svasdssvasds

สิ่งที่ต้องรู้ ก่อนไปดู "ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567" ต้องเตรียมอะไรบ้าง

สิ่งที่ต้องรู้ ก่อนไปดู "ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567" ต้องเตรียมอะไรบ้าง

ทำความรู้จัก "ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค" ในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ก่อนไปดูต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นี้ เป็นอีกหนึ่งในพระราชพิธี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวง ครบ 6 รอบ ที่คนไทยทุกคนเฝ้ารอคอย

ประชาชนสามารถรับชมความงดงามของเรือพระราชพิธีได้ตลอด 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 ไปจนถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

 

ตารางการฝึกซ้อม

  • ครั้งที่ 9 วันที่ 1 ตุลาคม 2567
  • ครั้งที่ 10 วันที่ 10 ตุลาคม 2567

ตารางการซ้อมใหญ่ เริ่มเวลา 15.00 น.

  • ครั้งที่ 1 วันที่ 15 ตุลาคม 2567
  • ครั้งที่ 2 วันที่ 22 ตุลาคม 2567

ซึ่งการซ้อมใหญ่จะเหมือนวันจริงทุกอย่าง ทั้งการจัดแต่งขบวนเรือและการแต่งกาย ขาดเพียงไม่ได้มีการเสด็จประทับในขบวนเท่านั้น

 

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ใช้เรือพระราชพิธี จำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร 

นอกจากนี้ ยังมีเรือพระราชพิธีอื่นด้วยเช่น เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เป็นต้น สําหรับกําลังพลประจําเรือพระราชพิธี ได้คัดเลือกกําลังพลจากหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ จํานวน 2,200 นาย เป็นกําลังพลประจําเรือพระราชพิธีทั้งนี้ การจัดรูปขบวนจัดตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการโดยจัดรูปขบวนเรือแบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย

ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เป็นเรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก

ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 52 ลำ

ในหลวงทรงเสด็จประทับเรือลำไหน

ในหลวงจะเสด็จประทับ "เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์" ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูงสุด เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชินี โดยเมื่อปี 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพิธีพระบรมราชาภิเษก

"เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์" ลำปัจจุบันนี้ เป็นเรือสร้างใหม่สมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แล้วเสร็จในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โดยมี พล.ร.ต.พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนาวาสถาปนิกผู้ต่อเรือสุพรรณหงส์ โดยจัดให้มีการประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454

โขนเรือเป็นรูปหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง หมายถึง เรือที่เป็นเครื่องประดับยศ เป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูง มีโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นใดประทับเป็นแต่บางครั้ง โปรดฯ ให้เป็นเรือทรงผ้าไตรหรือผ้าทรงสะพักพระพุทธรูป หรือพานพุ่มดอกไม้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์

หัวเรือพระที่นั่งนี้มี "โขนเรือ" เป็นรูปหัวของ "หงส์" ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ จำหลักไม้ ลงรักปิดทองประดับกระจก มีพู่จามรีห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญา หรือ บุษบกไว้สำหรับเป็นที่ประทับ

เรือมีความยาวตลอดลำ 44.90 เมตร กว้าง 7.17 เมตร ลึก 0.94 เมตร ใช้กำลังพลรวม จำนวน 71 นาย แยกเป็นกำลังพลประจำเรือ 64 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 50 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย คนขานยาว 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จำนวน 7 นาย

ในปี 2535 องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร ได้พิจารณามอบรางวัลเรือโลก แก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โดยคณะกรรมการองค์การ World Ship Trust เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เหรียญรางวัลมรดกทางทะเล ขององค์การเรือโลกประจำปี พ.ศ.2535 (The World Ship Trust Heritage Award "Suphannahong Royal Barge")

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่ อธิบดีกรมศิลปากร

 

จุดชม "ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567" สวยๆ โซนไหนดี

สำหรับเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินจะเรื่มตั้งแต่ท่าวาสุกรี ถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ระยะทางประมาณ 4.2 กิโลเมตร สำหรับผู้ที่สนใจสามารถวางแผนเข้าชมตามแนว 2 ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ สะพาน ท่าเรือ หรือท่าวัดต่างๆ ได้ โดยจะมีบางท่าน้ำที่วิวดีๆ เห็นได้ชัด เปิดรับจองที่นั่งล่วงหน้า เช่น ท่ามหาราช ห้องอาหารโรงแรมต่างๆ 

  • ย่านวังหลัง
  • วัดระฆังโฆสิตาราม

 

จุดชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 ฝั่งพระนคร

  • ท่าเรือวัดราชาธิวาส
  • สวนสามพระยา
  • ใต้สะพานพระราม 8
  • สวนสันติชัยปราการ 
  • ทางเดินสวนสันติชัยปราการ
  • ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  • ถนนมหาราช
  • สวนนาคราภิรมย์ 

 

จุดชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 ฝั่งธนบุรี

  • ท้ายซอยจรัญสนิทวงศ์ 52 ลานใต้สะพานพระราม 8 
  • ลานริมน้ำท่าเรือสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
  • ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
  • สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 
  • โรงพยาบาลศิริราช 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

related