svasdssvasds

กู้ชาติแต่ถูกสั่งเผา! โจน ออฟ อาร์ค ถูกเล่าขานผ่านพิธีเปิดโอลิมปิก

กู้ชาติแต่ถูกสั่งเผา! โจน ออฟ อาร์ค ถูกเล่าขานผ่านพิธีเปิดโอลิมปิก

กู้ชาติแต่ถูกสั่งเผา! โจน ออฟ อาร์ค วีรสตรีผู้เป็นตำนาน ถูกเล่าขานผ่านพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทสฝรั่งเศส

SHORT CUT

  • พิธีเปิดโอลิมปิก มีฉากหนึ่งที่ผู้หญิงขี่ม้าข้ามแม่น้ำแซนได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบชุดมาจากชุดเกราะของ โจน ออฟ อาร์ค
  • เธอคือวีรสตรีกู้ชาติในยุคสงครามร้อยปีที่สามารถกู้ชาติฝรั่งเศสและนำกษัตริย์สวมมงกุฎได้สำเร็จ 
  • แต่กระนั้นเธอกลับถูกศาสนจักรสั่งเผาด้วยข้อหานอกรีต กล่าวหาว่าเธอเป็นแม่มด ก่อนที่ในเวลาต่อมาเธอจะได้รับความเป็นธรรมและกลายเป็นตำนานที่ถูกเล่าไม่รู้จบ

กู้ชาติแต่ถูกสั่งเผา! โจน ออฟ อาร์ค วีรสตรีผู้เป็นตำนาน ถูกเล่าขานผ่านพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทสฝรั่งเศส

โจน ออฟ อาร์ค ตำนานที่ถูกเล่าไม่รู้จบของวีรสตรี ผู้ท้าทายศัตรูของชาติและความเป็นชายของเหล่านักรบ

เธอคือแสงสว่างของฝรั่งเศสในยุคสงคราม 100 ปีในสภาวะที่บ้านเมืองกำลังสิ้นชาติ และสิ้นหวัง หลายคน รวมถึงราชสำนักฝรั่งเศสต่างหมดหวังว่าไม่สามารถชนะกองทัพอังกฤษได้

เธอลุกขึ้นต่อกรกับกองทัพของอังกฤษผู้รุกรานฝรั่งเศสนำพระเจ้าชาร์ลสวมมงกุฎขึ้นเป็นกษัตริย์ได้สำเร็จ

ภาพ โจน ออฟ อาร์ค

แต่กลับมีผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาสวมชุดเกราะขี่ม้าเข้าห้ำหั่นกับศัตรู จนสามารถกรุยทางสู่ชัยชนะของฝรั่งเศสที่มีต่ออังกฤษผู้รุกรานได้

ใช่ว่าชีวิตของยอดวีรสตรีคนนี้หลังจากนำทัพฝรั่งเศสบดขยี้กองทัพศัตรูจะสวยหรู เพราะเธอถูกจับตัวถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดเป็นพวกนอกรีต และนำไปสู่การสั่งเผาทั้งเป็นโดยที่กษัตริย์ชาร์ลผู้ที่เธอกรุยทางให้เขาได้สวมมงกุฎกษัตริย์กลับนิ่งเฉย

 

หลังเหตุการณ์นี้กว่า 20 ปี กษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ได้สั่งให้รื้อคดีของโจนขึ้นใหม่อีกครั้ง และสุดท้ายพระสันตะปาปาคาลิกส์ตุสที่ 3 ก็ได้สั่งให้รื้อการพิจารณาคดีตามฎีกาของครอบครัวของโจนคณะไต่สวนได้มีคำสั่งยกคำตัดสินเดิม

ในปี 1920 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ได้ประกาศให้โจนเป็นนักบุญแห่งคริสตจักรคาทอลิก หลังจากนั้นเธอได้เป็นตำนานไม่รู้จบแห่งฝรั่งเศส

เรื่องราวของเธอถูกสร้างเป็นนิทาน นิยาย ตลอดจนภาพยนตร์ เธอถูกยยกย่องเป็นตำนานวีรสตรีของชาติฝรั่งเศส

ในพิธีเปิดงานโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสชุดเกราะของสตรีผู้ขี่ม้ามากลางแม่น้ำก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดเกราะของเธอ เป็นภาพสะท้อนการนำเรื่องราวของเธอมาสร้างความภาคภูมิใจอีกครั้งในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ได้อย่างลึกซึ้งและทรงพลังกลายเป็นที่กล่าวขานไปทั่วทุกมุมโลกได้อีกครั้งหนึ่ง

