SHORT CUT
ยี่เป็งไม่ใช่ลอยกระทง รำลึกญาติไม่ได้ขอขมาแม่น้ำ ผลจากสยามกลืนล้านนาผ่านประเพณี ส่งผลต่อความเข้าใจผิดของหลายๆ คน
ร่องรอยการกลืนล้านนาของสยาม ไม่ได้มีแต่แต่เรื่องการเมือง หรือเรื่องเศรษฐกิจที่ค่อยๆ กลืนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องวัฒนธรรมที่พยายามกลืนล้านนา จนบางครั้งเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องประเพณีและการตีความความหมายให้ตรงกับสยามทำให้แก่นแท้ของล้านนาถูกทำให้เข้าใจผิดไป
ประเพณียี่เป็งเอง มักถูกทำให้เข้าใจไปว่าคือประเพณีลอยกระทงของภาคเหนือ แต่ความเป็นจริงแล้วนั้นหากยกความคิดเรื่องลอยกระทรงคือการลอยกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคานั่นเท่ากับว่าประเพณีลอยกระทรงของภาคกลางนั้นไม่ใช่ความหมายหรือความคิดเดียวกับประเพณียี่เป็งของภาคเหนือแต่อย่างใดเลย
ประเพณียี่เป็งเป็นประเพณีสำคัญของชาวล้านนาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเต็มไปด้วยความน่าสนใจ คำว่า "ยี่" หมายถึง สอง และ "เป็ง" หมายถึง เพ็ญ หรือคืนพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น ยี่เป็งจึงหมายถึงประเพณีที่จัดขึ้นในวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือนสองตามปฏิทินล้านนา
มีการเล่าขานตำนานความเชื่อเกี่ยวกับประเพณียี่เป็งในหนังสือตำนานโยนกและจามเทวีวงศ์ ตำนานนี้กล่าวถึงการอพยพของชาวมอญหรือเม็งจากเมืองหริภุญไชย (ลำพูนในปัจจุบัน) ไปยังเมืองสะเทิมและเมืองหงสาวดีเพื่อหนีโรคระบาด เมื่อโรคสงบลง ชาวมอญที่เดินทางกลับบ้านเกิดจึงจัดพิธีลอยกระทงเพื่อระลึกถึงญาติพี่น้องที่ยังคงอยู่ที่เมืองหงสาวดี พิธีนี้จึงกลายเป็นต้นกำเนิดของประเพณียี่เป็งที่สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ตำนานที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานที่ใช้เทศนาในช่วงประเพณียี่เป็ง ตำนานเหล่านี้มักกล่าวถึงอานิสงส์ของการจุดประทีปบูชาพระพุทธเจ้า
ประเพณียี่เป็งประกอบไปด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวล้านนา การจุดผางประทีปและโคมไฟ โดยชาวล้านนาเชื่อว่าการจุดประทีปและโคมไฟเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าและเทพเทวดา มีการปล่อยว่าวเป็นสัญลักษณ์ของการปล่อยทุกข์โศกและความเศร้าหมองในวันดังกล่าวชาวล้านนานิยมไปทำบุญที่วัดในช่วงประเพณียี่เป็งเพื่อความเป็นสิริมงคล
ยังมีกิจกรรมการฟังเทศน์มหาชาติเป็นการเรียนรู้และระลึกถึงพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้รวมไปหถึงชาวล้านนาเชื่อว่าการทำซุ้มประตูป่าเป็นการต้อนรับพระเวสสันดรเมื่อครั้งเสด็จกลับจากป่า
ขณะที่ แนวคิดหลักของประเพณีลอยกระทง คือการขอขมาพระแม่คงคา นื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์ การลอยกระทงจึงถือเป็นการขอขมาพระแม่คงคาที่เป็นเทพีแห่งน้ำ เพื่อขออภัยต่อการกระทำที่ทำให้แหล่งน้ำสกปรกและเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของน้ำในปีต่อไป
การลอยทุกข์ลอยโศก มีความเชื่อว่ากระทงที่ลอยออกไปเปรียบเสมือนการปล่อยวางความทุกข์โศกและสิ่งไม่ดีออกจากชีวิต เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีกว่า
ด้าน รศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว และ ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เผยแพร่ในวารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา (สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) หัวข้อ รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ. 2417 – 2476
โดยอธิบายว่า เดิมทีล้านนามีฐานะเป็นประเทศราชของสยาม มีหน้าที่หลักในการป้องกันพระราชอาณาเขตและถวายเครื่องราชบรรณาการทุก 3 ปี สยามแทบจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของล้านนา
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อสยามลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษใน พ.ศ. 2398 สนธิสัญญานี้เปิดเสรีทางการค้าและให้สิทธิทางการศาลแก่ชาวต่างชาติในสยาม ส่งผลให้ชาวตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายในล้านนามากขึ้น
ในช่วงเวลานั้น อังกฤษได้ขยายธุรกิจการทำไม้เข้ามาในล้านนา บริษัทค้าไม้ของอังกฤษเข้าไปขอทำสัมปทานป่าไม้กับเจ้านายในหัวเมืองต่างๆ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสยาม เนื่องจากสยามไม่ได้มีอำนาจควบคุมล้านนาอย่างแท้จริง
ปัญหาเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีข้อร้องเรียนจากพ่อค้าไม้ชาวอังกฤษเกี่ยวกับข้อพิพาทในการทำป่าไม้กับเจ้านายล้านนา รัฐบาลสยามไม่สามารถตัดสินคดีความได้อย่างเต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายภายใต้สนธิสัญญาเบาว์ริง
ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ทำให้อังกฤษกดดันให้สยามเข้าควบคุมล้านนาอย่างเด็ดขาด สยามตระหนักดีว่า หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อาจเป็น ช่องทางให้อังกฤษใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ายึดครองล้านนา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะ เปลี่ยนสถานะของล้านนาจากประเทศราชให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาเขต เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากชาติตะวันตก และเพื่อรวมศูนย์อำนาจของรัฐสยาม
สยามเริ่มออกกฎหมายต่างๆ เพื่อควบคุมล้านนาในหลายๆ ด้าน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการติดต่อกับต่างประเทศ กฎหมายด้านการปกครอง และกฎหมายด้านเศรษฐกิจ
ส่งข้าหลวงขึ้นไปประจำยังหัวเมืองต่างๆ ในล้านนา เพื่อกำกับดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลกลาง
เริ่มจัดทำแผนที่และสำมะโนครัว เพื่อแสดงให้เห็นถึงขอบเขตอำนาจอธิปไตยของตนเหนือดินแดนล้านนาพัฒนาระบบโทรเลขและสร้างทางรถไฟสายเหนือ เพื่อเชื่อมโยงล้านนากับส่วนกลาง ทำให้การสื่อสารและการคมนาคมสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
สยามสนับสนุนให้มิชชันนารีเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในล้านนา แม้ว่าสยามไม่ได้ให้เงินทุนสนับสนุน แต่ใช้วิธีการออกประกาศพระบรมราชโองการให้นับถือศาสนาได้อย่างเสรี มีการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษาไทยในล้านนา และเข้าควบคุมสถาบันสงฆ์เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลกลาง
มีการสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เห็นได้ชัดจากกรณีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับเจ้าดารารัศมี พระธิดาของเจ้าเมืองเชียงใหม่ เป็นพระชายา การกระทำดังกล่าวช่วยให้สยามสามารถสลายอำนาจของเจ้านายท้องถิ่นได้อย่างราบรื่น
ชาวล้านนาแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการเข้ามาแทรกแซงของสยามในหลายรูปแบบ ทั้งการก่อกบฏ การใช้ความเชื่อดั้งเดิมในการต่อต้าน การแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ และการแสดงออกถึงความเป็นปัจเจก
เกิดกบฏหลายครั้งในล้านนา เช่น กบฏพระยาผาบสงครามใน พ.ศ. 2432 และกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ใน พ.ศ. 2445 กบฏเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่พอใจในนโยบายการจัดเก็บภาษีและการควบคุมทางเศรษฐกิจของสยาม
ชาวล้านนานำเอาความเชื่อเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านอำนาจของสยาม
เกิดความรู้สึกแบ่งแยกทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวล้านนาและชาวสยาม ชาวล้านนาเรียกตนเองว่า "คนเมือง" เพื่อแสดงออกถึงความแตกต่างจาก "คนใต้" หรือชาวสยาม
รวมไปถึงกรณีของครูบาศรีวิชัยเป็นพระภิกษุผู้มีบทบาทสำคัญในล้านนา ท่านไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรวมศูนย์อำนาจของสยามในด้านศาสนา กรณีของครูบาศรีวิชัยสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างแนวคิดดั้งเดิมกับแนวคิดสมัยใหม่
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามเริ่มใช้นโยบายชาตินิยมเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในชาติ สยามใช้วิธีการต่างๆ ในการปลูกฝังความเป็นชาติให้กับชาวล้านนา เช่น การออกกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติ การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ การจัดตั้งกองเสือป่า และการส่งเสริมการศึกษาภาษาไทย
การเสด็จประพาสล้านนาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2469 เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าล้านนาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสยามอย่างสมบูรณ์
เมื่อสยามกลืนล้านนาในทุกอณู และพยายามสร้างแนวความคิดให้ล้านนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสยาม ประเพณียี่เป็งก็ถูกความเป็นสยามครอบลงไปด้วย
โดยสยามใช้วัฒนธรรมประเพณีที่มีอยู่ครอบล้านนาลงไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเพณียี่เป็งที่มักถูกทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นประเพณีเดียวกัน แต่ความจริงนั้นแนวความคิดของ 2 ประเพณีแตกต่างกันมาก เพราะประเพณีลอยกระทงเป็นการขอขมาพระแม่คงคา ลอยกระทงในน้ำ
ขณะที่ประเพณียี่เป็ง เป็นประเพณีที่ใช้รำลึกถึงญาติมิตร หากเป็นไปตามความเชื่อของตำนานหริภุญไชย แต่เมื่อล้านนาถูกครอบงำจากรัฐบาลกรุงเทพฯ ประเพณียี่เป็งย่อมถูกหลอมให้เป็นหนึ่งเดียวกับประเพณีที่สยามมีนั่นเอง
อ้างอิง
Lanna / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ / มศว / SilpaMag / 101 World /
ข่าวที่เกี่ยวข้อง