SHORT CUT
"เชียร์ยูโร เชียร์ยูโร เชียร์ยูโร เชียร์ยูโร" การใช้เพลงติดหูในโฆษณา ทำให้จดจำสินค้าได้มากกว่าการพูดธรรมดา ปีนี้พลพล กลับมาร้องเพลงโฆษณายูโรอีกครั้ง เสียงยังติดหูเหมือนเดิม
ช่วงนี้ หลายคนที่รอดูบอลยูโร 2024 ตอนกลางคืน ต้องคุ้นเคยกับเพลง "เชียร์ยูโร" ที่ฮิตติดหูสุด ซึ่งนักร้องเพลงก็ไม่ใช้ใครที่ไหน เพราะเป็นเสียงจากลูกคอ ของ ‘พลพล พลกองเส็ง’ หรือ ‘คุณพล’ นักร้องที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมากกว่า20 ปี
ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คุณพลได้มาร้องเพลงโฆษณายูโร เพราะในปี 2020 เขาก็ร้องเพลง "เชียร์ยูโร" จนกลายเป็นไวรัลในช่วงนั้นมาแล้ว และในปีนี้ผลงานของเขาก็ยังเป็น ปรากฏการณ์เพลงติดหูเช่นเดิม จนแฟนๆ บอล ไม่ว่าจะเชียร์ อังกฤษ อิตาลี สเปน เยอรมัน หรือชาติไหนก็ตาม ก็ต่างร้องท่อนฮุคของเพลงนี้ได้ และคงจดจำไปอีกเป็นปี
ส่วนเนื้อหาในเพลง แน่นอนก็ยังเหมือนกับครั้งที่แล้ว คือร้องเพลง เชียร์บอลยูโรควบคู่ไปกับการทำให้คนจดจำสิ้นค้า นั่นก็คือ รองเท้าแบรนด์ แอโร่ซอฟ (Aerosoft) เพราะการถ่ายทอดสดในปี 2024 นี้ ได้ นายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด ที่ผลิตแบรนด์รองเท้าดังกล่าว เป็นผู้ควักเงินก้อนโตซื้อลิขสิทธิ์มาให้คนไทยได้ชมกัน
หลังจากแฟนบอล ต้องฟังเพลงนี้ในทุกแมตช์ ต่างก็แสดงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า เพลงนี้ติดหู เอาออกจากหัวได้ยาก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการตลาด Music Marketing หรือ การใส่ดนตรีเข้าไปในการตลาด ซึ่งจะทำให้คนจดจำสินค้าของแบรนด์นั้นได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเน้นการขายเหมือนเวลาพูดอย่างเดียว
สาเหตุที่เป็นแบบนั้น ‘แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman)’ นักจิตวิทยาชื่อดังชาวอิสราเอล-อเมริกัน เคยยกทฤษฎี Mere Exposure Effect ซึ่งหมายถึง ภาวะที่เราคุ้นเคยต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งเกิดจากการสัมผัส ได้ยิน หรือได้เห็น ซึ่งหากเกิดการทำซ้ำเรื่อยๆ จะพัฒนาไปเป็นความปลอดภัย และการเปิดใจต่อสิ่งนั้น จนกลายเป็นการจดจำที่ไม่สามารถเอาออกจากหัวได้
ขณะที่ ‘ด็อกเตอร์ แบรดลีย์ ไวน์ส (Dr. Bradley Vines) ’ นักประสาทวิทยาชาวอเมริกัน ก็เคยกล่าวว่า ดนตรีที่มีจังหวะสนุก โดยเฉพาะเพลงป๊อป จะสามารถดึงดูดความสนใจมนุษย์ได้อย่างอัตโนมัติ และเพิ่มความจำได้ถึง 20 % ด้วย
ไม่ได้มีแค่แบรนด์ Aerosoft ที่ใช้เพลงให้คนจดจำ เพราะ แบรนด์ ไทยอื่นๆ ต่างก็ทำมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งเพลงติดหู ที่เพลงมาปุ๊บ ภาพสินค้าก็ตามมาปั๊บ มีคร่าวๆ ดังนี้
“แลตาซอยห้าบาท ร้อยยี่สิบห้ามิลลิลิตร
ปริมาณคับกล่อง เต็มที่ ดื่ม ได้ดื่มดี
ใครๆ ก็ชอบ ใครๆ ก็ชอบ ดื่มแลคตาซอย 5 บาท”
“กินอะไร กินอะไร กินอะไรไปกินเอ็มเค สดชื่นหัวใจ ถูกอนามัยหนักหนา
กินอะไร กินอะไร กินอะไรไปกินเอ็มเค เป็ดย่างหมูแดงติ่มซำ มากมายหลากหลาย
กินอะไร กินอะไร กินอะไรไปกินเอ็มเค ถูกใจทั้งบ้าน เบิกบานเมื่อมาได้กลิ่น
กินอะไร กินอะไร กินอะไรไปกินเอ็มเค อิ่มหนำสำราญ หนุกหนานเพื่อนกันช่วยกิน”
"ปู ปู ปู ปูไทย ตัวไม่ใหญ่ไม่โต อร่อยถูกหลักอนามัย ใครๆ ก็ชอบปูไทย
ปู ปู ปู ปูไทย รูปทรงกำลังพอดี อร่อยได้ทุกที่ กรอบดีถึงใจ
ปู ปู ปู ปูไทย อร่อยถึงใจ เด็กไทยทุกคน"
“(ใครๆ ก็ชอบปักกิ่ง) คึกคักคึกคักกับปักกิ่ง หวานหวานมันมัน
อารมณ์เดียวกัน กินได้ทุกวัน หวานมันเหลือเฟือ เอ่าเชื่อมั้ย (ปักกิ่ง)
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ กินไม่เคยเหลือ อร่อยเหลือเฟือ (ปักกิ่ง) ”
“กินสมาร์ท แล้วดียังไง สมองฉับไว หัวใจแข็งแรง
กินสมาร์ท แล้วดียังไง ขนสวยถูกใจ ขับถ่ายเป็นก้อน”
เชียร์ยูโร (แอโร่ซอฟ)
เชียร์ยูโร (แอโร่ซอฟ)
เชียร์ยูโร (แอโร่ซอฟ)
เชียร์ยูโร (แอโร่ซอฟ)
และนี่คือตัวอย่างคร่าวๆ ของเพลงโฆษณาไทยที่ติดหูคนฟัง บางเพลงแม้จะผ่านมาแล้ว 10 ปี คนก็ยังร้องได้ อย่างไรก็ตาม การตลาดแบบนี้ก็ถือว่ามีข้อเสียอยู่บ้าง เพราะการฟัง หรือเห็นอะไรซ้ำ ก็อาจทำให้คนเบื่อ และกลายเป็นเพลงติดหูที่คนพยายามจะลืม ดังนั้น วิธีแก้คงหนีไม่พ้น การปล่อยเพลงใหม่ พร้อมท่าเต้น หรือการแต่งตัวแบบใหม่ เพื่อให้คนดูเกิดความสนใจอีกครั้ง
ที่มา : Creativetalk / รองเท้าแบรนด์ แอโร่ซอฟ (Aerosoft) / Thai Pianist
ข่าวที่เกี่ยวข้อง