svasdssvasds

นายกฯ ภูฏาน เผยผู้นำที่ดีต้องมีสติปัญญา-ความกล้า-ความเห็นอกเห็นใจ

นายกฯ ภูฏาน เผยผู้นำที่ดีต้องมีสติปัญญา-ความกล้า-ความเห็นอกเห็นใจ

นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ร่วมปาฐกถาเนื่องในโอกาสการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรภูฏานครบรอบ 35 ปี ชูผู้นำประเทศต้องมีสติปัญญา ความกล้า และความเห็นอกเห็นใจ แต่ความอันตรายของ AI คือไม่มีความเห็นอกเห็นใจ

SHORT CUT

  • นายกรัฐมนตรีภูฏานเผยคุณสมบัติผู้นำที่ดี "สติปัญญา-ความกล้า-ความเห็นอกเห็นใจ"
  • มอง AI อันตรายเพราะขาดความเห็นอกเห็นใจ
  • ชูประเทศภูฏานมีความก้าวหน้าด้านการศึกษาและสาธารณสุข

นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ร่วมปาฐกถาเนื่องในโอกาสการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรภูฏานครบรอบ 35 ปี ชูผู้นำประเทศต้องมีสติปัญญา ความกล้า และความเห็นอกเห็นใจ แต่ความอันตรายของ AI คือไม่มีความเห็นอกเห็นใจ

ดาโช เชริง โตบเกย์ (Hon’ble Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน กล่าวในปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Enlightened Leadership” ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ. (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร รักษาการอธิการบดี จุฬาฯ ต้อนรับ และมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าร่วมฟัง

โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า ทุกคนมีความเป็นผู้นำเพราะการใช้สติปัญญาของเราย่อมมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อผู้อื่น การเป็นผู้นำไม่ใช่เพียงแค่การนำพาประเทศชาติหรือโลกเท่านั้น แต่การเป็นผู้นำที่ตื่นรู้ (Enlighthened Leadership) ไม่ใช่แค่การรักษาไว้ซึ่งขั้วอำนาจ แต่ต้องพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปให้ไกลขึ้น ด้วยการใช้ สติปัญญา (Wisdom) ความกล้าที่จะลงมือทำ (Courage) และความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) และสุดท้ายคือการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริง (Driven) ขณะเดียวกันการมีแค่ความรู้และความกล้าลงมือทำจะกลายเป็นเพียงผู้นำแบบอำนาจนิยม เพราะเขาขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

เมื่อมีคำถามว่าแล้วคิดว่า AI เป็นผู้นำได้หรือไม่? ดาโช เชริง โตบเกย์ ตอบว่า AI มีสติปัญญาและความกล้าลงมือทำ แต่สิ่งที่อันตรายคือ AI ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ยังกล่าวว่า แม้จะเป็นประเทศเล็ก แต่ก็มีจุดเด่นเรื่องผลิตภัณฑ์ออแกนิก สิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์ มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขและการศึกษาให้เด็กๆ เข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ก็ยอมรับว่าการขับเคลื่อนความสุขมวลรวมประชาชาติยังถือเป็นความท้าทายภายใต้ระบอบเศรษฐกิจทุนนิยม

การปาฐกถาพิเศษโดยนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏานครั้งนี้มีเนื้อหามุ่งส่งเสริมความเข้าใจว่าด้วยภาวะผู้นำในการรับมือกับความผันผวนในภูมิภาคเอเชียและระดับโลก การปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานของทั้งสองราชอาณาจักรผ่านมิติการศึกษาและการเผยแพร่ความรู้ โดยมีสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยราชการอื่น ๆ

การเยือนประเทศไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานพร้อมภริยาในครั้งนี้เป็นครั้งแรกภายหลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานเป็นครั้งที่ 2 โดยในปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 35 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรภูฏานซึ่งมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น โดยมีรากฐานมาจากสายสัมพันธ์อันดีระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศ การแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอในหลายระดับ และความเชื่อมโยงทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรม

ดาโช เชริง โตบเกย์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏานถึงสองวาระ วาระแรก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 – สิงหาคม 2561 และวาระที่สอง ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2567 เป็นต้นมา นอกเหนือจากงานด้านการเมืองแล้ว ดาโช เชริง โตบเกย์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัย Pittsburgh และปริญญาโทสาขาการบริหารรัฐกิจจากมหาวิทยาลัย Harvard  สหรัฐอเมริกา และเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม 

ดาโช เชริง โตบเกย์ ทุ่มเทในการพัฒนานโยบายและโครงการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างการศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพในภูฏาน โดยได้ก่อตั้งศูนย์เยาวชนแห่งแรกของภูฏานและจัดตั้งโครงการสวัสดิการบุคลากรทางการศึกษา อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยประชาชน (People’s Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแรกที่จดทะเบียนในภูฏาน และยังคงดำรงตำแหน่งประธานพรรคจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) และได้รับรางวัล German Sustainability Award ในปี 2559 และรางวัล Outstanding Leadership Award จากคณะกรรมการต้อนรับสำหรับผู้แทนสหประชาชาติในปี 2565

 

related