SHORT CUT
“ดนตรีเปิดหมวก” เสียงเพลงริมทางเลี้ยงจิตวิญญาณ “วณิพกหญิง” จากอดีตที่เธอถูกละเลบเพราะเป็นลูกผู้หญิงในครอบครัวคนจีน
วณิพกมักเป็นนักดนตรีเร่ร่อนที่เดินทางไปทั่วเพื่อขอทาน พวกเขาใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการดึงดูดความสนใจ และขอรับเงินหรืออาหารจากผู้คน
ความหมายนี้ไม่ได้จำกัดความว่าคุณจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย แต่คุณคือผู้มีหัวใจรักดนตรีและใช้ดนตรีหล่อเลี้ยงชีวิตและจิตวิญญาณ และได้เงินมาด้วยความบริสุทธิ์
SPRiNG พาไปรู้จักวณิพกหญิง พรพิมล อภิรัฐเมธีกุล หรือพี่แพทนักดนตรีเปิดหมวกหญิง จากครอบครัวที่ไม่ต้องการลูกผู้หญิงสู่ วณิพกหญิงผู้ใช้ดนตรีหล่อเลี้ยงชีวิต
พี่แพท เล่าว่าเธอเกิดในครอบครัวคนจีนพอคุณแม่คลอดของเธอคลอดเธอปุ๊บ อาม่าคือคุณย่า พอรู้ว่าเป็นลูกผู้หญิงและเป็นหลานผู้หญิงคนแรกเขาไม่เคยมาโรงพยาบาลเลย ไม่สน ไม่มอง เพราะคนจีนจะไม่ชอบลูกผู้หญิง เธอย้ำว่าคือเรื่องจริง แต่เธอก็เกิดความแปลกใจว่าทุกคนก็เกิดจากผู้หญิงแต่ไม่ชอบผู้หญิงนี่แปลก
เธอยังเล่าให้เราฟังอีกว่า ครอบครัวคนจีนจะรักลูกชายมากกว่าลูกสาว มีการสปอยสิ่งของอะไรก็มักจะให้ผู้ชายมากกว่า
พี่แพท เล่าว่าการเกิดเป็นลูกผู้ชายไม่ต้องทำงานบ้าน โดยหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของลูกผู้หญิงคนเดียวโดยเธอต้องทำงานบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า ของทุกคน ทั้งหมด ทั้งๆ ที่เธอทำทุกอย่าง แต่บางทีก็ยังทำให้ครอบครัวไม่พอใจ
การเกิดมาเป็นผู้หญิงในครอบครัวคนจีนเหมือนถูกตีกรอบด้วยเพศสภาพอยู่แล้วว่าชีวิตของเธอต้องทำอะไร รวมถึงอาชีพที่เธอถูกตีตราว่าไม่สามารถทำอาชีพอย่างผู้ชายได้
พี่แพทเล่าอีกว่า ตอนเด็กเธออยากเป็นช่าง โดยเฉพาะช่างอิเล็กทรอนิกส์แบบพ่อของเธอ แต่ปรากฏคำพูดที่พ่อของเธอพูดกลับมาว่าเป็นผู้หญิงจะเป็นช่างไปทำไม เขาไม่อยากให้เป็น ตอนนั้นเธอได้แต่คิดในใจแล้วฉันจะทำอะไรละ?
สุดท้ายเธอก็ต้องก้มหน้าก็ทำงานบ้านต่อไป พอชีวิตเริ่มมีแฟนจึงออกจากบ้าน ในที่สุดจึงสลัดภาระที่ตนเองเจอจากการอยู่ในครอบครัวคนจีนออกไป
ความรักของหลายคนนั้นหอมหวานทำให้ชีวิตเบิกบานและทำให้หลายคนมีชีวิตชีวาขึ้นมา พี่แพท เป็นอีกหนึ่งคนเมื่อความรักเข้ามา ไม่ใช่แต่ทำให้เธอได้มีความสุขกับคนที่รักอย่างเดียว แต่ทำให้เธอรู้จักเสียงเพลงที่กล่อมจิตใจเธอให้ดีขึ้นอีกด้วย
เธอเล่าให้เราฟังว่าไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะต้องมาเล่นดนตรีเปิดหมวกไม่เคยอยู่ในสมองของเธอมาก่อน เพราะจริงๆ แล้วอาชีพดั้งเดิมพี่แพทเป็นคือครูสอนกีฬาโรลเลอร์สเกต