SPRiNG พาไปรู้จักตำนาน โจน ออฟ อาร์ค ที่ไม่รู้จบไปพร้อมๆ กัน

 

โจน ออฟ อาร์ค จากลูกชาวนาสู่นักรบหญิง

โจน ออฟ อาร์ค (Saint Joan of Arc หรือ Sainte Jeanne d’Arc ในภาษาฝรั่งเศส) เกิดในครอบครัวชาวนาเมื่อปี 1412 ในหมู่บ้านโดมเรมี (Domrémy) ประเทศฝรั่งเศส

เรียกได้ว่าชาติกำเนิดของเธอคือไพร่ธรรมดาทั่วไปในฝรั่งเศส ซึ่งในสังคมที่แบ่งชนชั้นในยุโรปตัวเธอเองอยากที่จะไต่เต้าขึ้นเป็นขุนนางรวมถึงเพศสภาพที่เป็นผู้หญิง จึงไม่มีใครคิดว่าตัวเธอจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ฐานะบุคคลสำคัญของชาติได้

สถานการณ์ไม่ได้สร้างแต่วีรบุรุษ แต่สร้างวีรสตรีด้วย

หลายคนมักบอกสถานการณ์สถานการณ์มักสร้างวีรบุรุษ แต่สำหรับฝรั่งเศสนั้นกลับสร้างวีรสตรีด้วย เพราะในช่วงนั้นเองฝรั่งเศสกำลังเกิดความวุ่นวายจากการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์

โดยกษัตริย์อังกฤษอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสเนื่องจากมีเชื้อสายมาจากพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องการสืบทอดราชสมบัติ

ประกอบกับความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในการแข่งขันทางการค้าและการควบคุมดินแดนบริเวณตอนเหนือของฝรั่งเศสมาอย่างยาวนานเกิดจากความทับซ้อนในระบอบศักดินาเพราะกษัตริย์อังกฤษมีศักดิ์เป็นดยุคแห่งนอร์มังดี ซึ่งมีฐานะเป็นขุนนางของฝรั่งเศส

ภาพ โจน ออฟ อาร์ค

และความแตกแยกภายในฝรั่งเศสระหว่างกลุ่มอภิชน ทำให้อังกฤษสามารถเข้าแทรกแซงได้ง่าย

นำไปสู่สงครามร้อยปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สงครามร้อยปี คืออะไร

สงคราม 100 ปี (ฝรั่งเศส: Guerre de Cent Ans; อังกฤษ: Hundred Years' War) เป็นความขัดแย้งที่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรป เป็นการสู้รบกันระหว่างราชวงศ์แพลนทาเจเนต ผู้ปกครองราชอาณาจักรอังกฤษ และ ราชวงศ์วาลัว ผู้ปกครองราชอาณาจักรฝรั่งเศส โดยมีสาเหตุหลักมาจากการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสของกษัตริย์อังกฤษ

ความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อกษัตริย์ชาลส์ที่ 6 สวรรคตไปแล้ว 5 ปี มกุฎราชกุมารชาลส์ก็ยังไม่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษก เนื่องจากตามราชประเพณี พิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ฝรั่งเศสต้องทำที่เมืองแร็งส์ (Reims) ซึ่งขณะนั้นอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ทำให้สถานะในบัลลังก์ของพระองค์ยังไม่มั่นคง

ขณะที่โดมเรมีบ้านเกิดของโจนตั้งอยู่บริเวณชายแดนเขตอำนาจของมกุฎราชกุมารและฝ่ายเบอร์กันดีที่อยู่ข้างอังกฤษ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่แห่งการสั่นคลอนอำนาจของทั้ง 2 ฝ่าย

โจนอ้างว่าได้รับ “เสียงสวรรค์” จากนักบุญของชาวคริสต์ 3 ท่านคือ เซนต์ไมเคิล (St. Michael) เซนต์แคเธอรีน แห่งอเล็กซานเดรีย (St. Catherine of Alexandria) และ เซนต์มากาเร็ต แห่งแอนติออค (St. Margaret of Antioch) ให้ช่วยมกุฎราชกุมารชาลส์ขึ้นครองราชย์

ปี ค.ศ. 1428 โจนในวัย 16 ปี เดินทางจากบ้านเกิดไปยังวูคูเลอร์ (Vaucouleurs) ที่ตั้งของฐานทัพที่ภักดีต่อชาลส์เพื่อขอร่วมรบ แต่ถูกปฏิเสธ เธอเดินทางไปยังวูคูเลอร์อีกครั้งในปี ค.ศ.1429 ด้วยบุคลิกที่แน่วแน่และเปี่ยมด้วยศรัทธาทำให้เธอได้รับการยอมรับจากเหล่าทหารและได้ร่วมเดินทางไปยังชีนง (Chinon) เพื่อเข้าเฝ้าชาลส์

