7 วันอันตรายสงกรานต์ 2567 เริ่มวันไหน? ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2567 รวมข้อปฏิบัติ ตั้งด่านตรวจ บังคับใช้กฎหมาย ภายใต้แนวคิด "ไม่ขับเร็ว - คาดเข็มขัดนิรภัย - สวมหมวกนิรภัย - ดื่มไม่ขับ - รักษาวินัยจราจร - ง่วงไม่ขับ - ไม่ขับย้อนศร"
เปิดแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 รวม 7 วัน ลดอุบัติเหตุ และประชาสัมพันธ์เรื่องความปลอดภัยในการเดินทางเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเฝ้าระวังถึงความปลอดภัยในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีการรณรงค์ "ไม่ขับเร็ว – คาดเข็มขัดนิรภัย – สวมหมวกนิรภัย – ดื่มไม่ขับ – รักษาวินัยจราจร – ง่วงไม่ขับ – ไม่ขับย้อนศร"
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะยกเว้นเก็บค่าผ่านทางทางพิเศษ (ทางด่วน) 5 เส้นทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษศรีรัช อุดรรัถยา และเฉลิมมหานคร รวม 3 เส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 เวลา 00.01 น. – 15 เมษายน 2567 เวลา 24.00 น. รวมระยะเวลา 3 วัน ซึ่งเป็นการยกเว้นจัดเก็บค่าผ่านทางตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ส่วนอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษบูรพาวิถี และกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) นั้น กทพ. จะเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติเห็นชอบยกเว้นค่าผ่านทาง รวมระยะเวลา 7 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2567 เวลา 00.01 น. – 17 เมษายน 2567 เวลา 24.00 น.
ด้าน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( รอง ผบ.ตร. รรท. ผบ.ตร. ) สั่งการตำรวจทั่วประเทศเร่งกวดขัดปราบปรามอาชญากรรม สิ่งผิดกฎหมาย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล , ตำรวจภูธรภาค 1-9 , กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด , กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมพื้นที่จัดกิจกรรมสงกรานต์ และระดมกวาดล้างอาชญากรรมทุกประเภท ทั้งอาชญากรรมทั่วไป และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ช่วงก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 1-10 เมษายน 2567
"ฝากบ้านกับตำรวจ" โครงการร่วมใจ ยกระดับความปลอดภัยบ้านประชาชนช่วงเทศกาลสำคัญ ( ฝากบ้าน 4.0 )” ระหว่างวันที่ 11 - 21 เมษายน 2567 รวมระยะเวลา 11 วัน โดยให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชัน “OBS” หรือที่สถานีตำรวจ และให้หน่วยดำเนินการคืนบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้เรียบร้อยภายในวันที่ 22 เมษายน 2567
นอกจากนี้ มาตรการป้องกันเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ กำหนดแผนเผชิญเหตุ หรือมาตรการในการป้องกันการฉวยโอกาสของผู้ไม่หวังดี หรือผู้เสียผลประโยชน์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจรักษาความปลอดภัยสถานที่เชิงสัญลักษณ์ สถานที่ราชการ สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม และสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ เป็นต้น
นอกจากนี้ ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ทุกมิติ และให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ โรงพยาบาลตำรวจ และกองบินตำรวจ จัดเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์ ให้สามารถสนับสนุนการปฏิบัติโดยเร็วที่สุดเมื่อเกิดเหตุ