พี่แพทเล่าว่าหลังจากที่ตกงานจากการเป็นครูสอนกีฬาจึงเริ่มไปสมัครงาน และสิ่งที่ทำไปพร้อมๆ กันคือการเริ่มร้องตามร้านอาหาร ตอนฝีมือยังไม่เท่าไรแต่ก็พอกล้อมแกล้ม เจ้าของร้านเขาเห็นว่าเป็นผู้หญิงไปเล่นกีตาร์ เขาว่าน่ารักดี เขาก็เลยจ้างไว้ แล้วก็ใช้ชีวิตในการเล่นผับ บาร์ คาเฟ่ โรงแรมชั้นหนึ่ง เล่นมาเยอะมาก ร้อยกว่าแห่ง เล่นอยู่ได้ประมาณ 9 ปี เล่นๆ เลิกๆ และบางครั้งสลับไปทำงานอย่างอื่นบ้างแล้วก็กลับมาเล่นดนตรี
เธอเล่าว่าชีวิตการหางานของเธอ การหางานมันก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้างเข้าๆ ออกๆ เป็นว่าเล่นบางทีเขาก็ไม่ได้จ้างเรานาน บางทีก็เป็นที่นโยบายร้าน และบางทีก็เป็นโชค
หลังจากเธอทำงานร้องเพลง ได้มีผู้ชายคนหนึ่งมันมาเล่นกีตาร์ให้เธอฟัง แต่สิ่งที่คิดในใจว่า เอ๊ะมาเล่นอะไรให้เราฟังไม่เห็นได้เรื่องเลยแถมยังจะเอาเงินจากเราอีก 20 บาท เราจึงให้เขาไป 20 บาท คือ เขาเล่นแล้วมันไม่ได้เรื่องไง ก็บอกว่าเอามานี่กูจะเล่นเอง เราก็เล่นให้ฟัง นั่นแหละ เธอไม่ต้องขายของแล้วไปเล่นดนตรีกับฉันเถอะ นั่นแหละ ไอ้ตาบ๊องนั่นมันก็เลยมาเป็นแฟน
การที่เริ่มคบกับแฟนใหม่ๆ มีคนนินทาเยอะเลยเขาบอกว่า เราเอาคนบ้ามาทำผัว ตอนนั้นพี่แพทมีความคิดแปลกๆ อย่างหนึ่ง ผู้ชายดีๆ ส่วนใหญ่มักเดินออกจากชีวิตเรา เลยคิดว่าลองคบคนบ้าดูเผื่อจะดีแต่ว่าคนนี้แหละเป็นต้นเหตุให้เราต้องเล่นดนตรีเปิดหมวกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ดนตรีคือศิลปะคนเล่นกับคนฟังบางครั้งก็มีแนวคิดที่แตกต่าง
การเล่นดนตรีไม่ใช่ว่าใครจะชอบท่วงทำนองที่เราเล่นหมด มันเหมือนงานศิลปะขึ้นอยู่กับจริตทั้งนักดนตรีและผู้ฟังที่สามารถประสานเข้าหากันได้หรือไม่
พี่แพทเล่าว่า บางทีความสุขของการเล่นดนตรีก็ขึ้นอยู่กับลูกค้า ลูกค้าทำให้เราสุข ลูกค้าทำให้เราทุกข์ก็มีถ้าเขามีความสุขก็คือลูกค้าแบบจะร้องตามเรา สนุกสนานอะไรอย่างนี้
พี่แพทเล่าว่าบางครั้งเจอลูกค้าที่แบบหน้าบึ้งใส่ เขาบอกว่าเพลงอะไร ไม่เห็นรู้จักเลยสักเพลง อะไรอย่างนี้แล้วก็ไม่ให้เงิน บางทีก็เจอลูกค้า ถามอะไรแบบกวนๆ บางทีอยู่ดีๆ มาถามเรา ถามจริงๆ เถอะถ้าเราฟังเพลงแล้วไม่ให้เงินจะโมโหไหม เราทำมาหากินก็ต้องเข้าใจ แล้วอยู่ดีๆ มาถามเราว่าไม่ให้เงินจะโกรธไหมเราก็นึกในใจว่าถามได้อย่างไร
แต่สุดท้ายแล้วการเปิดหมวกร้องเพลงทำให้พี่แพทภูมิใจ เพราะเธอสามารถใช้ความสามารถแลกเงินไม่ได้ไปขอเฉยๆ แบบที่บางคนเข้าใจผิดคนคนหนึ่งกว่าจะฝึกเล่นดนตรีขึ้นมาได้ มันใช้เวลาหลายปี กว่าจะร้องเพลงให้ถูกคีย์ได้ก็ต้องใช้เวลานานต้องใช้ความสามารถแลกเงินจริงๆ
นี่คือชีวิตของวณิพกหญิงที่ชื่อ พรพิมล อภิรัฐเมธีกุล หรือพี่แพท จากเด็กผู้หญิงที่เกิดในครอบครัวคนจีนที่ตีกรอบเธอ ปฏิบัติกับเธออีกแบบหนึ่ง จนเธอต้องก้าวออกมาใช้ชีวิตจากครูสอนกีฬาสู่นักดนตรี ชีวิตที่ต้องสู้ผ่านเสียงดนตรี ต่อสู้กับคำดูถูก แต่สุดท้ายดนตรีสามารถกล่อมเกลาจิตใจเธอได