ประวัติ "วันปิยมหาราช 2567" 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ - พระราชกรณียกิจสำคัญ
วันปิยมหาราช เป็นวันสำคัญอย่างยิ่ง ที่มาของวันนี้มาจากความสำนึกในพระมหากรุณธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พัฒนาบ้านเมืองให้มีความทันสมัย ก้าวสู่ความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศ ด้วยการปฏิรูปในด้านต่างๆ รวมถึงการประกาศเลิกทาส พระองค์ท่านเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช
พระราชสมัญญานาม สมเด็จพระปิยมหาราช มีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และเป็นที่เชื่อกันว่าการสักการะบูชาพระองค์ จะส่งผลให้ผู้ประกอบพิธีเป็นที่รักของคนทั่วไป และมีความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโชคลาภในการประกอบอาชีพ งานที่ทำสะดวกสำเร็จลุล่วง ปลดหนี้ หรือให้ค้าขายรุ่งเรือง เราจึงได้ยินคนทั่วไปมักเรียกพระองค์ท่านติดปากว่า เสด็จพ่อ ร.5 หรือ เสด็จพ่อรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี)
เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ
พระองค์ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ศึกษาวิชาต่างๆ เช่น ชีววิทยา วิชาดาบ วิศวกรรมศาสตร์ ภาษาอังกฤษและมานุษยวิทยา และเดินทางไปต่างประเทศและศึกษายุโรป และวิทยาศาสตร์การทหาร
ในช่วงครองราชย์ 42 ปี พระองค์ทรงริเริ่มขบวนการปฏิรูปการพัฒนาตนเองและความเจริญรุ่งเรือง ทำให้การเมืองและการทหารของไทยเป็นตะวันตก และบรรลุความมั่งคั่ง ความก้าวหน้า สันติภาพและความพึงพอใจของประเทศ
นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าการกระทำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ได้
ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า “พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124” (พ.ศ.2448) เลิกเรื่องลูกทาส ในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาส ไม่เป็นทาสอีกต่อไป การซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด
ได้ทรงปรับปรุงหน้าที่ของกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แต่เดิมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยรวมกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายเวลานั้นเข้าเป็นกระทรวง กระทรวงหนึ่ง ๆ ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างพอเหมาะสม
ทรงโปรดให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง แล้วมีหมายประกาศชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการให้ส่งบุตรหลานเข้า เรียน โรงเรียนภาษาไทยนี้
ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายถนนบำรุงเมือง ถนนที่ทรงสร้างใหม่ คือ ถนนเยาวราช ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนดินสอ ถนนบูรพา ถนนอุณากรรณ เป็นต้น
ได้ทรงตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อดูแลจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นหลายแห่ง เช่น ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลบางรัก โรงพยาบาลโรคจิต และโรงเลี้ยงเด็ก
ทรงเป็นนักประพันธ์ ซึ่งมีความชำนาญทั้งทางร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น ไกลบ้าน ลิลิตนิทราชาคริต เงาะป่า พระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นต้น
พระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2451 ในสมัยของรัชกาลที่ 5 เป็นท้องพระโรงเดิมของพระราชวังดุสิต ชื่อพระที่นั่งนี้ นำมาจากพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง รวมใช้เวลาสร้างทั้งหมด 8 ปี แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6
พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นอาคารทรงยุโรปล้วน เป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงองค์เดียวในประเทศไทย ซึ่งก่อสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวชั้นหนึ่งจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลีนามว่า มาริโอ ตามานโญ
มีแรงบันดาลใจมาจากโดมของวิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
งานก่อสร้างทั้งหมดมาจากแรงงานทั้งคนไทยและจีน ส่วนงานภายในที่มีการตกแต่งด้วยศิลปะเฟรสโก ซึ่งเป็นฝีมือช่างจากอิตาลีเป็นส่วนใหญ่
อีกทั้งมีจุดเด่นที่โดมใหญ่ตรงกลางซึ่งทำจากทองแดง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เมตร รวมไปถึงโดมย่อยอีก 6 โดม แต่เนื่องจากสนิมทำให้เปลี่ยนสีจากสีทองแดงเป็นสีเขียวอมน้ำเงิน
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2419 พระที่นั่งแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างพระมหามณเฑียรกับพระมหาปราสาท ประกอบด้วยปราสาท 3 องค์ ทอดตัวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก
พระที่นั่งแห่งนี้มีความโดดเด่นกว่าพระที่นั่งอื่นๆ เนื่องจากเป็นการออกแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมยุโรป
โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นที่มาของชื่อ "ฝรั่งสวมชฎา"
และด้วยความที่เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นกว่าพระที่นั่งอื่นๆ ทำให้ปัจจุบันพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทกลายเป็นหนึ่งในจุดดึงดูดสำคัญที่สุดของพระบรมมหาราชวัง เป็นหนึ่งในสถานที่ที่สำคัญที่สุดในพระบรมมหาราชวัง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง