอร์ตี้ฟายไรต์ เรื่องรัฐบาลไทยควรดำเนินการทันที
  • “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นี้จะนำมาซึ่งหายนะอย่างร้ายแรงต่อประชาชนและภาคประชาสังคมในประเทศไทย เพราะให้อำนาจกับเจ้าพนักงานของรัฐในการจำกัดสิทธิทางพลเรือนและสิทธิทางการเมือง
  • ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “รัฐบาลไทยควรดำเนินการเพื่อถอนร่างพระราชบัญญัตินี้ทันที

พ.ร.บ. องค์กรไม่แสวงผลกำไร คือกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพ NGO เรียกร้องรัฐบาลไทยถอนร่างทันที ชี้จดทะเบียนได้ยากมาก

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 มีการเรียกร้องจากฟอร์ตี้ฟายไรต์ เรื่องรัฐบาลไทยควรดำเนินการทันที เพื่อถอนร่างพระราชบัญญัติสมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.... หรือ “พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงผลกำไร” ซึ่งละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวในวันนี้ หลังกระทรวงมหาดไทยเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาใหม่อย่างกะทันหันเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างเป็นทางการ
 

“ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นี้จะนำมาซึ่งหายนะอย่างร้ายแรงต่อประชาชนและภาคประชาสังคมในประเทศไทย เพราะให้อำนาจกับเจ้าพนักงานของรัฐในการจำกัดสิทธิทางพลเรือนและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของสังคมประชาธิปไตย” แมททิว สมิธ (Matthew Smith) ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “รัฐบาลไทยควรดำเนินการเพื่อถอนร่างพระราชบัญญัตินี้ทันที และควรให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตลอดจนสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม”
 

ร่าง พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงผลกำไร กำหนดให้สมาคมและมูลนิธิทุกแห่งต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย เท่ากับเป็นการห้ามไม่ให้มีกลุ่มที่ไม่จดทะเบียน ทั้งยังมีข้อกำหนดการรายงานข้อมูลที่เข้มงวด โดยเฉพาะแหล่งทุนจากต่างประเทศ และให้อำนาจรัฐอย่างกว้างขวางในการสั่งเพิกถอนทะเบียนขององค์กร โดยกำหนดเหตุผลไว้อย่างกว้าง ๆ และขาดความชัดเจน เช่น กรณีที่พิจารณาว่ามีการดำเนินงานที่เป็นภยันตรายต่อ “ความสงบเรียบร้อยของประชาชน” หรือ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” หากมีการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัตินี้ กระทรวงมหาดไทยจะมีอำนาจในการเข้าตรวจสอบสำนักงานของหน่วยงานไม่แสวงหากำไรโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า รวมทั้งการตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ โดยไม่ต้องมีหมายจากศาล กำหนดให้ต้องรายงานข้อมูลที่มากจนเกินกว่าเหตุ และกลายเป็นภาระ ทั้งยังกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง รวมทั้งโทษจำคุกกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรการเหล่านี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อคุกคาม และสั่งปิดองค์กรที่รัฐบาลไทยไม่ให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นการทำลายความเป็นอิสระและประสิทธิภาพของหน่วยงานภาคประชาสังคม
 
ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม ถึง 26 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงมหาดไทยของประเทศไทย กำลังเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนที่มีต่อร่างพระราชบัญญัตินี้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านทางเว็บไซต์ หลังการพิจารณาข้อมูลที่ได้รับมาจากกระบวนการนี้แล้ว คณะรัฐมนตรีไทยจะพิจารณาว่า จะมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาหรือไม่ ซึ่งพลเมืองไทยและหน่วยงานภาคประชาสังคมสามารถร่วมแสดงความเห็นได้ผ่าน แพลตฟอร์มออนไลน์ ของภาครัฐในช่วงเวลาดังกล่าว
 
ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดการปรึกษาหารือสาธารณะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้กับหน่วยงานภาคประชาสังคม ในการรับฟังความเห็น มีผู้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาที่กำหนดขึ้นอย่างกว้าง ๆ และอาจเป็นเหตุให้มีการบังคับใช้โดยพลการต่อสมาคมและมูลนิธิ ยกตัวอย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัตินี้อนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยเพิกถอนทะเบียนองค์กร หากมีการดำเนินงานที่พิจารณาว่า “ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” หรืออาจเป็น “ภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ” การใช้ภาษาที่คลุมเครือเช่นนี้ เปิดโอกาสอย่างมากให้เจ้าพนักงานอาจใช้อำนาจอย่างมิชอบ และอาจถูกใช้เพื่อปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่าง และจำกัดเสรีภาพในการสมาคม
 
ในเดือนมกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ.... ซึ่งเป็นร่างพ.ร.บ.ฉบับก่อนที่จะเปลี่ยนโฉมมาเป็นร่างพ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงผลกำไรในปัจจุบัน นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากภาคประชาสังคม และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติหลายคน โดยร่างกฎหมายปี 2565 ก็ถูกวิจารณ์ในทำนองเดียวกันว่ามีเนื้อหาที่กว้างขวางเกินกว่าเหตุ กำหนดเงื่อนไขทางการเงินและการรายงานข้อมูลที่สร้างภาระ มีข้อจำกัดต่อแหล่งทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนการกำหนดบทลงโทษ
 
ในการรณรงค์เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายฉบับก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้ส่ง จดหมายเปิดผนึก ถึงกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของประเทศไทย ระบุถึงข้อกังวลสำคัญเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว นอกจากนั้น ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังได้จับมือกับหน่วยงานอีก 64 องค์กร ส่ง จดหมายร่วม ไปยังประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯ กระตุ้นให้รัฐบาลของเขากดดันรัฐบาลไทยให้ถอนร่างพระราชบัญญัตินี้ และประกันว่าข้อบังคับในอนาคตจะมีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
 
ภายหลังการรณรงค์กดดันอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานภาคประชาสังคม หน่วยงานสหประชาชาติ และผู้แทนทางการทูตที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงได้ถอนร่างพระราชบัญญัติฉบับก่อน อย่างไรก็ดี ความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่สร้างปัญหา นำไปสู่การจัดทำร่างกฎหมายฉบับปัจจุบันที่มีการเสนอขึ้นมาเมื่อเดือนตุลาคม 2567 ทำให้เกิดข้อกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมายที่ละเมิดสิทธิ และยังไม่ได้รับการแก้ไขเป็นส่วนใหญ่ ร่างกฎหมายที่เสนอใหม่นี้ยังคงมีข้อบทที่สร้างปัญหา และจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของหน่วยงานไม่แสวงหากำไร รวมถึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการสมาคม
 
ในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และตามปฏิญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม ร่างพ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงผลกำไรตามที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทยนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิเหล่านี้อย่างชัดเจน
 
“ประเทศไทยต้องประกันว่ากฎหมายจะสนับสนุน ไม่ใช่ขัดขวางการดำเนินงานที่จำเป็นของภาคประชาสังคม ในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและสภาพความเป็นอยู่และเสรีภาพของประชาชน” แมททิว สมิธกล่าว “นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรจึงควรสั่งการให้ดำเนินการ เพื่อถอนร่างพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหากดปราบฉบับนี้ทันที และสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการประสานงานอย่างจริงจังกับภาคประชาสังคม แทนที่จะบังคับใช้กฎหมายอำนาจนิยมที่จำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน”

related