แต่มกุฎราชกุมารชาลส์ทรงลังเลว่าจะให้โจนได้เข้าเฝ้าหรือไม่ แต่เมื่อผ่านไปสองวันชาลส์ยอมให้เธอเข้าเฝ้า โจนจึงได้บอกความตั้งใจกับชาร์ลว่าต้องการออกรบกับอังกฤษ พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำให้พระองค์ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกที่เมืองแร็งส์

แต่ใช่ว่าชาร์ลจะไฟเขียวเสียทีเดียว หลังจากนั้นเธอต้องถูกทดสอบและไต่สวนโดยเหล่านักบวช เธออ้างกับเหล่านักบวชว่า เธอจะพิสูจน์ถึงภารกิจที่เธอได้รับจากสวรรค์ในการสู้รบที่ออร์เลอองส์ (Orleans) ที่กำลังถูกโจมตีโดยอังกฤษมานานหลายเดือน และองค์มกุฎราชกุมารน่าจะทรงได้รับคำแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากความพิเศษของเธอในการศึกครั้งนี้

โจน ออฟ อาร์ค สตรีผู้นำหน้าชายในสนามรบ

ชาลส์มอบกำลังทหารกองเล็กๆ ให้กับโจนเพื่อเดินทางไปยังออร์เลอองส์ การมาถึงของเธอพร้อมกับกำลังเสริมและเสบียงช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับเหล่าทหารฝรั่งเศส เธอนำทัพออกรบหลายครั้ง

ในการรบในเดือน พฤษภาคม ค.ศ.1429 เธอถูกยิงด้วยธนู แต่หลังจากที่เธอทำแผลไม่นานก็รีบกลับสู่สนามรบสร้างแรงกระตุ้นให้กับทหารฝรั่งเศส และทำให้อังกฤษเสียท่า ตัดสินใจถอนทัพออกจากออร์เลอองส์ในวันถัดมา

ภาพ โจน ออฟ อาร์ค

ในช่วง 5 สัปดาห์หลังจากนั้น ทัพฝรั่งเศสได้ชัยชนะเหนือทัพอังกฤษอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 16 กรกฎาคม ปีเดียวกันนั้นกองทัพฝรั่งเศสได้เดินทางไปยังแร็งส์ ซึ่งยอมเปิดประตูเมืองเพื่อต้อนรับโจนและชาลส์ และวันถัดมาชาลส์ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสตามราชประเพณี

เรียกได้ว่าเธอทำให้พระเจ้าชาร์ลประจักษ์ และทำให้เหล่าทหารฝรั่งเศสยอมรับในตัวเธอด้วยการนำชัยชนะต่อเนื่องมาให้กับกองทัพฝรั่งเศส สนามรับต่อไปคือการชิงเมืองหลวงของฝรั่งเศสอย่างกรุงปารีสคืนมาจากอังกฤษ

ในวันที่ 8 กันยายน โจนนำทัพบุกปารีสและเรียกร้องชาวเมืองให้ยอมยกเมืองให้กับกษัตริย์ชาลส์ แต่ความพยายามของเธอไม่เป็นผล เธอถูกเล่นงานได้รับบาดเจ็บแต่ยังพยายามกระตุ้นให้ทหารเดินหน้าบุกต่อไป ก่อนเธอต้องยอมล่าถอยและกษัตริย์ชาลส์มีพระบัญชาให้ถอนทัพ

ศึกสุดท้ายของวีรสตรีนาม โจน ออฟ อาร์คฃ

ศึกสุดท้ายของโจนคือการศึกกับฝ่ายเบอร์กันดีในเมืองคองเพียญน์ (Compiègne) เธอสามารถขับไล่ฝ่ายเบอร์กันดีไว้ได้ 2 ครั้ง แต่สุดท้ายเธอก็ถูกฝ่ายเบอร์กันดีจับตัวไว้ได้ในวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1430 ด้วยความช่วยเหลือจากทัพเสริมของอังกฤษ ก่อนถูกขายให้กับอังกฤษด้วยค่าหัว 10,000 ฟรังส์

โดยมีคณะเทววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยปารีสซึ่งเข้าข้างฝ่ายอังกฤษเป็นตัวกลางในการเจรจา ขณะที่กษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ก็มิได้พยายามช่วยเหลือเธอแต่อย่างใด เนื่องจากพระองค์กำลังพยายามหาข้อตกลงในการสงบศึกกับฝ่ายเบอร์กันดี

