SHORT CUT
รู้จัก "กระดาษเมา LSD" ยาเสพติดอันตราย เสพในระยะแรก มีความสุข อารมณ์ดี คึกคัก แต่หลังจากนั้นออกฤทธิ์หลอนประสาทรุนแรง อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
จากกรณีที่มีการจับกุมชายชาวต่างชาติ อายุ 36 ปี เร่ขายยาอีและกระดาษเมาตามสถานบันเทิง จนถูกตำรวจ สภ.เกาะเต่า อำเภอเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จับไว้ได้ แม้กระดาษเมาในประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักแต่ก็เป็นสิ่งผิดกฏหมายที่ควรระวัง วันนี้ SPRiNG จะพาไปรู้จักกระดาษเมาและฤทธิ์ของมันว่ามีอันตรายต่อผู้เสพขนาดไหน
ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 1960-1970 LSD ดีเป็นที่นิยมเสพกันมาก โดยเฉพาะกลุ่ม “ฮิปปี้” ไม่เว้นแม่แต่ศิลปิน นักประพันธ์ และนักดนตรี ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ายาเสพติดจะพาพวกเขาไปสู่ความอิสระเสรีภาพในจินตนาการ หลีกหนีความเลวร้ายของโลก ปล่อยวางจากความจริง บังเกิดเป็นผลงานใหม่ ๆ
สำหรับประเทศไทย LSD แอลเอสดี ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท ผู้เสพต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 – 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
LSD เป็นวัตถุที่มีฤทธิ์หลอนประสาทอย่างแรง ผู้เสพจะมีการรับรู้และอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฤทธิ์ ของ LSD
ผู้ที่เสพในระยะแรก ๆ จะมีความสุข อารมณ์ดี รู้สึกคึกคัก แต่หลังจากนั้นจะเกิดอาการประสาทหลอนอย่างรุนแรง มีอาการหวาดกลัว จนกระทั่งอาจทำร้ายตนเอง หรือนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยที่ผู้นั้นไม่สามารถยับยั้งตนเองได้
การเสพ LSD มักเสพโดยการรับประทานสูดดม เคี้ยว หรืออม มีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ เม็ดกลมแบน แคปซูล แผ่นเจล (gelatin sheets) ของเหลวบรรจุในหลอดแก้ว ส่วนใหญ่ที่พบจะนำเอา LSD ไปหยดลงบนกระดาษสี่เหลี่ยม ที่มีคุณสมบัติดูดซับ เรียกว่า blotter paper ที่มีลวดลายและสีสันต่างๆ แล้วแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ คล้ายสแตมป์ นิยมเรียกกันในหมู่ผู้เสพว่า สแตมป์เมา กระดาษเมา (magic paper) จะออกฤทธิ์ภายใน 30 – 90 นาที และมีฤทธิ์อยู่ได้นาน 8 – 12 ชั่วโมง ผู้ที่เสพจะมีอาการประสาทหลอนเห็นภาพเหตุการณ์ หรือประสบการณ์ในอดีต (flashbacks) ผู้ที่เสพ LSD ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคจิต (psychosis) ได้
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เผยว่า การเสพสารแอลเอสดีจะทำให้ผู้เสพมีปัญหาด้านการรับรู้ การคิดและการตัดสินใจ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น เช่น การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การทำร้ายตนเองและผู้อื่น หากมีการเสพเกินขนาดยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางจิตเรื้อรัง เช่น โรคจิตเภท หรือโรคซึมเศร้า เกิดอาการหวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน แม้จะหยุดใช้ยาแล้ว แต่อาการโรคจิตอาจเป็นซ้ำได้อีก การรักษาอาการดังกล่าวทำได้ยากและอาจต้องใช้เวลานานเพื่อให้อาการทุเลาลง
ทั้งนี้ฝากย้ำเตือนกลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวที่นิยมทดลองสารเสพติดแปลกใหม่ ให้ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองให้มาก และพึงระลึกไว้เสมอว่าการใช้ยาเสพติดทุกชนิดมีความอันตราย ส่งผลต่อร่างกายของผู้เสพ เป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงและอาชญากรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาสุราและยาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
ข้อมูลจาก : อย. - สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยาบ้ากี่เม็ดคือผู้เสพ? เปิดกฎยาเสพติดใหม่ เทียบกฎฯ 3 ยุคปราบยาเสพติด
วันวาเลนไทน์ ระวังยาเสียสาว เลี่ยงกินของจากคนแปลกหน้า เช็กอาการที่ต้องรู้