ภาพ โจน ออฟ อาร์ค

และบรรดานักเทววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยปารีสยืนยันให้เอาผิดกับเธอฐานประพฤติตนนอกรีต เนื่องจากความเชื่อของเธอมิได้สอดคล้องกับแนวทางของศาสนจักรในขณะนั้น และการที่เธออ้างว่าสามารถสื่อสารกับพระเจ้าได้โดยตรงผ่านนิมิตหรือเสียงจากสวรรค์ ย่อมเป็นภัยคุกคามต่อบรรดานักบวช

การเล่นงานเธอยังส่งผลสะเทือนไปถึงกษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ซึ่งย่อมถูกมองได้ว่าบัลลังก์ของพระองค์ได้มาด้วยความช่วยเหลือของ “แม่มด” เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือประหาร โจน และทำให้กษัตริย์ชาร์ลไร้ความชอบธรรมเหนือบัลลังก์ฝรั่งเศส

คณะไต่สวนพยายามอยู่นานเพื่อให้โจนยอมรับสารภาพ ในครั้งที่เธอป่วยหนักเธอขอโอกาสที่จะได้รับสารภาพ แต่คำสารภาพของเธอก็มิได้เป็นการยอมรับต่อการปรักปรำตามข้อกล่าวหา คณะไต่สวนจึงข่มขู่ที่จะทำร้ายเธอ

โจนประกาศว่าต่อให้ทรมานจนตายก็จะไม่ตอบอย่างอื่น และจะขอยืนยันคำเดิม พร้อมกล่าวต่อไปว่าคำให้การใดๆ ของเธอหลังจากนี้ หากเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นเพราะถูกบิดเบือนด้วยการใช้กำลังบังคับ คณะไต่สวนจึงตัดสินใจส่งตัวโจนไปพิจารณาต่อในศาลอาณาจักร ซึ่งมีอำนาจลงโทษพวกนอกรีตด้วยโทษตายได้

โจนประกาศว่าจะยอมทำทุกอย่างที่ศาสนจักรต้องการ เธอจึงถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต พร้อมคำสั่งให้สวมเสื้อผ้าอย่างผู้หญิง ซึ่งเบื้องต้นเธอยอมปฏิบัติตาม แต่สองสามวันถัดมาคณะไต่สวนได้เดินทางมาพบเธอ และพบว่า เธอสวมเครื่องแต่งกายอย่างผู้ชายอีก

เธออ้างว่าเซนต์แคเธอรีนและเซนต์มากาเร็ตได้มาพบและตำหนิว่าทรยศด้วยการยอมรับสารภาพต่อศาสนจักร ทำให้ศาลศาสนาตัดสินว่าเธอประพฤตินอกรีตอีกครั้ง และตัดสินใจส่งตัวโจนต่อศาลอาณาจักร

วาระสุดท้ายของเธอก็มาถึงในวันที่ 30 พฤษภาคม 1431 ด้วยวัยเพียง 19 ปี โจนถูกเผาทั้งเป็นด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีต

หลังเหตุการณ์นี้กว่า 20 ปี กษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ได้สั่งให้รื้อคดีของโจนขึ้นมาสอบสวนใหม่อีกครั้ง และสุดท้ายพระสันตะปาปาคาลิกส์ตุสที่ 3 (Calixtus III) ก็ได้สั่งให้รื้อการพิจารณาคดีตามฎีกาของครอบครัวของโจน คณะไต่สวนซึ่งพิจารณาคดีระหว่างปี 1455-1456 ได้มีคำสั่งยกคำตัดสินเดิมในปี 1431 และในปี 1920 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ได้ประกาศให้โจนเป็นนักบุญแห่งคริสตจักรคาทอลิก

เรื่องราวของเธอถูกสร้างเป็นนิทาน นิยาย ตลอดจนภาพยนตร์ เธอถูกยยกย่องเป็นตำนานวีรสตรีของชาติฝรั่งเศส


ในพิธีเปิดงานโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสชุดเกราะของสตรีผู้ขี่ม้ามากลางแม่น้ำก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเธอ เป็นภาพสะท้อนการนำเรื่องราวของเธอมาสร้างความภาคภูมิใจอีกครั้งในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ได้อย่างลึกซึ้งและทรงพลังกลายเป็นที่กล่าวขานไปทั่วทุกมุมโลกได้อีกครั้งหนึ่ง
 

อ้างอิง

SilpaMag / HistoryMaps /

ข่าวที่เกี่ยวข้อง